คงกฤช ไตรยวงค์ / ปรัชญาของไม้ใกล้ฝั่ง : ผู้สูงอายุกับการเมืองในสังคมประชาธิปไตย

วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันผู้สูงอายุสากล ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเหงา หรืออยู่โดดเดี่ยวตามลำพังในบ้าน หรือบ้านพักคนชรา หรือเข้าวัดเข้าวาอย่างเดียว

ที่จริงควรกล่าวว่า ผู้สูงอายุก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจสาธารณะได้ ไม่ใช่แต่เพียงเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่เท่านั้น

พูดให้ถึงที่สุด ในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่หลากหลายนั้น ประชาชนมีมากหน้าหลายตา หลากอาชีพ ล้วนแล้วแต่พึงมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น

การอ้างว่าประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่เหมาะกับยุคสมัยกว่าคนรุ่นเก่าหรือผู้สูงอายุนั้น ดูจะเป็นข้ออ้างที่กล่าวเกินเลยไปมาก

ยิ่งสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือนโยบายเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แต่ดูเหมือนสิ่งที่พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ทำก็คือ การชูคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ

ซึ่งไม่ผิดอะไร แต่ก็ไม่ครอบคลุมคนกลุ่มอื่นๆ อย่างเพียงพอ

 

บ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้สูงอายุมีความคิดใหม่ๆ และยังคง “ทำงาน” อยู่ สิ่งที่ดูจะยืนยันข้อสังเกตข้างต้นคือ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งรวบรวมเอาผลงานของศิลปินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้จำนวนมาก

ผู้เขียนได้พบกับสุภาพสตรีสูงอายุที่เป็นภัณฑารักษ์

หลังจากได้สนทนาสักพักก็ทำให้ตระหนักว่าเธอรอบรู้และสามารถแนะนำเกี่ยวกับห้องแสดงงานที่เธอดูแลอยู่ได้เป็นอย่างดี

หลังจากเดินเตร็ดเตร่อยู่สามสี่วันก็พบว่า สิงคโปร์เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

ในด้านหนึ่ง ดร.แมตธิว แมตธิวส์ แห่งสถาบันนโยบายศึกษา (Institute of Policies Studies) ว่า ผู้สูงอายุในสิงคโปร์ยังคงทำงานอย่างแข็งขัน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสังคมผู้สูงอายุอาจจะไม่นับเป็นวิกฤตเสมอไป

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้สูงอายุในสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยก็เป็นคนยากไร้

ดังในบทความในบล๊อกของ Jeraldine Phneah ที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้อย่างแหลมคม

 

ย้อนไปถึงยุคเรอเนสซองส์ นักปรัชญาฝรั่งเศสอย่างมิแชล เดอ มงตาญ เห็นว่า ผู้เฒ่าควรอยู่ตามลำพังหลังจากวัยหนุ่มได้ทำเพื่อคนอื่นมามาก และควรให้เวลาว่างกับตัวเอง ไม่ใช่เกียรติยศชื่อเสียง

หากเป็นจริงที่ว่านักปราชญ์ผู้อาวุโสพึงแสวงหาความสันโดษในบั้นปลายชีวิต

สิ่งที่จริงไม่น้อยกว่ากันคือหากผู้สูงอายุผู้กอปรด้วยประสบการณ์ชีวิตและการงานจะเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมการเมือง

ดังที่ฟรานเซสโก กุชชาร์ดินี นักคิดในยุคเรอเนสซองส์กล่าวไว้ว่า

“โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าหาได้มีความพึงพอใจใดเสมอเหมือนการได้สดับตรับฟังผู้อาวุโสที่เปี่ยมด้วยความสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่งออกมากล่าวถึงเรื่องกิจสาธารณะและการบ้านการเมือง ที่ท่านหาได้เรียนเอาจากหนังสือของประดานักปรัชญาทั้งหลาย หากแต่เรียนรู้จากประสบการณ์และการกระทำ”

อาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาของไม้ใกล้ฝั่งก็สามารถชิ้ทิศทางให้กับกิจสาธารณะได้ มิใช่แต่เพียงการอยู่ลำพัง วิภาษวิธีระหว่างการอยู่ลำพังกับการครุ่นคิดพิจารณากับการเข้ามาใส่ใจกับกิจการบ้านเมืองน่าจะไม่ใช่สองสิ่งที่แยกขาดจากกันได้

ข้อคิดของมัตเตโอ พาลมิเอริ ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของยุคเรอเนสซองส์อีกคนหนึ่งน่าจะเป็นเสียงอีกด้านเกี่ยวกับกิจสาธารณะ หรือประเด็นทางสังคมการเมือง

ดังที่เขากล่าวว่า

“ผู้ที่ไม่มีจะให้ไม่อาจเป็นคนเอื้อเฟื้อได้ คนรักสันโดษไม่อาจเที่ยงธรรม เข้มแข็ง หรือมีประสบการณ์ในสิ่งต่างๆ ทั้งหลายอันจำเป็นในรัฐบาล และในกิจแห่งผองชนคนส่วนใหญ่ได้”

สิ่งที่ผู้อาวุโสจะให้ได้ในเรื่องกิจสาธารณะอาจจะเป็นพลังทางปัญญาความคิดที่สั่งสมจากประสบการณ์ของตนนั่นเอง

 

ย้อนกลับมามองปัจจุบัน ประเด็นที่ว่าผู้สูงอายุพึงปลีกวิเวกแสวงหาความสงบในบั้นปลายหรือเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจสาธารณะนั้น บทความ “Change the world, not yourself, or how Arendt called out Thoreau” ของ Katie Fitzpatrick น่าจะให้ข้อพิจารณาบางประการแก่เราได้

เราพอทราบกันดีเกี่ยวกับงานของเฮนรี เดวิด ธอโร ผ่านงานแปลบางชิ้น โดยเฉพาะวอลเดน และ On the Duty of Civil Disobedience (ว่าด้วยหน้าที่ของการต้านอำนาจรัฐ) (1849) แนวคิดของธอโรพูดถึงการทำ “อารยะขัดขืน” เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องการค้าทาส เรื่องสงครามระหว่างอเมริกากับเม็กซิกัน

เขาจึงไม่ยอมจ่ายภาษี ไม่สนับสนุนนโยบายที่ไม่เป็นธรรม

ทำให้เขาต้องติดคุกและเพื่อนๆ ต้องไปประกันตัว

ชีวิตของธอโรในวอลเดน เรียกว่าเป็นความสันโดษ แนวความคิดของธอโรได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตอลสตอย คานธี และมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์

อย่างไรก็ตาม ในปี 1970 ฮานห์นา อาเรนต์ เขียนงานที่ชื่อว่า “Civil Disobedience” (การต้านอำนาจรัฐ) ตีพิมพ์ใน The New Yorker ในปี 1970

สิ่งที่ธอโรเน้นในวอลเดน คือการเดินตามมโนสำนึกของปัจเจกบุคคล หรืออัจฉริยภาพของแต่ละคนแทนที่จะเป็นกรอบของสังคม

ธอโรเห็นว่าคนเราไม่ควรที่จะเดินตามกฎหมายมากไปกว่ามโนสำนึก

แม้แต่กฎหมายเลือกตั้งก็ตาม เพราะเท่ากับลดทอนคุณค่าของมโนสำนึก

อาเรนต์เห็นว่าข้อเสนอของธอโรอาจจะหลงทางไป การที่จัดวางประเด็นทางการเมืองในกรอบของมโนสำนึกซึ่งเป็นเรื่องอัตวิสัยหรือเรื่องส่วนตัวทำให้ไขว้เขว

คนที่คิดเห็นตรงกันข้ามทางการเมืองก็สามารถอ้างมโนสำนึกได้เช่นกัน

อย่างเช่นพวกฝ่ายซ้ายในอเมริกาที่ต่อต้านการที่หน่วยงานช่วยเหลือผู้อพยพของอเมริกาก็มาจากมโนสำนึก

พวกอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการแต่งงานของ LGBT ก็มาจากมโนสำนึก

