รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล : สมเด็จพระเพทราชา เชื้อวงศ์บ้านพลูหลวง (จบ)

สมเด็จพระเพทราชา เชื้อวงศ์บ้านพลูหลวง (จบ)

ย้อนอ่านตอนแรก คลิก

สมเด็จพระเพทราชามีความผูกพันกับวัดกุฎีทอง

วัดกุฎีทองเป็นพระอารามที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ฝั่งตะวันตก ด้านใต้ของแนวกำแพงเมืองโบราณ

วัดแห่งนี้ผู้เขียนเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระเพทราชา ทั้งนี้เพราะ

1. จากนิทานคำบอกเล่าของผู้คนย่านนี้ก่อนหน้าปี พ.ศ.2560 (ก่อนที่ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสจะดัง) กล่าวว่า สมเด็จพระเพทราชามาซ่อมวัดแห่งนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดว่า เหตุใดผู้คนย่านนี้จึงจำเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์พระองค์นี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่กล่าวถึงกษัตริย์กรุงเก่าพระองค์อื่น

2. วิหารของวัดกุฎีทองเป็นอาคารในสมัยอยุธยาราวรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา หน้าบันของวิหารเป็นงานจำหลักไม้ฝีมือช่างหลวง สามารถเทียบเคียงได้กับหน้าบันของศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

ซึ่งกล่าวกันว่าศาลาการเปรียญแห่งนี้แต่เดิมคือตำหนักในพระราชวังหลวงกรุงเก่า ที่สมเด็จพระเจ้าเสือพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชาอุทิศถวายวัด

อนึ่ง การปรากฏหน้าบันฝีมือช่างหลวงที่วัดกุฎีทองเป็นเรื่องสำคัญเพราะในละแวกย่านนั้นไม่ปรากฏลักษณะงานเช่นนี้

3. ในศาลาการเปรียญได้เก็บรักษาคานหามของหลวงอยู่ชิ้นหนึ่ง

ไม้ที่รองนั่งชำรุดผุพังไปตามกาลเวลาและส่วนที่เป็นคานได้หายไปแล้ว

แต่ที่ขอบประดับกระจังและปิดทอง สะท้อนให้เห็นถึงงานช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย และอาจจะเป็นไปได้ว่านี่อาจจะเป็นพระราชยาน

แต่ประเด็นปัญหาคือ เหตุใดที่วัดกุฎีทองจึงปรากฏคานหาม

ถ้าเปรียบเทียบตัวอย่างพระราชยานที่พบในหัวเมือง เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก ซึ่งมีข้อความในพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเคยเสด็จ แต่วัดกุฎีทองไม่เคยพบหลักฐานว่าสมเด็จพระเพทราชาเสด็จเหตุใดจึงปรากฏพระราชยานได้ ถ้าไม่ใช่เป็นของอุทิศจากกรุงศรีอยุธยา

4. จากชื่อวัดกุฎีทอง ซึ่งปรากฏในโคลงบทที่ 129 ของนิราศสุพรรณได้กล่าวตำแหน่งที่ชื่อกดีทอง อยู่ตอนใต้ของเมืองสุพรรณ ซึ่งก็น่าจะหมายถึงวัดกุฎีทองนี้ และสะท้อนให้เห็นว่าเป็นชื่อที่เรียกกันมาแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา

แต่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดว่า เหตุใดวัดในเมืองสุพรรณจึงมีกุฎีทอง ทั้งๆ ที่เรือนปิดทองจะต้องเป็นเรือนหลวงเท่านั้น และถ้าเทียบเคียงกับวัดภุมรินทร์กุฎีทอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีเรือนไม้ปิดทองและตามคำบอกเล่าของคนย่านอัมพวาว่า มีการยกเรือนหลวงของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์มาถวายที่วัด ดังนั้น กุฎีทองที่วัดกุฎีทองก็ต้องเป็นของสมเด็จพระเพทราชาที่คำบอกเล่าระบุว่าพระองค์มาบูรณะวัดนี้

จากหลักฐานทั้งหมดจึงทำให้มองได้ว่าสมเด็จพระเพทราชามีความสัมพันธ์กับวัดกุฎีทองนี้มาก ถ้าพระญาติวงศ์ของพระองค์ไม่ใช่คนย่านนี้ เหตุใดที่วัดนี้จึงปรากฏนิทานคำบอกเล่าเกี่ยวกับสมเด็จพระเพทราชา และยังพบศิลปวัตถุที่เป็นงานช่างหลวงในสมัยอยุธยาตอนปลายจำนวนมาก

