สิริกร มณีรินทร์ : ที่เห็นและอยากให้เป็นไป – เขาปฏิรูปการปฐมวัยอย่างไรที่สิงคโปร์

บทความชุดนี้ขอแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่ได้เห็นมาทั้งที่อยู่ใกล้และไกล…

และอยากให้เป็นไปในบ้านเมืองเรา

ประเดิมด้วยเรื่องปฐมวัย เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก จึงจุดประกายแห่งความหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดได้จริง หลังจากรอคอยลมๆ แล้งๆ ร่วม 4 ปี ดังทราบทั่วกัน

ผู้เขียนมีจุดยืนส่วนตัว ขอที่ยืนในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น

จึงได้ไปช่วยสภาปฏิรูปด้านการศึกษาทั้งสองสภา

ครั้งนี้ก็รวมกลุ่มกันไปช่วยคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาทำแผนปฏิรูปปฐมวัย รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ. …

(คลิกดูได้ที่ www.thaiedreform.org)

ที่สิงคโปร์ใกล้บ้านเรานี้ แม้ว่าการศึกษาของเขาจะติดอันดับหนึ่งในสามที่ดีที่สุดของโลกมาตลอด ก็เผชิญปัญหาปฐมวัย

คือสังคมเป็นครอบครัวเดี่ยว ขาดพี่เลี้ยงลูกที่ไว้ใจได้ช่วงไปทำงาน

จะฝากศูนย์ดูแลเด็กก็คุณภาพหลากหลาย

ที่เปิดเต็มวันก็ไม่ค่อยมี ความก้าวหน้าของครูและพี่เลี้ยงเด็กน้อยกว่าสายอาชีพอื่น

ตั้งแต่สมัย ลี กวน ยู ทุกวันชาติเดือนสิงหาคม นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์จะกล่าวสุนทรพจน์ National Day Rally Speech ประกาศนโยบายสำคัญรณรงค์ประชาชนให้ร่วมมือพัฒนาประเทศให้อยู่รอด

นายกฯลี เซียน ลุง กล่าวถึงการพัฒนาปฐมวัยถึง 2 ครั้ง ในวันชาติปี พ.ศ.2555 และปี พ.ศ.2560

ครั้งแรก เขาชี้ให้เห็นความสำคัญของพัฒนาการในปีแรกๆ ของชีวิตว่า “เป็นช่วงเวลาที่สมองเปิดรับเต็มที่ต่อการเรียนรู้ การรอ การแบ่งปัน ทักษะสังคม ส่งผลต่อไปในชีวิต ทั้งการงานและการไม่ข้องแวะกับยาเสพติดหรืออาชญากรรม” แล้วก็ประกาศ 3 สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะทำ ดังนี้

1. ตั้งองค์กรอิสระ (Statutory Board) เพื่อกำกับดูแลเด็กก่อนประถมศึกษา

2. ยกระดับคุณภาพทั้งครูและผู้จัดบริการด้านปฐมวัย

3. เงินช่วยเหลือครอบครัวรายได้น้อย

แล้วท่านผู้นำก็พูดกับพ่อแม่ชาวสิงคโปร์ตอนท้ายว่า ขอร้องเถิด ปล่อยให้ลูกๆ ของท่านได้ใช้ชีวิตวัยเด็ก ให้ลูกเรียนรู้ผ่านการเล่น อย่าเอาแบบเรียนประถมมาให้ลูกท่องจำล่วงหน้า “คุณจะทำร้ายลูก ทำให้เขาทุกข์ทรมาน แทนที่จะเติบโตอย่างสมดุลและมีความสุข กลายเป็นคนคับแคบและประสาทเสีย”

ทั้งนี้ นายกฯ ลีกล่าวว่า รัฐควรมีบทบาทเกี่ยวกับการปฐมวัย แต่ต้องไม่ทำเองทั้งหมด ควรให้มีผู้จัดบริการหลากหลาย ให้พ่อแม่มีทางเลือกให้ตรงความต้องการ เพราะเด็กแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน

นโยบายเด็กปฐมวัยที่ประกาศ เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนทุกข้อ ในปีต่อมา พ.ศ.2556 รัฐบาลตั้ง Early Childhood Development Agency หรือ “สำนักงานพัฒนาเด็กปฐมวัย” โดยทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว และกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดูแลเด็กอายุ 2 เดือน-7 ปี

