“ดูด” ในทางรัฐศาสตร์ (Party Switching)

ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้จดแจ้งชื่อพรรคการเมือง

ต่อด้วยการให้สมาชิกพรรคยืนยันความเป็นสมาชิกในเดือนถัดมา สร้างความคึกคักกระชุ่มกระชวยให้กับหลายๆ คน ทั้งในและนอกวงการ…

คล้ายๆ กับว่าจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้

ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีข่าวการทาบทามนักการเมืองให้เข้าร่วมพรรคการเมืองใหม่ ทั้งอดีต ส.ส.จากพรรคขนาดใหญ่ กลาง และพรรคเล็ก พร้อมๆ กับการออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้กันไปมาระหว่างนักการเมืองในพรรคเก่าแก่ กับนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นข่าวเรื่องการทาบทาม

หรือเรียกในภาษาสื่อมวลชนว่า “ดูด”

เรื่องยืดยาวไปถึงกับว่า “ถ้าไปว่านักการเมืองไม่ดี…แล้วมาดูดเขาทำไม”

หรือ “แมวสีไหนก็จับหนูได้ ขอให้เป็นแมวสะอาด”

และ “มันเป็นแค่วาทกรรม” “ใครๆ เขาก็ทำกัน” ฯลฯ

มีผู้สันทัดกรณีหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า พรรคการเมืองไทยหลีกเลี่ยงการดูด ส.ส. ไม่พ้นหรอก

มันเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในสมัยไหนๆ ก็มีเรื่องการดูดกันแทบทั้งนั้น

และเมื่อย้อนกลับไปดูประวัติการดูด ส.ส. ของไทยๆ นั้นพบว่าการดูด ส.ส. ในประเทศไทยมีทั้งการดูดแบบเหมาตะกร้า คือมากันทั้งกลุ่มก้อนการเมือง หรือการดูดแบบตัวบุคคล

และมีทั้งการดูดก่อนการเลือกตั้งและการดูดหลังการเลือกตั้ง

สำหรับแนวทางการดูด ส.ส. ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีทั้งการกดดันบีบบังคับ และการเสนอทางเลือกหรือเงื่อนไขที่น่าสนใจกว่าการอยู่กับพรรคเดิมต่อไป

จึงเป็นที่น่าสนใจจะมาทบทวนว่า ในทางรัฐศาสตร์แล้ว มีการศึกษาเรื่องนี้ไว้มากน้อยแค่ไหน

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ศึกษาเรื่องการดูดในฐานะของการย้ายพรรคโดยสมัครใจ (party switching) ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร

โดยในการศึกษานั้นมีทั้งการศึกษาในเชิงจุลภาคและมหภาค

ในเชิงจุลภาคคือ ดูในเรื่องเหตุปัจจัยของการย้ายพรรค

พูดง่ายๆ คือ เมื่อย้ายพรรคไปแล้ว ผู้ที่ย้ายพรรคจะได้คะแนนเสียงมากขึ้นหรือน้อยลง จะได้ตำแหน่งในทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจย้ายพรรคการเมือง

กับเชิงมหภาค คือการศึกษาโครงสร้างของระบบพรรคการเมืองในประเทศที่มีการย้ายพรรคเกิดขึ้นบ่อยๆ

นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าการย้ายพรรคการเมืองเป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย

การย้ายพรรคการเมืองก็คือ tactic อย่างหนึ่งของนักการเมืองที่จะทำกิจกรรมทางการเมือง

มีนักการเมืองย้ายพรรคการเมืองในหลายประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลก เช่น ฟิลิปปินส์ อิตาลี เนปาล เอกวาดอร์ เม็กซิโก รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

สาเหตุหลักๆ ที่นักการเมืองจะย้ายพรรคการเมืองก็คือ มองแล้วว่าการย้ายไปพรรคใหม่ จะทำให้เขาได้รับการเลือกตั้ง ได้ประโยชน์จากการได้ตำแหน่งที่ดีกว่าในรัฐบาล

และสามารถผลักดันนโยบายที่เขาต้องการได้

ในกรณีนี้ พรรคการเมืองจึงถูกมองว่าเป็น “เครื่องมือ” ในการพานักการเมืองให้ไปสู่ตำแหน่งที่ต้องการ เขาก็จะใช้ประโยชน์จากพรรคการเมืองนั้น

นอกจากนี้ อาจจะมีเหตุผลอื่นๆ เช่น หากนักการเมืองมองว่าพรรคการเมืองไม่ได้สนับสนุนให้เขาเป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เขาต้องการ เขาก็จะย้ายพรรคเพื่อไปสังกัดพรรคใหม่