ในการเมืองไทยข้ออ้างหลายอย่างก็ดูจะมาจากมโนสำนึกเช่นกัน อย่างเช่นการขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ข้อวิจารณ์อีกประการหนึ่งที่หนักกว่า อาเรนต์มองว่ามโนสำนึกไม่ใช่เรื่องของการเมือง เพราะเป็นการพยายามทำให้ตัวเองบริสุทธิ์ ไม่ใช่การเมืองที่มุ่งเน้นการกระทำร่วมกัน

แต่กระนั้น แม้อาเรนต์จะมองว่ามโนสำนึกไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะมองมโนสำนึกว่าไร้ประโยชน์

แน่นอนว่ามโนสำนึกเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมกับความอยุติธรรมอย่างลัทธิฟาสซิสต์ หรือการสังหารหมู่

มโนสำนึกอาจบอกว่า “เราไม่ควรทำอะไร” แต่มโนสำนึกยังไม่ได้บอกว่า “เราควรจะทำอะไร” ใช่หรือไม่ที่ผู้สูงอายุอาจจะไม่จำเป็นต้องเดินตามคำชี้แนะของมงตาญที่ให้ผู้ชราแสวงหาความสันโดษเสมอไป

อาเรนต์อาจจะไม่ได้พูดถึงบทบาทของผู้สูงอายุโดยตรง แต่ข้อเสนอของเธอน่าจะช่วยให้ได้ตระหนักถึงบทบาทของผู้สูงอายุในกิจสาธารณะได้เช่นกัน

 

ถ้าหากเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาแล้ว ในบทบรรยายของพุทธทาสภิกขุพูดเรื่องความวิเวก อันหมายถึงการปลีกตัวออกมาอยู่อย่างสงบ การปล่อยวางสิ่งต่างๆ เพื่อจะได้มีความวิเวกทางใจ

คำถามคือ ใช่หรือไม่ที่คำสอนเช่นนี้ก็คือการมุ่งเน้นความบริสุทธิ์ของตัวเอง แล้วเหมาเอาว่าเมื่อเรามีสภาวะจิตที่ดีแล้วการกระทำร่วมในทางสังคมการเมืองจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ

ผู้เขียนไม่มีคำตอบแน่ชัดเรื่องนี้ เพียงยกขึ้นมาชวนพูดคุยกันว่า พุทธศาสนาแบบไทยๆ อาจจะให้ที่ทางน้อยเกินไปกับความผิดรับชอบในกิจสาธารณะ

ถึงที่สุดแล้ว ผู้สูงอายุ หรือผู้อาวุโส อาจจะต้องการความสันโดษ เพื่อครุ่นคิดหรือสงบพัก จริงอยู่ การปลีกวิเวกในศาสนสถานอาจจะเป็นหนึ่งกิจที่ผู้เฒ่ากระทำ

แต่กระนั้นผู้สูงอายุก็ยังมีบทบาทในกิจสาธารณะหรือการเมืองได้ อาจจะไม่ใช่มีดโดนอาบน้ำผึ้ง ศิลปินแห่งชาติ ปัญญาชนสาธารณะ หรือราษฎรอาวุโส ไม้เท้าที่ชี้ไปข้างหน้าเพื่อบอกว่า “เราควรจะทำอะไร” อาจจะมาจากสุภาพสตรีสูงอายุที่เป็นภัณฑารักษ์ก็ได้

หรือว่าที่จริง ไม้เท้าของผู้ชราอาจจะมีส่วนร่วมทำหน้าที่แผ้วทางเพื่อมุ่งไปข้างหน้าก็เป็นได้

ขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสก็มีจำนวนไม่น้อย

คำถามก็คือ อนาคตใหม่ของการเมืองไทยจะเพิกเฉยต่อผู้สูงอายุได้ละหรือ?

————————————————————————————————————
อ้างอิง
– Katie Fitzpatrick. “Change the world, not yourself, or how Arendt called out Thoreau” https://aeon.co/ideas/change-the-world-not-yourself-or-how-arendt-called-out-thoreau

– Jeraldine Phneah. “Why Are There So Many Poor Elderly In Singapore?” http://www.jeraldinephneah.com/singapore-elderly-population-poor/

– Lars Svendsen. (2017). A Philosophy of Loneliness. London : Reaktion Books.