“ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง” เลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย จากทนายความคู่บุญ “สุเทพ” สู่ “พ่อบ้าน รปช.”

“ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง” เลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) คือผู้อยู่ “เบื้องหลัง” ความเป็นความตายของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลายครั้งหลายครา

เขาเคยเป็น “ทนายความ” ในคดียุบพรรค ปชป.-พรรคไทยรักไทย (ทรท.) และคดีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 รวมถึงคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มีนายสุเทพ-รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “ทวีศักดิ์” ต้อง “เดิมพัน” วิชาชีพทนายความไว้กับคดีชุมนุมขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” – Shut down กรุงเทพ ฯ ที่มี “สุเทพ” เป็น “จำเลยที่ 1” และ “แกนนำ กปปส.” กว่าสิบชีวิต รวม 8 ข้อหา “ข้อหาหนัก” คือ ก่อการร้าย-กบฏ

การเดิมพันครั้งนี้เขาต้องสวมหมวกถึง 2 ใบคือ หมวก “ทนายความคู่ใจ” ของนายสุเทพในคดีอุกฉกรรจ์ และหมวก “พ่อบ้าน” พรรค รปช. ที่มี “สุเทพ” เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง-แกนกลางในฐานะ “ผู้ก่อตั้ง”

“ผมรู้สึกหนักใจมาก ได้บอกกับทีมกฎหมายทั้งหมดว่า ถ้ามีใครช่วยรับภาระตรงนี้ไปบ้าง อยากให้เป็นคนนั้นไปเลย เพราะผมยังมีงานคดีที่ต้องใช้สมองอยู่พอสมควร”

“คดีของผมอื่นๆ ก็เช่นกัน ผมพยายามบอกกับลูกความว่า ถ้าเผื่อไม่สบายใจ อาจจะเปลี่ยนทนายก็ได้ หรือถ้ายังมั่นใจว่ายังดูแลได้อยู่ ผมก็ให้ความมั่นใจเขาว่าผมจะไม่ทอดทิ้ง”

“ถ้ามันจะต้องไปถึงจุดหนึ่ง เกิดจำเป็นต้องใช้เวลากับพรรคมากจริงๆ ผมก็จำเป็นต้องแก้ไขปัญหา หาคนเป็นแทนในหน้าที่ทนายความให้ลูกความได้อุ่นใจ”

ปัจจุบัน “ทวีศักดิ์” ยังเป็นทนายความหุ้นส่วน (Senior Partner) บริษัท สำนักงานกฎหมายคะนึง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด

จาก “ทนายความคู่บุญ” นายสุเทพ-ประชาธิปัตย์ เขาเล่า “จุดหักเห” ของชีวิต และ “ทางเบี่ยง” เส้นทาง “วิชาชีพทนายความ” เกือบครึ่ง-ค่อนชีวิตเพื่อลงสู่เลน-ลู่การเมืองในบทบาท “พ่อบ้าน รปช.”

“บทบาทในวิชาชีพกฎหมายที่ผ่านมา ไม่นึกว่าตัวเองในอายุ 70 ปลายๆ จะต้องมาทำพรรคการเมือง ก่อนหน้านี้เป็นแต่เพียงผู้สนับสนุนพรรคที่ชอบมาโดยลำดับ มีพี่น้อง เพื่อนพ้องนับถือกันในพรรค แต่ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง”

“พยายามทำหน้าที่ตัวเองในฐานะมืออาชีพในทางกฎหมาย จนจับพลัดจับผลูเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายช่วยคดียุบ ปชป. และยุบ ทรท. ก่อนหน้านั้นเข้าไปช่วยในสำนักกฎหมายเสนีย์ ปราโมช ที่มีท่านบัณฑิต ศิริพันธุ์ เป็นทนายความคนสำคัญ”

“ส่วนตัวผมกับกำนันสุเทพพิเศษหน่อยตรงที่ท่านมีคดีส่วนตัวตั้งแต่คดี ส.ป.ก.4-01 คดีสลายการชุมนุมปี 2553 ล่าสุดคดีชุมนุมปี 2556-2557 จะเรียกว่าเป็นทนายส่วนตัวเลยเสียทีเดียวก็ไม่ใช่ เพราะทำงานเป็นทีมและทำคดีกับลูกความหลายคน”