ปีนี้ พ.ศ.2561 เป็นปีที่ 5 ของการจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาเด็กปฐมวัย มีบุคลากร 230 คน มีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จในตนเอง คือกำกับดูแลกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ การประกันคุณภาพ กำกับติดตามประเมินผลการดำเนินงานศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ให้เป็นไปตามมาตรฐานและตัวชี้วัด

เป็นผู้ออกใบอนุญาตซึ่งมีอายุ 5 ปี หรือเพิกถอนการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล

วางแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและกำลังคนสำหรับปฐมวัย

ดูแลการฝึกอบรมพัฒนาและให้ทุนวิจัยแก่ครูปฐมวัย จัดทำกรอบมาตรฐานหลักสูตร

พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนแก่ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และแก่พ่อแม่ที่รายได้น้อยและปานกลาง (หากพิสูจน์ได้ว่าแม่ไปทำงาน 56 ชั่วโมงขึ้นไปต่อเดือน และรายได้ของครอบครัวไม่เกิน 7,500 เหรียญสิงคโปร์ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ)

ปีที่ผ่านมานี้เอง นายกฯ ลี เซียน ลุง ประกาศนโยบายปฐมวัยอีกครั้งว่ารัฐบาลตั้งใจทำ 3 เรื่องที่สำคัญยิ่งเพื่อความสำเร็จและความผาสุกของชาติ เพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ได้แก่

1. พัฒนาการปฐมวัย

2. ทำสงครามกับโรคเบาหวาน

3. สร้างประเทศให้ชาญฉลาดด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเต็มที่ เพื่อสร้างงานและโอกาสให้คนสิงคโปร์ทุกคน

ครั้งนี้ สัญญาของรัฐบาลคือสร้างความแข็งแกร่งทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของศูนย์ดูแลเด็กและโรงเรียนอนุบาล

ยกระดับอาชีพครูปฐมวัยเพื่อให้คนดีและเก่งเข้ามาสู่อาชีพนี้ จะเพิ่มจำนวนที่เรียนในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลซึ่งขาดแคลนมากในกลุ่มเด็กเล็กก่อน 4 ขวบ

ให้กระทรวงศึกษาธิการตั้งโรงเรียนอนุบาลเพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่ง เพื่อวิจัยแนวคิดใหม่ เป็นต้นแบบโรงเรียนอนุบาลคุณภาพ

ที่สำคัญคือ จัดตั้งสถาบันครูปฐมวัยแห่งชาติ The National Institute of Early Childhood Development (NIEC) สามวันหลังกล่าวสุนทรพจน์ กระทรวงศึกษาธิการก็ตั้งผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันพัฒนาครูปฐมวัยแห่งชาติ ในวัย 50 ปี

เธอผู้นี้มีประสบการณ์ตรงในการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล 15 แห่งให้แก่กระทรวงศึกษาธิการและช่วยพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ด้านปฐมวัยมาก่อน

สถาบันนี้จะรวมวิทยาลัยอาชีวะของรัฐ 4 แห่งและเอกชน 1 แห่ง ที่เปิดสอนหลักสูตรครูปฐมวัยไว้ด้วยกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย

เป็นการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการไร้พรมแดนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศที่มุ่งเน้นประโยชน์ของการพัฒนาพลเมือง

ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎ ระเบียบด้านบุคคล และเตรียมงานวิชาการ

สถาบันพร้อมจะรับนักศึกษารุ่นแรกในเดือนมกราคม พ.ศ.2562 ลักษณะการจัดตั้งองค์กรเช่นนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศไทย

แต่เดิม การจัดการศึกษาปฐมวัยในวิทยาลัยต่างๆ ไร้การกำกับทิศทาง เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันครูปฐมวัยแห่งชาตินี้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมของการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัยมีความแข็งแกร่งและเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น

โดยจะเปิดหลักสูตรระดับอนุปริญญาและประกาศนียบัตร และพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่หลากหลาย มีทั้งสำหรับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและบูรณาการกับศาสตร์อื่น

เช่น หลักสูตรดนตรีและศิลปะเพื่อดูแลและพัฒนาเด็ก การดูแลเด็กจากครอบครัวพหุวัฒนธรรม การดูแลเด็กพิเศษด้านต่างๆ

แล้วไทยเราจะปฏิรูปการปฐมวัยไหม

เมื่อนายกฯ ลี เซียน ลุง กล่าวว่า จะเพิ่มงบประมาณพัฒนาปฐมวัย เขาเชื่อมั่นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับประเทศ

แล้วปิดท้ายว่า “เมื่อรัฐทำหน้าที่เต็มที่แล้ว ก็ถึงคราวพ่อแม่ทำหน้าที่พลเมืองบ้าง คือขอให้กำเนิดบุตรมากขึ้น” คำล่าสุดนี้เองที่เป็นหัวใจของนโยบาย

หลายประเทศรวมทั้งสิงคโปร์มองนโยบายปฐมวัยว่าไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเด็กเท่านั้น หากเป็นนโยบายสังคมที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและการสร้างอนาคตของชาติ เพื่อให้ประเทศมีกำลังคนทำงานเข้มแข็ง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และทำให้พ่อแม่หนุ่มสาวมีลูกหลานให้เป็นกำลังของชาติต่อไป ไม่ปล่อยให้ประเทศมีแต่ผู้สูงวัยดังที่หลายประเทศกำลังประสบเวลานี้

ในห้วงเวลาแห่งโอกาสสำคัญของการเสนอให้เกิดการปฏิรูปเพื่อเด็กปฐมวัยของประเทศ อะไรที่เราควรนำมาปรับจากตัวอย่างของสิงคโปร์

ขอเชิญชวนให้ศึกษาแนวทางการพัฒนากรอบหลักสูตรการพัฒนา ดูแลเด็กปฐมวัยและการนำหลักสูตรมาใช้ เพื่อมาเปรียบดูกับของไทยเรา

ระบบการศึกษาปฐมวัยสิงคโปร์วางกรอบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 8 ข้อ พื้นที่การเรียนรู้ 6 ด้าน เป็นสากล น่าจะไม่ต่างมากกับไทยเรา เชื่อว่าศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลหลายแห่งเราดีงามไม่แพ้กัน ต่างกันที่การบ่มเพาะทางวัฒนธรรม

ที่น่าประทับใจคือการบริหารจัดการภาครัฐที่มีทิศทางขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบมีเอกภาพ มุ่งให้เกิดคุณภาพเสมอกันทั้งประเทศ

ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์ไม่อาจขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติได้ หากไม่ได้ตั้ง สำนักงานพัฒนาเด็กปฐมวัยหรือ ECDA ในปี 2556 ซึ่งเปรียบเสมือนการปลดล็อกปัญหาการบริหารงานปฐมวัย คือ ทำอย่างไรให้กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับงานปฐมวัยได้วางแผนงานและผลักดันแผนไปข้างหน้าร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย

จุดแข็งของประเทศนี้อยู่ การตั้งและปรับองค์กรใหม่ รวดเร็วและอาจหาญ เป็นการออกแบบระบบบริหารจัดการบูรณาการข้ามกระทรวงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบ

เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่วางและกำกับนโยบาย ดังที่เรียกว่า Regulator เบ็ดเสร็จในตนเอง ตรงไปตรงมา โดยว่ากันที่กรอบมาตรฐานอย่างไร้เส้นสาย ที่สำคัญทำงานอย่างมีแผนและยุทธศาสตร์กำกับ

อีกหนึ่งเสาที่จะเพิ่มความแกร่งให้การปฐมวัยของเขาคือการตั้งสถาบันพัฒนาครูปฐมวัยแห่งชาติ ทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวจะทำงานร่วมกันใต้ร่มใหญ่ของยุทธศาสตร์การพัฒนาการปฐมวัยของชาติ

ย้อนดูประเทศไทย การปฐมวัยเป็น “ดินแดนที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” เป็นงาน “ฝาก” ของหลายกระทรวง บุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านเด็กปฐมวัยมีจำกัดมากในแต่ละแห่ง ต่างคนต่างทำ ต่างมีตัวชี้วัดและมาตรฐานของตนเอง จึงมีลักษณะ “ซ้อนทับ” สิ้นเปลืองเวลา และงบประมาณที่มีจำกัด ปล่อยให้เกิดวิกฤตเด็กไทยทั้งอีคิว ไอคิวและพัฒนาการที่ล่าช้าดังที่ทราบทั่วกัน

