กลับสู่ยุคสงครามเย็น! นโยบายนิวเคลียร์ของทรัมป์/สุรชาติ บำรุงสุข

กลับสู่ยุคสงครามเย็น!

นโยบายนิวเคลียร์ของทรัมป์
สุรชาติ บำรุงสุข

ข่าวต่างประเทศในขณะนี้ที่กำลังส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์โลกในอนาคตก็คือ การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่ประกาศการถอนตัวออกจากความตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรประหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตที่ทำขึ้นในปี 2530 หรือที่เรียกชื่อทางการว่า”ความตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง”(The Intermediate-range Nuclear Forces Treaty, 1987 หรือความตกลง INF)

อาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นจากการลงนามของอดีตประธานาธิบดีโรนัล รีแกน และประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ที่ต้องการลดความตึงเครียดของสถานการณ์การเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรประหว่างมหาอำนาจทั้งสอง อันจะเป็นเงื่อนปมของการหลีกเลี่ยงสงครามใหญ่ในพื้นที่นี้ และการเผชิญหน้าเช่นนี้เป็นความกังวลใหญ่ของผู้นำตะวันตกมาตลอด เพราะอย่างน้อยประสบการณ์ในอดีตชี้ให้เห็นว่า สงครามโลกทั้งสองครั้งล้วนเกิดจากปัญหาความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจในยุโรปโดยตรง
การเผชิญหน้าในยุคสงครามเย็นก็เกิดขึ้นในยุทธบริเวณของยุโรปเช่นกันด้วย และหากต้องลดระดับการเผชิญหน้าดังกล่าวแล้ว ทางออกในเบื้องต้นก็คือ การเจรจาที่จะนำไปสู่การควบคุมอาวุธ และหวังว่าการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหลักการพื้นฐานที่ลดทอนเงื่อนไขสงคราม และในอีกด้านหนึ่ง ผลจากความกังวลของผู้คนในสังคมต่อสถานการณ์สงครามนิวเคลียร์ ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรป และได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากเข้าร่วม.. ภาพของการทำลายในสงครามโลกยังอยู่ในความทรงจำของชาวยุโรปไม่เปลี่ยนแปลง
พวกเขาตระหนักดีว่า หากสงครามเกิดขึ้นจริง สงครามนี้จะรบในภาคพื้นของยุโรปโดยตรง และอำนาจการทำลายของอาวุธนิวเคลียร์ จะทำลายยุโรปจนสิ้นสภาพ โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงว่า สงครามนี้จะเป็นสงครามนิวเคลียร์ทั่วไป(general nuclear war) หรือสงครามนิวเคลียร์จำกัด(limited nuclear war) และอย่างน้อยก็เห็นผลของสงครามได้ชัดจากอดีตการโจมตีฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 2488 แม้ในขณะนั้นอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่พัฒนามากเช่นในยุคสงครามเย็น
นอกจากนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่า ผลจากการเผชิญหน้าดังกล่าว ทำให้ยุโรปเป็นพื้นที่สำคัญของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และรวมถึงการสะสมอาวุธของสงครามตามแบบด้วย ในสภาพเช่นนี้ประชาชนในยุโรปก็ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวมหันตภัยสงครามนิวเคลียร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นความตกลงระหว่างสหรัฐกับโซเวียตในกรณีนี้จึงได้รับการชื่นชมจากผู้คนในสังคมยุโรปอย่างมาก และถือว่าเป็นความตกลงในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่สำคัญของยุคสงครามเย็น ความตกลงดังกล่าวจึงเป็นดังการพายุโรปออกจาก”ร่มเงาดอกเห็ด”ของอาวุธนิวเคลียร์
ความตกลงในปี 2530 นี้ ได้ห้ามการมีอาวุธนิวเคลียร์จากฐานยิงภาคพื้นดินที่มีพิสัย 500 ถึง 5,500 กิโลเมตร เข้าประจำการในยุทธบริเวณยุโรป ส่งผลให้ขีปนาวุธพิสัยกลางแบบเปอร์ชิง(MGM-31 Pershing) และอาวุธปล่อยครุยส์ (cruise missiles) ของสหรัฐ และขีปนาวุธพิสัยกลางแบบเอสเอส-20(SS-20 Saber) ของโซเวียต ต้องยุติการประจำการในยุโรป ความตกลงดังกล่าวทำให้ สหรัฐและโซเวียตต้องทำลายขีปนาวุธทั้งพิสัยกลางและพิสัยใกล้เป็นจำนวนราว 2700 ลูก ความตกลงเช่นนี้จึงเป็นหนึ่งในสัญญาณเริ่มต้นของการเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับโซเวียต จนนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 2532-33

เดินหน้าสู่การแข่งขันสะสมอาวุธครั้งใหม่

หลังจากการขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของทรัมป์แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าทำเนียบขาวในปัจจุบันมีทัศนะแบบ”สายเหยี่ยว” ที่มองความตกลงในการควบคุมอาวุธว่า เป็นพันธนาการที่ทำให้สหรัฐไม่สามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้กับการขยายขีดความสามารถทางทหารทั้งของรัสเซียและของจีนในปัจจุบัน ทัศนะเช่นนี้เห็นได้ชัดจากนายจอห์น โบลตัน(John Bolton) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี ที่ต่อต้านการทำความตกลงเรื่องการควบคุมอาวุธมาอย่างยาวนาน และเชื่อกันว่าเขามีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้วอชิงตันถอนตัวจากความตกลงดังกล่าว
สายเหยี่ยวในวอชิงตันมีทัศนะว่า ในขณะที่สหรัฐยอมรับข้อตกลงในการควบคุมอาวุธ รัสเซียกลับนำอาวุธปล่อยครุยส์แบบใหม่เข้าประจำการ(ขีปนาวุธแบบ Novator SSC-X-8) พวกเขามองว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้”สมดุลแห่งกำลัง”อยู่ในสภาพที่รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบ และเช่นเดียวกันการปิดโอกาสการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง อาจทำให้สหรัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบจีนในแปซิฟิก เพราะจีนได้หันไปพัฒนาอาวุธเช่นนี้มากขึ้น จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อฐานทัพสหรัฐ เส้นทางการเดินเรือ และชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐในเอเชีย ความตกลงในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์จึงถูกมองว่าเป็นการ”มัดมือ”สหรัฐ และเปิดโอกาสให้จีนและรัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบ
นอกจากนี้กลุ่มที่มีอิทธิพลในนโยบายความมั่นคงของสหรัฐยังมีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับ”ความตกลงใหม่ในการลดอาวุธทางยุทธศาสตร์”(The New START Agreement, 2010) ที่กำหนดจำนวนของหัวรบที่เข้าประจำการของแต่ละฝ่ายไว้ที่ 1,500 หัวรบ ความตกลงนี้ทำขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีโอบามาในปี 2553 และจะหมดอายุในปี 2563 และเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่กลุ่มนี้ต้องการให้สหรัฐยุติการทำข้อตกลงดังกล่าว หรืออาจกล่าวในทางยุทธศาสตร์ได้ว่า สายเหยี่ยวต้องการให้สหรัฐหันกลับมาต่อสู้ด้วยการ”สะสมอาวุธ”ไม่ใช่ด้วยการ”ควบคุมอาวุธ”

นัยต่ออนาคตโลก

หากเกิดการการถอนตัวของสหรัฐออกจากความตกลงทั้งสองแล้ว ก็จะเป็นสัญญาณโดยตรงถึงการกลับสู่”ยุคแห่งการสะสมอาวุธนิวเคลียร์” เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสงครามเย็น และโลกจะเดินสู่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่มีขีดจำกัด และด้วยพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทหารในหลายประเภท พัฒนาการของอำนาจการทำลายของระบบอาวุธในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นไปในแบบไร้ขีดจำกัด
ในอีกด้านหนึ่งดูจะกลายเป็นเรื่อง”ตลกร้าย”ในการเมืองระหว่างประเทศที่ สหรัฐพยายามขัดขวางการมีอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ ด้วยเหตุผลของ”สันติภาพและเสถียรภาพ”ของโลก เพราะในความเป็นจริงแล้ว รัฐมหาอำนาจใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ รัสเซีย และจีน ล้วนต่างเดินหน้าสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น
ฉะนั้นการตัดสินใจของทำเนียบขาววันนี้คือ การบ่งบอกว่าความสำเร็จของการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่มาพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามเย็นนั้น กำลังสิ้นสุดลง และกำลังเกิด”วิกฤตใหม่”ที่กำลังพาโลกกลับสู่ยุคแห่งการสะสมอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง… แม้ว่ารัสเซียอาจจะละเมิดความตกลง แต่ทรัมป์กำลัง”ฉีก”ความตกลงในการควบคุมอาวุธ!