ด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนายสุเทพมาเนิ่นนานในฐานะ “ทนายความส่วนตัว” ที่เขาไม่ค่อยเห็นด้วยกับ “นิกเนม” นี้มากนัก แต่ด้วยความรู้จักมักคุ้นกับนายสุเทพ ผู้ที่เป็น “เพลย์เมกเกอร์” ในสนามการเมือง-ประชาธิปัตย์ จึงได้พูดคุยกันเรื่องบ้านเมืองอยู่บ่อยครั้ง

ประกอบกับช่วงการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ที่มี “สุเทพ” เป็น “หัวหน้าม็อบ” คนสำคัญ ทำให้เขาได้พบกับคนที่มีบทบาทในอดีตกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-เคลื่อนไหวในกระบวนการ กปปส. หลายคน อาทิ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสุริยะใส กตะศิลา จนนับถือกันเสมือนเพื่อนพ้อง-น้องพี่

“วันหนึ่ง คุยกันไปคุยกันมา เอ๊ะ คงต้องเอาแล้วมั้ง เรื่องตั้งพรรค คุยกันอยู่นาน จนกระทั่งตกผลึกว่า ควรเริ่มกันเสียที พอมีกำนันสุเทพเข้ามาคุยด้วย…”

“ถ้าจะพูดกันแบบนี้แล้ว ถ้าจะเอาก็ต้องเอากันจริงนะ อย่ามาพูดแล้วเลิกกันนะ เอาจริงไหม ถ้าเอาจริงผมจะช่วย” เขาทวนคำพูดนายสุเทพในวันนั้นด้วยน้ำเสียงจริงจัง-สไตล์ลุงกำนันสุเทพ

บทบาทในแวดวงกฎหมายเกือบทั้งวงจรชีวิต เขาไม่คาดคิด-คาดฝันว่าวันนี้จะมายืนอยู่ “เบื้องหน้า” ในฐานะเลขาธิการพรรค รปช. ที่ดูเหมือนว่าจะเป็น “โคลนนิ่ง” ของนายสุเทพ

ยิ่ง “ผู้ให้กำเนิด” ที่มีอายุกว่า 94 ปี เร่งรัดให้ “หันหลัง” ให้กับเส้นทางอาชีพทนายความที่เขายึดเป็นวิชาชีพเกือบทั้งชีวิตเพื่อเข้าสู่ “เส้นทางธรรม” ในบั้นปลายของชีวิต

“ผมปฏิบัติธรรมที่วัดป่าทางอีสานบ่อย คุณแม่บอกให้เวลากับตัวเองบ้าง ปฏิบัติธรรมบ้าง แต่พอรู้ว่าจะมาตั้งพรรค ท่านเลยบอกว่า ถ้าจะเผื่อเวลาไปทำงานให้ส่วนรวมบ้างก็ตามใจ อย่างน้อยไปริเริ่มไว้ ถ้าไม่ไหวก็ส่งต่อให้คนหนุ่มสาว”

อย่างไรก็ตาม “ทวีศักดิ์” มีความสนใจทางการเมืองมาตลอดตั้งแต่ช่วงวัยคนหนุ่ม-สาวทั้งในช่วงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ต่างประเทศ ที่เขาบอกว่า “สุมหัวกัน” ต่อต้านเผด็จการในยุค 14 ตุลาคม 2516

ทว่าเขาก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะมีบทบาทในการบริหารจัดการในฐานะ “ผู้จัดการพรรค”

“ด้วยไฟของคนหนุ่มคนสาวสมัยนั้น ประเทศชาติเป็นอย่างนี้รับไม่ได้ เรียกร้องต้องการ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ประชาชาติรายวัน สังคมศาสตร์ปริทรรศน์บ้าง”

“คนมีชื่อเสียงในสมัยนั้นที่ทำร่วมกัน เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ปราโมช นาครทรรพ จนมาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะสมาชิกของพรรคพลังใหม่ในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นแกนหลัก”

