วิสัยทัศน์ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ผ่าน ร.ร.สอนทำอาหาร “คูลิเนอร์”

เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้วสำหรับโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการ “คูลิเนอร์” (Culineur, School of Culinary Arts and Entrepreneurship)

โดยนายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับโรงเรียนดังกล่าว ในช่วงงานมหกรรมอาหารเอเชีย (THAIFEX – World of Food ASIA 2018) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

โรงเรียนแห่งนี้ไม่ธรรมดาเลย

เพราะขึ้นชื่อว่าซีพีทำอะไรย่อมมีจุดเด่นไม่เหมือนใคร

นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

โดยเฉพาะการจับมือกับที่ปรึกษา Lausanne Hospitality Consulting : LHC หน่วยงานด้านการศึกษาจาก Ecole Hoteliere de Lausanne : EHL หนึ่งในสถาบันสอนการโรงแรมที่ดีที่สุดในโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองบนชั้น 5 ของห้างเอ็มโพเรียม ที่มีพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร

พร้อมเปิดสอนช่วงกลางปีนี้ ซึ่งถ้าเรียนระดับอนุปริญญาจำนวน 4 คอร์ส ค่าเทอมรายละ 3 แสนบาท

นอกจากนั้น ยังเปิดสอนคอร์สสั้นๆ ด้วย โดยจะเน้นหลักสูตรที่สอดคล้องกับกระแสความต้องการของตลาดในช่วงนั้นๆ

นายสุขวัฒน์บอกว่า การเปิดโรงเรียนดังกล่าวเป็นนโยบายของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการร้านอาหารและเชฟมืออาชีพของไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก เป็นการสร้างโรงเรียนที่สอนให้คนมีอาชีพ สร้างคนที่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องอาหารให้เป็นมืออาชีพให้ได้

ซึ่งผู้เรียนต้องเข้าใจทุกกระบวนการการจัดการธุรกิจตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การประกอบอาหาร การจัดการต้นทุน การตลาด การบริหารคน เป็นต้น เพื่อที่จะสามารถประสบความสำเร็จในสายงานของตัวเองได้

กับคำถามที่ว่า คาดหวังว่าผู้ที่มาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ต่อไปจะเป็นเครือข่ายของเครือซีพีด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบของซีพี

นายสุขวัฒน์ตอบว่า “เรื่องนี้แล้วแต่ผู้เรียน คือเราไม่สอนว่าคุณต้องเลือกซื้อของเรานะ แต่จะสอนเขาว่าส่วนไหนที่มาทำอาหาร ตัวไหนควรซื้อ ส่วนไหนดีกว่า ขออย่าไปคิดอย่างนั้นเลย คือการมองคนอื่นแบบนี้ ผมว่าเขามองเราเข้าใจผิดรุนแรงมาก”

“แม้แต่ทางซีพีเอฟมีการประกวดทำแกง เราเปิดเผยสูตรแล้วเปิดเผยสูตรอีก ไม่ได้เคยพูดว่าเนื้อไก่เราดีที่สุด ไม่มีเลย คนที่ได้ที่ 1, 2, 3 ไม่มีภาระผูกพัน ทุกคนถูกประกาศว่านี่สูตรเขาเป็นอย่างนี้ แม้แต่เขาถูกเชิญตัวไปเป็นวิทยากรไปเป็นที่ปรึกษา เราไม่เคยไปยุ่งกับผลประโยชน์ที่เขาได้เลย เรื่องนี้ท่านประธานสั่งผมเด็ดขาด”

สาเหตุที่นักข่าวถามเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกระแสสังคมที่ผู้คนบางกลุ่มมองว่าเครือซีพีมักจะทำธุรกิจครอบคลุมไปหมด โดยไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีโอกาสเติบโต เพราะเมื่อซีพีลงมาทำเองก็เท่ากับทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำครบวงจร

ดังนั้น พอถามในลักษณะดังกล่าว นายสุขวัฒน์จึงได้อธิบายและชี้ให้เห็นว่าเครือซีพีไม่ได้เป็นอย่างที่บางคนคิด

ที่สำคัญ การเปิดโรงเรียนครั้งนี้ถือเป็นงานเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างหนึ่ง

“ที่ผ่านมาถ้าเราจับอะไรปั๊บ ทุกคนจะมองว่าเป็นผลประโยชน์ ถ้าจะเป็นผลประโยชน์ เราไม่นั่งโอ้โหมาทำแบบชนิดที่ว่าถูกเขาด่ามากกว่าถูกเขาชม ส่วนลงทุนเยอะมันเป็นของปกติ ซึ่งการเปิดโรงเรียนนี้ 1.คือเป็นงานซีเอสอาร์ เพราะแน่นอน ถ้าถามว่าจะลงทุนเพื่อให้มีกำไร กว่าจะคืนทุนนี่ตั้งสิบกว่าปีไม่มีใครทำแล้ว จากค่าเรียนจริงๆ ตกคนละ 5 แสนบาท แต่ลดเหลือ 3 แสนบาท ผมคุยกับท่านประธานตลอด ผมทำงานใกล้ชิดกับท่าน ผมไม่เคยเห็นท่านประธานพูดเลยว่าคุณต้องทำธุรกิจนี้ให้สร้างกำไร”

นายสุขวัฒน์ยังย้ำด้วยว่า “การแข่งขันที่สะอาดคือ การแข่งขันที่รู้กจักใช้เทคโนโลยี รู้จักใช้คน”

ย้อนกลับไปถึงการเลือกจับมือกับสถาบันสอนการโรงแรมที่ดีที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ นายสุขวัฒน์ระบุว่า เพราะที่นี่เป็นมืออาชีพ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพคนด้วย

“คนที่เรียนจบหลักสูตรของสถาบันนี้ ผมเห็นเลยเขามีบุคลิกภาพที่ดี สง่างาม ไม่ว่าจะเป็นการบริการคน หรือการพูดจา ขณะเดียวกันเราต้องการสร้างเจ้าของร้านให้เป็นมืออาชีพ และต้องการสร้างเชฟที่เป็นมืออาชีพที่จะต้องรู้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุดิบ เรื่องการจัดซื้อ เรื่องการดูแลบัญชี เรื่องของบริหารจัดการ ที่ผ่านมาทางซีพีเอฟใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่าจะเปิดโรงเรียนสอนได้เพราะจะต้องส่งคนไปเรียนรู้กับเขาที่เมืองโลซานน์ คนที่จะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและเชฟที่จะสอนก็ต้องผ่านการทดสอบและมีใบอนุญาตจากสถาบันของเขาก่อน”

นายสุขวัฒน์ยังบอกด้วยว่า ตลอด 2 ปีที่ทางซีพีเอฟได้คุยกับสถาบันแห่งนี้ ซึ่งได้แนะนำวิธีการต่างๆ สิ่งสำคัญที่ทางสถาบันพูดอยู่ตลอดเวลาคือต้องดึงจิตวิณญาณของผู้เรียนกับครูให้ขึ้นมาให้ได้ โดยมองผลประโยชน์ส่วนตัวน้อยหน่อย แต่ให้มองผลประโยชน์ส่วนรวม ให้ความช่วยเหลือผู้คนในเรื่องของชาติ

นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

“ผมฟังแล้วผมก็ซึ้ง ซึ่งที่นี่สอนเรื่องการตลาดด้วย ห้างร้านใหญ่ๆ ทั่วโลกก็ส่งคนไปเรียน ผมเลยคิดว่าที่นี่เหมาะสม ขณะที่เรามีทั้งธุรกิจเรื่องการทำอาหาร วัตถุดิบที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้ ตลอดจนเรื่องของการปรุงอาหารที่ถูกต้อง”

สําหรับกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนแห่งนี้ ในส่วนของหลักสูตรอนุปริญญาที่เรียน 4 คอร์ส จะเปิดรับผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไป

ส่วนหลักสูตรระยะสั้นจะรับกลุ่มมืออาชีพหรือที่ผู้อยากจะเปิดร้านอาหารหรือผู้สนใจทั่วไป ซึ่งจะเปิดสอนเป็นภาคภาษาอังกฤษ

แต่ถ้าผู้เรียนคนไหนไม่สันทัดภาษาอังกฤษจะมีผู้ช่วยสอนในชั้นเรียนคอยแปลให้ ในส่วนของการเรียนนั้น จะเรียนภาคทฤษฎีเพียง 20-30% เท่านั้น นอกนั้นเน้นภาคปฏิบัติในการทำจริง เพื่อสร้างทักษะ

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่จบจากโรงเรียนศิลปะการอาหารฯ “คูลิเนอร์” ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบของเครือซีพี ผนวกกับสถาบันมีชื่อของสวิตเซอร์แลนด์ จะเป็นเชฟหรือผู้ประกอบการมืออาชีพที่มีจิตวิญญาณเพื่อส่วนรวม

สมดังเจตนารมณ์ที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนคาดหวังไว้หรือไม่