ความซ้ำซ้อนระดับชาติคือการมีกฎหมายหลักเกี่ยวข้องกับการปฐมวัย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2551

กฎหมายฉบับแรกกำหนดให้มี คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนเลขานุการคืออธิบดีกรมส่งเสริมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ซึ่งต่อมาตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ 1)

ขณะที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2551 ตั้ง คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ หรือ กพป. ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งเป็นประธาน เลขาฯ คือรองเลขาธิการสภาการศึกษาที่เลขาธิการสภาการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ) มอบหมาย

มีหน้าที่ “ประสานงานและบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยระหว่างหน่วยงาน เสนอแนะและให้คําปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการพัฒนาเด็กปฐมวัยรวมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวางแผนผฏิบัติการ เฝ้าระวัง ดูแลปกป้อง คุ้มครอง และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ฯลฯ”

คณะกรรมการชุดนี้จัดทำแผนและยุทธศาสตร์เด็กปฐมวัยเช่นกัน ในคณะกรรมการสองชุดนี้มีบุคคลซ้ำกันจำนวนหนึ่ง ทั้งที่เป็นโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็ต้องประชุม “วนกันไป”

ร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ. … ที่คณะอนุกรรมการเด็กเล็กเสนอมีสาระสำคัญเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีทิศทางมีเอกภาพและประสิทธิภาพ นิยาม “เด็กเล็ก” ว่าเป็นผู้อายุต่ำกว่า 8 ปี รวมถึงทารกในครรภ์มารดาตั้งแต่ปฏิสนธิ (อ่านที่ www.thaiedreform.org) เสนอให้มี “คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย”

ซึ่งปรับจากคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (กพป.) ให้มีความแข็งแรงและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมมากขึ้น

จึงเสนอให้คณะกรรมการมีองค์ประกอบของกรรมการ 3 กลุ่มคือ

กลุ่มโดยตำแหน่ง 6 ท่าน (ปลัดกระทรวงหลัก 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้แทนคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)

กลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง 4 ท่าน คือ ผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น 3 คน และผู้แทนโรงเรียนอนุบาลเอกชนหรือผู้แทนสมาคมโรงเรียนอนุบาลเอกชน

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านปฐมวัย 8 ท่าน คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ประสาน กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯลฯ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ หรือ กพป. ทำหน้าที่ไปพลางก่อน

ที่ลุ้นกันมากคือ เสนอให้มี “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย” มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นส่วนราชการ…”

โดยคาดว่าจะพัฒนาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านเด็กปฐมวัยอยู่แล้ว ซึ่งหวังว่าจะเสริมสร้างหรือ empower สร้างพลังให้การบริหารจัดการการปฐมวัย

แต่ก็ยังต้องใช้ใจที่มองเด็กเป็นที่ตั้งมาออกแบบปรับปรุงระบบและกลไกการบริหารจัดการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

เช่น ให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนั้นมีพลังกำกับดูแลจริงจัง จะดีงามเพียงใดถ้ามีแผนการศึกษาของจังหวัดที่มองประชากรตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยชรา เชื่อมโยงการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตลอดชีวิต

สาระสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือการเสนอให้ยกเลิกการสอบคัดเลือกเด็กปฐมวัยเข้าชั้น ป.1 เส้นทางของร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย พ.ศ. … ฉบับนี้ยังอีกยาว ต้องลุ้นกันอีกนาน นักการศึกษาที่ระดมกำลังทำงานด้วยใจ ไม่คาดหวังสิ่งใด นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กไทยของเรา

หวังจริงๆ ว่าผู้บริหารบ้านเมืองจะมองภาพได้การปฏิรูปที่เกิดประโยชน์ที่ตัวเด็กได้ยั่งยืนนั้น

ต้องตัดสินใจทำอะไรและอย่างไร จึงจะทำให้การปฐมวัยไทยพ้นสภาพวิกฤตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน