ยอดลงทะเบียน “คนจน” 5 ล้าน จาก 20 ล้านคน

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ อันเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการ ฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมตามนโยบาย อีเพย์เมนท์ ภาครัฐ

ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม เป็นต้นมา

ณ วันที่ 10 สิงหาคม พบว่ามียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 4.72 ล้านราย

ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 5 ล้านราย จากจำนวนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรไทย

เมื่อแยกดูข้อมูลเป็นรายธนาคาร พบว่ามีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยผ่าน ธ.ก.ส. สูงสุด จำนวน 2.33 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.3 หรือลงทะเบียนเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 แสนราย

ยอดการลงทะเบียนผ่านธนาคารออมสินอยู่ที่ 1.54 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.69

ยอดการลงทะเบียนผ่านธนาคารกรุงไทยอยู่ที่ 8.47 แสนราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.96 ของยอดลงทะเบียนทั้งหมด

เมื่อเทียบกับตัวเลขการลงทะเบียนพร้อมเพย์ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในวันเดียวกัน พบว่า

ยังห่างไกลกันมาก เฉพาะตัวเลขการลงทะเบียนของ ธ.ก.ส. แห่งเดียว มียอดลงทะเบียนสูงถึง 7.22 ล้านราย

สมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้การลงทะเบียนพร้อมเพย์สูงกว่าการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ เนื่องจากรัฐบาลได้ออกหลักเกณฑ์การลงทะเบียนพร้อมเพย์ออกมาก่อน ทำให้ธนาคารมีเวลาในการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับลูกค้าไว้แต่เนิ่นๆ ขณะที่หลักเกณฑ์การลงทะเบียนสวัสดิการภาครัฐออกมาทีหลัง

อีกทั้งยังเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงสั้นๆ แค่ 1 เดือน ทำให้ยอดการลงทะเบียนไม่ได้สูงมากนัก

จำนวนคนมาลงทะเบียนน้อยไม่ได้หมายความว่าคนจนมีไม่มาก แต่เนื่องจากปี 2559 เป็นปีแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนรับสวัสดิการ อาจทำให้คนมาลงทะเบียนน้อย เชื่อว่าปีต่อไปจะมาลงทะเบียนเพิ่มขึ้น

ยิ่งหากรัฐออกสวัสดิการเพิ่มเติมจะยิ่งทำให้ยอดการลงทะเบียนเพิ่มขึ้น