บทบาท “พ่อบ้าน รปช.” ในคณะกรรมการบริหารพรรค (ชุดชั่วคราว) เขามีภาระ-หน้าที่ที่ต้อง “ทำคลอด” พรรคให้ลืมตาออกมาดูโลกการเมืองให้ได้

“ความจริงผมปฏิเสธตำแหน่งภายในพรรคหลายรอบ แต่เพื่อนพ้องขอร้องให้รับก่อน เพราะความเป็นนักกฎหมายมีขั้นตอนต้องดำเนินการหลายเรื่องกับ กกต. ประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.พรรคการเมือง กฎเกณฑ์ ประกาศของ กกต. และคำสั่ง คสช. (เน้นเสียง) มีหลายอย่างต้องระมัดระวัง ผลีผลามไป ดีไม่ดีเหยียบกับระเบิด พรรคไม่ทันเกิด”

ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยขอคำปรึกษา “ลุงกำนัน” ในฐานะอดีตเลขาธิการ ปชป.-ผู้จัดการรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่นายสุเทพก็เคยสวมบทโค้ช-แนะนำเกมการเมืองหน้าใหม่

“แกก็บอกผมว่า อาจารย์ พรรคเราไม่ต้องทำอย่างผมหรอก พรรค รปช.ไม่เอาอย่างนั้น พูดง่ายๆ พรรคเราไม่ได้เน้นนักเลือกตั้ง แต่ต้องการสร้างคนใหม่ๆ”

“ผมคิดว่าคนละแบบ ท่านสุเทพก็เคยบอกผม การบริหารพรรคการเมืองแบบเดิมๆ ที่ท่านทำมา สมัยก่อนเสธ.หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) คุณประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ หรือเลขาฯ ของพรรคอื่นๆ มันต้องออกไปชนข้างนอกเยอะหน่อย ในพรรคก็ต้องเป็นผู้มีบารมีมากหน่อย พอถึงเวลา ถ้าเป็นพรรคใหญ่มีโอกาสก็ต้องเป็นผู้จัดการรัฐบาล ท่านสุเทพเป็นคนกว้างขวาง เป็นคนมีเพื่อนเยอะ ผมไม่มีทางทำอย่างกำนันได้”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการบริหารชุดนี้เป็น “ชุดก่อตั้ง” ยังไม่ใช่ “ชุดถาวร” และต้องประชุมสมัชชาใหญ่อีกครั้งเพื่อเลือกตั้งคณะผู้บริหารที่จะต้องอยู่ครบวาระ 4 ปี

“ถ้าหากผมต้องส่งไม้ต่อ ผมถือว่าคงไม่เป็นเวลาที่ยาวนานนัก จนถึงขั้นผมต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เลิกวิชาชีพทนายความไปเลย แต่หากจำเป็นผมก็ต้องตัดสินใจ ต้องไม่ให้งานในอาชีพของผมต้องเสียหาย เพราะถ้าหากว่าผมต้องดูแลงานในอาชีพแล้วตรงนี้ไม่เต็มที่ ผมก็ต้องเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาแทน เพราะเป็นเรื่องของบ้านเมือง”

เมื่อเป้าหมาย “พลพรรค” คือการชนะศึกเลือกตั้ง-ร่วมขบวนรัฐบาล แต่อีกเป้าหมายคือ การว่าความให้ “ลูกความ” ต้องชนะคดี-พ้นข้อหาหนัก

“เรื่องคดีความเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย พลาดพลั้งไปติดคุกติดตะราง เสียหายเดือดร้อน ผมต้องรับผิดชอบโดยจรรยาบรรณวิชาชีพ ผมถือว่าตรงนั้นเป็นจุดสำคัญยิ่งยวด”

เมื่อกติกาการเมืองถูกปฏิวัติ “ทวีศักดิ์” จึงเป็นอีก “นักการเมืองหน้าใหม่” ในวันที่ “คนการเมือง” แถว 1 แถว 2 มีชนักปักหลัง-แกะไม่หลุด