รวมถึงชื่อวัดกุฎีทองน่าจะเป็นชื่อใหม่เมื่อมีการนำเรือนหลวงมาอุทิศให้วัด

ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าย่านนี้ในช่วงก่อนที่พระองค์จะเสวยราชสมบัติมีชื่อว่าบ้านพลูหลวง

เชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงคนบ้านนอกจริงหรือ

จากข้อความพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ได้กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงต่างมีความชื่นชมยินดีได้เดินเข้ามากรุงศรีอยุธยานำมัจฉมังสาและผลตาลแก่อ่อนตามประสาคนบ้านนอกเข้ามาถวาย

สมเด็จพระเพทราชาทรงได้ให้เชื้อหลวงบ้านพลูหลวงเข้ามาในพระราชวังหลวง

ในพระราชพงศาวดารยังได้บันทึกไว้อีกว่า เมื่อเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงเข้ามาในพระราชวังหลวงแล้วกระทำกิริยาไม่สมควร ถูกเหล่าข้าราชสำนักตักเตือน จนสมเด็จพระเพทราชารับสั่งว่า “คนเหล่านี้มันเป็นชาวบ้านนอก เคยชำนาญพูดจามาแต่ก่อนอย่างนั้น เรามิได้ถือ”

นอกจากนี้ ในพระราชพงศาวดารยังกล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อเหล่าเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงเมาสุราก็ร้องเพลงเก็บดอกไม้ร้อยและเพลงไก่ป่าต่างๆ สมเด็จพระเพทราชาทรงฟังแล้วสรวล

จากข้อความในพระราชพงศาวดารทำให้สร้างภาพลักษณ์ของเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นคนบ้านนอกคอกนาที่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียม ซึ่งจะมีผลกระทบถึงองค์สมเด็จพระเพทราชาว่าพระองค์ก็ทรงเป็นบ้านนอก

แต่ในประเด็นนี้ผู้เขียนกลับเห็นแตกต่างดังต่อไปนี้

1. จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า สมเด็จพระเพทราชาพระองค์ทรงประสูติในกรุงศรีอยุธยา โดยที่พระราชบิดาเป็นคนเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงที่ควรจะเป็นคนบ้านนอกมารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น สมเด็จพระเพทราชาและพระราชบิดาก็ไม่ได้เป็นคนบ้านนอก

2. เนื้อความที่กล่าวถึงเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงมาเยี่ยมสมเด็จพระเพทราชาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นข้อความที่ถูกเพิ่มในสมัยรัตนโกสินทร์ พบครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ซึ่งชำระในสมัยปลายรัชกาลที่ 1

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่าพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์มีแทรกข้อความในแง่ลบให้แก่สมเด็จพระเพทราชาจนถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทั้งนี้เพราะเหล่าผู้ดีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มองว่า เพราะการขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระเพทราชาเป็นต้นกำเนิดของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

ดังนั้น พระราชพงศาวดารที่ถูกชำระขึ้นในช่วงสมัยนี้จึงแทรกเรื่องราวอคติทางประวัติศาสตร์ลงไป

3. ขนบธรรมเนียมราชสำนักเป็นสิ่งที่มูลนายต้องปฏิบัติโดยเฉพาะมูลนายที่ต้องเข้าเฝ้าไม่ใช่มูลนายทุกคนจะทราบ ดังนั้น เจ้าเมืองตามหัวเมืองที่นานๆ จะได้มาเข้าเฝ้าก็ไม่แน่ว่าจะกระทำถูกต้อง

4. การที่เชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงร้องเพลงเก็บดอกไม้ร้อย เพลงไก่ป่าต่างๆ ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประการใด เพราะเพลงปรบไก่ยังมีเล่นตอนสมโภชรับพระแก้วมรกตจากเมืองเวียงจันทน์ในสมัยธนบุรีและงานสมโภชพระเมรุมาศท้องสนามหลวง

สมเด็จพระเพทราชาได้กรมหลวงโยธาทิพกรมหลวงโยธาเทพเป็นมเหสี

เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วพระองค์โปรดให้กรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพเป็นมเหสีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย

ในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ได้เพิ่มข้อความว่าสมเด็จพระเพทราชาให้หมอทำเสน่ห์กรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอคติทางประวัติศาสตร์เหมือนกับการกล่าวว่าเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นคนบ้านนอก

ประเด็นสำคัญที่สมเด็จพระเพทราชาต้องรับพระราชขนิษฐาและพระราชธิดาเพราะ

กรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพ ตามในบันทึกของต่างชาติพระองค์มีบทบาทในราชสำนักเป็นอย่างมาก ดังนั้น การที่สมเด็จพระเพทราชาทรงสถาปนาเจ้านายทั้งสองเป็นพระมเหสีเพราะต้องประสานอำนาจในทางการเมือง