ไม่ใช่การตัดสินใจย้ายพรรคจะมีแต่ประโยชน์กับนักการเมืองเท่านั้น แต่บางครั้งย้ายไปสังกัดพรรคใหม่แล้วกลับไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะผู้เลือกตั้งยังยึดติดกับพรรคเดิม และให้โอกาสพรรคเดิมมากกว่าการตามตัวบุคคลไปยังพรรคใหม่

หรือได้รับการเลือกตั้งแล้วแต่ไม่ได้เป็นพรรครัฐบาลก็มี

การย้ายพรรคการเมืองต้องเกิดจากการคิดในเชิงกลยุทธ์ระหว่างนักการเมืองและหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของบริบทแวดล้อมต่างๆ เช่น ระบบพรรคการเมือง และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จของการย้ายพรรคการเมืองมีหลายประการ

อาทิ

1.ความเข้มแข็งของอุดมการณ์ และความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง

หลายครั้งที่การย้ายพรรคเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะนักการเมืองย้ายพรรคแล้วมีเสียงสนับสนุนเขาลดน้อยลง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การย้ายพรรคประสบความล้มเหลวอยู่ที่ความเข้มแข็งของอุดมการณ์และความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ซึ่งจะอยู่เหนือความเป็นตัวบุคคลของนักการเมือง

เพราะในการย้ายไปสู่พรรคการเมืองใหม่นั้น นักการเมืองจะต้องคิดวิเคราะห์ให้ดีว่า

เสียงสนับสนุนของเขาจะลดลงหรือไม่ เสียงที่สนับสนุนเขานั้นอยู่กับชื่อเสียงทางการเมืองของเขา หรือชื่อเสียงทางการเมืองของพรรค

ซึ่งเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว หากเขาแน่ใจว่า ผู้ลงคะแนนเสียงผูกพันกับเขามากกว่าพรรคการเมือง ก็มีสิทธิที่เขาจะย้ายไปอยู่พรรคใหม่

2.ระบบพรรคการเมืองในแต่ละประเทศ

ในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตของตนด้วยความคาดหวังว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นจะไปตัดสินใจแทนเขาในเรื่องนโยบายสาธารณะที่ผูกพันอยู่กับนโยบาย หรือการตัดสินใจของพรรคการเมืองนั้นๆ

การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะยิ่งเป็นการยืนยันว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีความรับผิดชอบต่อนโยบายและผลของนโยบายนั้นๆ

ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองจึงเป็นปัจจัยหลักที่แยกออกไม่ได้จากการเป็นตัวแทนของประชาชนของนักการเมือง ประเทศที่มีความเป็นสถาบันการเมืองมากกว่า จึงมักมี ส.ส. ย้ายพรรคน้อยกว่า

เช่น มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการย้ายพรรคที่เกิดในประเทศในยุโรปตะวันออกที่ระบบพรรคการเมืองยังไม่เข้มแข็ง

และการเลือกตั้งยึดติดที่ตัวบุคคล กับประเทศเม็กซิโกที่ระบบพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากกว่า

พบว่านักการเมืองในยุโรปตะวันออกสามารถย้ายพรรคการเมืองได้โดยไม่กระทบต่อคะแนนเสียงของตนเองมากนัก

แต่ในประเทศเม็กซิโกนั้น การย้ายไปสู่พรรคใหม่ของนักการเมืองทำให้นักการเมืองที่ย้ายพรรคต้องสูญเสียคะแนนเสียงเลือกตั้งในระยะยาว

จากงานศึกษาวิจัยที่มีอยู่จึงสรุปได้ว่า พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันการเมืองมาก

การตัดสินใจย้ายพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นน้อย เพราะชื่อเสียงและผู้สนับสนุนทางการเมืองของนักการเมืองถูกผูกไว้ที่พรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล

จริงๆ แล้วนอกจากปัจจัยที่เป็นทางการข้างต้นแล้ว ก็ยังอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการย้ายพรรค เพราะหลายครั้งที่แม้แต่ในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่การตัดสินใจย้ายพรรคก็ทำให้เกิดประโยชน์กับนักการเมืองมากกว่าการอยู่กับพรรคเดิม

เช่น โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีพรรครีพับลิกันของสหรัฐอเมริกา เคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตและนโยบายนิวดีล และเคยเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงานในฮอลลีวู้ดด้วย

เขาได้เปลี่ยนมาสนับสนุนพรรครีพับลิกันในปี ค.ศ.1962

และมีประโยคเด็ดของเขาเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าวว่า

“ผมไม่ได้เดินออกมาจากพรรค พรรคนั่นละ ที่เดินออกไปจากผม”

และนางฮิลลารี คลินตัน ก็เคยเป็นผู้สนับสนุนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในพรรครีพับลิกันอย่างแข็งขันในปี ค.ศ.1964 แต่ก็เปลี่ยนใจมาสนับสนุนพรรคเดโมแครตในปี ค.ศ.1968

Drew Angerer/Getty Images/AFP

ซึ่งสองคนนี้คือตัวอย่างที่ย้ายพรรคแล้วประสบความสำเร็จในทางการเมือง

แต่ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีเช่นกัน เช่น วุฒิสมาชิก Arlen Specter ซึ่งออกมาจากพรรครีพับลิกันไปอยู่พรรคเดโมแครตในปี ค.ศ.1984

และได้รับการกล่าวหาว่าเป็นนักฉวยโอกาส (the opportunist)

สําหรับประเทศไทยนั้น การดูดนักการเมือง จะสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองเพียงในระยะสั้น แต่ในระยะกลางและระยะยาวคือการสร้างความอ่อนแอให้กับพรรคการเมือง

1. ในระยะสั้นคือทำให้มี ส.ส. จำนวนมากอย่างรวดเร็ว

โดยการดูด ส.ส.เก่า จะทำให้พรรคการเมืองใหม่ได้ ส.ส.จำนวนมากภายใต้เสื้อคลุมใหม่ของพรรค โอกาสที่จะเป็นพรรครัฐบาลก็จะมีมากขึ้น

โอกาสที่จะเสนอชื่อนายกฯ ก็มีมากขึ้นด้วย

และที่สำคัญที่สุด ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่นับคะแนนเสียงตกน้ำทั้งหมดนี้ ถึงแม้จะสอบตกแต่คะแนนเสียงไม่ตกน้ำไปไหน

ดังนั้น ใครที่เคยได้คะแนนลำดับสองหรือสามก็จะมาเสนอชื่อตัวเองให้กับพรรคการเมืองได้ เพราะแม้จะสอบตก แต่ก็มีฐานเสียงอยู่ในเขตนั้นๆ

2. ในระยะกลางคือความแตกแยกภายในพรรค การดูด ส.ส. เข้ามาในพรรคนั้น หากเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ไม่ได้มีอุดมการณ์เป็นตัวนำแล้ว แนวทางในการตัดสินใจทั้งในเชิงนโยบายและเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองจะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส.ส. ที่ได้มาจะนึกถึงผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคพวกเป็นที่ตั้ง

พรรคการเมืองกลายเป็นขั้วการเมืองที่พร้อมจะแตกได้ตลอดเวลา

การบริหารพรรคการเมืองจะทำได้ยาก

ซึ่งนอกจากหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคจะต้องทำการต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคอื่นแล้ว

ยังมีภารกิจในการประสานประโยชน์ที่พร้อมจะแตกแยกได้ตลอดเวลาอีก

3. ในระยะยาวก็คือไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตย

ด้วยการที่พรรคการเมืองต่างๆ อ่อนแอลงเนื่องจากการแตกคอกันของกลุ่มก๊วน ส.ส. ภายในพรรค

การเมืองของไทยจะวนเวียนอยู่กับเรื่องผลประโยชน์เฉพาะหน้า ผลประโยชน์รายบุคคล การลงทุนทางการเมือง นายทุนทางการเมือง และการเมืองที่ยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าอุดมการณ์

ซึ่งในที่สุดแล้วจะสร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน และเป็นที่มาของปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของสถาบันอื่นๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับประชาธิปไตยของไทย

โดยสรุปแล้ว นักรัฐศาสตร์จึงมองการย้ายพรรคการเมือง หรือการ “ดูด” ส.ส. ว่า เป็น tactic อย่างหนึ่งทางการเมือง

การย้ายพรรคเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือดีงาม

การตัดสินใจย้ายพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับบริบทต่างๆ ทั้งระบบพรรคการเมือง ความเข้มแข็งของพรรคการเมือง และความผูกพันระหว่างตัว ส.ส. กับผู้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้น การย้ายพรรคหรือการดูด ส.ส. เข้าพรรค จะทำให้เกิดผลดีต่อพรรคในระยะสั้นๆ

แต่ในระยะกลางและระยะยาวแล้วจะนำมาซึ่งความอ่อนแอ

ทั้งตัวพรรคและต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย