สมเด็จพระเพทราชา เชื้อวงศ์บ้านพลูหลวง

สมเด็จพระเพทราชาทรงเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งในสมัยอยุธยาครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์

พระนามของพระองค์ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารคือ “สมเด็จพระมหาบุรุษราชบพิตรเจ้า” แต่ในคำให้การชาวกรุงเก่าออกพระนามว่า “สมเด็จพระธาดาธิบดี” และ “พระราเมศวร”

พระราชประวัติของพระองค์ที่เก่าสุดปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งเป็นฉบับที่ชำระในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา

กล่าวถึงพระประวัติพระองค์ก่อนรับราชสมบัติว่า พระองค์ทรงขี่ช้างไล่ม้าล่อ เท่านั้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะต้องการโยงให้พระองค์มีปรากฏตัวตนในพงศาวดารก่อนที่จะรับราชสมบัติ

ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นที่ต้องอาศัยหลักฐานชาวตะวันตกในการสืบค้นพระราชประวัติของพระองค์

สมเด็จพระเพทราชา
ในหลักฐานเอกสารตะวันตก

ในบันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอะแบส ได้กล่าวถึงพระองค์ว่า “เขาเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานจากในหลวงมากที่สุด เขาผู้นี้เป็นบุตรชายของพระนมคนหนึ่งของในหลวง พื้นเพเป็นคนสามัญ แต่ได้รับการเลี้ยงดูร่วมกันกับในหลวงแต่เยาว์วัยและเป็นคนเฉลียวฉลาดอยู่”

ในจดหมายเหตุของลา ลูแบร์ ได้กล่าวถึงพระองค์ว่า “ตัวท่านเองหรือออกหลวงสุรศักดิ์บุตรของท่านอาจอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้อยู่ หากว่าคนใดคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่เมื่อพระมหากษัตริย์ซึ่งผ่านพิภพอยู่ในปัจจุบันนี้เสด็จสวรรคตแล้ว มารดาของออกพระพิพิธราชาเป็นพระนมของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน”

ในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ กล่าวว่า “พระนารายณ์ทรงรักใคร่นับถือพระเพทราชาเป็นพระสหายอันสนิทของพระองค์อยู่เสมอ และพระเพทราชาผู้นี้เป็นบุตรของภคินีของพระองค์”

พระมารดาของ
สมเด็จพระเพทราชาเป็นเชื้อวงศ์

จากหลักฐานดังกล่าวที่ยกมานั้น กล่าวตรงกันคือ พระมารดาของสมเด็จพระเพทราชาทรงเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งตำแหน่งพระนมพระราชโอรสพระราชธิดาที่ปรากฏหลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ต่างก็เป็นประยูรญาติข้างพระอัครมเหสีทั้งสิ้น

ดังนั้น ฐานะของพระมารดาของพระองค์จึงควรที่จะเข้าข่ายเป็นพระประยูรญาติได้

หากแต่การที่บาทหลวงเดอะแบสกล่าวว่า พระองค์พื้นเพเป็นคนธรรมดาจึงไม่น่าใช่ เพราะราชสำนักคงจะไม่ยอมให้เลี้ยงพระราชโอรสร่วมกับคนสามัญชน

ถ้าพิจารณาจากเจ้าแม่วัดดุสิตหรือแม่ของเจ้าพระยาโกษาเหล็กและเจ้าพระยาโกษาปานซึ่งก็เป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ตามเรื่องเล่าสืบทอดมา เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์เดิม

ดังนั้น การที่แกมป์เฟอร์จะระบุว่า พระมารดาของพระองค์เป็นพระภคินีในสมเด็จพระนารายณ์ก็พอฟังดูเข้าทีว่าอย่างน้อยก็น่าจะเป็นเชื้อวงศ์อยู่

อนึ่ง จากพระนามก่อนเสวยราชสมบัติ คือ “พระเพทราชา” ยิ่งชวนให้น่าคิดว่า ทินนามของขุนนางครั้งกรุงเก่าจะไม่พบที่ลงท้ายด้วยคำว่าราชา

นอกเสียจากตำแหน่งเจ้าราชนิกุลและเจ้านาย เช่น เจ้าพิเทหะราชา พระอินทราชา เป็นต้น

และเมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติก็โปรดยกนายทรงบาศนัดดาเป็นพระอภัยสุรินทร์ ด้วยเหตุนี้จึงชวนให้คิดได้ว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์พระองค์ทรงเข้าข่ายเจ้าราชนิกุล

ประกอบกับพระขนิษฐาของพระองค์ได้ดำรงตำแหน่งที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์

จึงเป็นการย้ำให้เห็นว่าเชื้อสายข้างพระมารดาของพระองค์สูงศักดิ์ในระดับหนึ่ง

พระมารดาของสมเด็จพระเพทราชาคือเมียพระราชทาน

ถ้าพิจารณาจากหลักฐานพระราชพงศาวดารสมเด็จพระเพทราชาสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 66 พรรษา ในปี พ.ศ.2246 แสดงว่าพระองค์ต้องประสูติในปี พ.ศ.2180 กลางรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

จึงชวนให้คิดได้ว่า ถ้าพระบิดาของพระองค์ไม่ใช่บุคคลที่มีฐานกำลังอำนาจในระดับสูง ราชสำนักจะยอมให้เชื้อวงศ์มาเสกสมรสด้วยเหตุใด

จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าพระมารดาของพระองค์คือเมียพระราชทาน

เพราะพระบิดาของพระองค์ทำความดีความชอบช่วยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสวยราชย์

สมเด็จพระเพทราชา
ประสูติที่กรุงเก่า

ในพระราชพงศาวดารระบุว่าเมื่อสมเด็จพระเพทราชาเสวยราชสมบัติแล้ว โปรดให้ยกบ้านหลวงเป็นพระอารามนามว่า วัดบรมพุทธาราม

ถ้าพิจารณาจากตำแหน่งวัดบรมพุทธารามนั้นก็ตั้งริมมหารัถยา (ถนนแห่พระราชสาส์น) และใกล้กับพระราชวังหลวงมาก ซึ่งถ้าเทียบกับตำแหน่งวัดไชยวัฒนารามซึ่งเป็นบ้านเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก่อนเสวยราชสมบัติยังตั้งอยู่นอกกำแพงพระนคร

ดังนั้น จึงเป็นการย้ำให้เห็นถึงสถานภาพของสมเด็จพระเพทราชาก่อนเสวยราชสมบัติว่าต้องอยู่ในระดับสูง

ปัญหาที่ตามมาคือ สมเด็จพระเพทราชาประทับที่บริเวณวัดบรมพุทธารามตั้งแต่เมื่อใด แต่อย่างน้อยพระองค์จะต้องมาประทับตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่ม ทั้งนี้เพราะปรากฏหลักฐานว่าพระองค์เคยออกผนวชที่วัดพญาแมน ใกล้กับคลองสระบัวด้านทิศเหนือของเกาะเมือง

ถ้าคิดว่าพระมารดาของพระองค์คือเชื้อวงศ์และเป็นแม่นมสมเด็จพระนารายณ์ และพระบิดาของพระองค์เป็นข้าราชการที่ทำคุณความชอบสูง จึงยิ่งชวนให้คิดว่าสมเด็จพระเพทราชาประสูติที่บริเวณวัดบรมพุทธาราม

ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติจึงสร้างพระอารามทับที่ประสูติ เหมือนดั่งกรณีของสมเด็จพระเจ้าเสือสถาปนาวัดโพธิ์ประทับช้างบริเวณที่ประสูติ และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 สถาปนาวัดอัมพวันเจติยารามบริเวณที่ประสูติ

จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาจึงชวนให้เชื่อได้ว่า สมเด็จพระเพทราชาประสูติที่กรุงเก่า ไม่ใช่ที่สุพรรณบุรี

 

พระบิดาสมเด็จพระเพทราชา
อยู่กรมคชบาล

ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าไม่ได้กล่าวถึงพระบิดาของสมเด็จพระเพทราชาแต่ประการใด

แต่ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า พระบิดาของสมเด็จพระเพทราชาน่าจะรับราชการในกรมคชบาลเพราะ

1. ถ้าพิจารณาจากการปูนบำเหน็จเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวถึง นายทรงบาศ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ กล่าวถึง นายจบคชศิลป์ทรงบาทขวา นายกรินทร์คชประสิทธิ์ ขุนทิพพลภักดิ์ จากรายชื่อทั้งหมดยกเว้นขุนทิพพลภักดิ์จะพบว่าต่างก็เป็นขุนนางในกรมคชบาลทั้งสิ้น

และแม้แต่สมเด็จพระเจ้าเสือแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งที่หลวงสรศักดิ์ก็รับราชการอยู่ในกรมคชบาล แสดงว่าพระองค์จะต้องมีวงศ์วานในกรมคชบาลมากซึ่งนั่นจะหมายความว่าตระกูลของพระองค์ต้องหยั่งรากลึกในกรมคชบาลมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้

2. ตามธรรมเนียมปฏิบัติของการเข้ารับราชการในสมัยก่อนหน้ารัชกาลที่ 5 บิดาอยู่กรมไหนบุตรก็จะอยู่กรมนั้น

ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่กำกับกรมพระคลังบุตรหลานของท่านก็รับราชในกรมพระคลัง

หรือกรณีกรมหมื่นไกรสรวิชิตทรงกำกับกรมสังฆการีดังนั้นหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์ของพระองค์ต่างก็รับราชการในกรมสังฆการี เป็นต้น

จากหลักฐานในบันทึกของลา ลูแบร์ ระบุว่า กรมคชบาลเป็นกรมที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองแยกมาเป็นกรมต่างหาก

และถ้าพระบิดาของสมเด็จพระเพทราชาอยู่กรมคชบาลจริงก็เป็นการชี้ให้เห็นถึงฐานะตระกูลนี้ว่าได้รับความไว้วางใจจากราชสำนักเป็นอย่างมาก

และในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระองค์ทรงทอนอำนาจขุนนางไปมากเพื่อป้องกันการก่อกบฏ

แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มขุนนางบางกลุ่มเช่นสมเด็จพระเพทราชาที่ไม่ได้ถูกทอนสามารถสั่งสมอำนาจและอาณาบารมี จนสามารถปราบดาภิเษกได้

 

เชื้อวงศ์บ้านพลูหลวง

ในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ซึ่งชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อวงศ์สายหนึ่งของสมเด็จพระเพทราชาว่า “ขณะนั้นส่วนพระญาติวงษ แลข้าหลวงเดีมทั้งหลาย ซึ่งอยู่ ณ บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี”

และในพงศาวดารก็กล่าวว่าพระองค์เสด็จออกมาดูแลเป็นอย่างดี และสามารถเข้าไปเดินชมในเขตพระราชวังหลวงได้ จึงไม่น่าใช่พระญาติข้างพระอัครมเหสี

ถ้าพระมารดาของพระองค์เป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าปราสาททอง ดังนั้น พระญาติวงศ์ที่มาจากเมืองสุพรรณจะเป็นพระญาติวงศ์ข้างพระบิดาจะได้หรือไม่ ซึ่งจะหมายความว่าพระบิดาของสมเด็จพระเพทราชาเป็นคนเมืองสุพรรณ

อนึ่ง เมื่อพระญาติวงศ์ข้างสมเด็จพระเพทราชาเป็นคนย่านบ้านพลูหลวง ประกอบกับพระองค์ก็รับราชการในกรมคชบาล จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า สำนวนที่ว่า “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” ที่หมายถึง คนสุพรรณเป็นคนดีเหมือนช้างที่ป่าต้น และในขุนช้างขุนแผนก็ระบุว่าป่าต้นนี้อยู่ใกล้กับอำเภออู่ทองในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ จะทำให้คิดได้ไหมว่า เพราะสมเด็จพระเพทราชากำกับกรมคชบาลและพระญาติวงศ์ก็อยู่เมืองสุพรรณจึงทำให้เกิดสำนวนช้างป่าต้นคนสุพรรณ

บ้านพลูหลวงอยู่ไหน

ในพระราชพงศาวดารได้ให้รายละเอียดเกี่ยวตำแหน่งของบ้านพลูหลวงว่า “บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณ” แต่ก็ไม่ระบุว่าอยู่ตำแหน่งใดในเมืองสุพรรณ

แม้ว่าในปัจจุบันทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้ระบุตำแหน่งของบ้านพลูหลวงว่าอยู่ใน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง บริเวณวัดสารภี บริเวณด้านทิศเหนือของกำแพงเมืองสุพรรณด้านทิศตะวันของแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำสุพรรณบุรี)

ดังนั้น จึงทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า บริเวณนี้เป็นบ้านพลูหลวงถิ่นฐานของพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระเพทราชา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ทำการตรวจแล้วพบว่า บริเวณที่เป็นบ้านพลูหลวงไม่ใช่ตำแหน่งปัจจุบันตามที่เข้าใจกันเพราะ

1. โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ท่านเดินทางตามแม่น้ำท่าจีนจากใต้ขึ้นเหนือ ในบทที่ 152 กล่าวถึงโพคลาน คือบริเวณวัดโพธิ์คลานในปัจจุบัน บทที่ 153 กล่าวถึงตำแหน่งหัวเวียง คือบริเวณบ้านหัวเวียงในปัจจุบัน บทที่ 154 กล่าวถึงโพหลวง บทที่ 155 กล่าวถึงสำปะทิว คือตำแหน่งวัดสำปะซิวในปัจจุบัน บทที่ 159 กล่าวถึงโพพระ ปัจจุบันคือบริเวณเหนือวัดสว่างอารมณ์ บทที่ 160 กล่าวถึงโพพญา ปัจจุบันคือบริเวณโพธิ์พระยา

จากข้อมูลในโคลงนิราศสุพรรณพื้นที่หัวเวียงกับวัดสำปะซิว ปรากฏชื่อโพหลวงไม่ใช่พลูหลวง ซึ่งช่วงที่สุนทรภู่ไปเมืองสุพรรณเพิ่งจะหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ได้เพียง 60 ปี

2. จากใน “เอกสารการประชุมพุทธสมาคม ครั้งที่ 11 ปี พ.ศ.2506” มีการเสนอบทความเรื่อง พลูหลวงมีที่สุพรรณฯ โดยเสนอว่าบ้านโพธิ์หลวงนั้นอาจจะเพี้ยนมาจากพลูหลวง และในเอกสารเรื่อง “นิทานย่านสุพรรณ” ของศุภร ผลชีวิน ก็ระบุว่า ได้สันนิษฐานว่าบ้านโพธิ์หลวงเพี้ยนมาจากบ้านพลูหลวง

จากหลักฐานที่ยกมาทำให้ทราบว่า ปัจจุบันเรียกว่าบ้านพลูหลวงนั้นเปลี่ยนมาจากบ้านโพธิ์หลวงเมื่อราวสี่สิบปีที่ผ่านมา

แต่เราจะมั่นใจอย่างไรว่าชื่อเดิมของโพธิ์หลวงคือ พลูหลวง ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวต่างมีชื่อบ้านนามที่ขึ้นด้วยโพธิ์ เช่น โพธิ์คลาน โพธิ์คอย โพธิ์พระยา

และถ้าพิจารณาจากชื่อ โพหลวง ก็จะดูรับกับ ตำแหน่ง โพพระ และโพพญา คือขึ้นด้วยโพและต่อท้ายด้วยบรรดาศักดิ์ขุนนาง

3. ถ้าคิดว่าบริเวณที่ทางจังหวัดสุพรรณบุรีกำหนดให้เรียกว่าบ้านพลูหลวง เหตุใดจึงไม่ปรากฏหลักฐานของงานศิลปกรรมอยุธยาตอนปลาย