ดร.บัญชา เปิดประวัติ ‘ออปเพนไฮเมอร์’ บิดาปรมาณู ทูตแห่งความตาย ผู้ทำลายพิภพโลก

ดร.บัญชา เปิดประวัติ ‘ออปเพนไฮเมอร์’

บิดาปรมาณู ทูตแห่งความตาย ผู้ทำลายพิภพโลก

 

1 เมษายน 2567 เวลา 18.00 น. ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ MTEC (เอ็มเทค) เจ้าของผลงานหนังสือ ‘Pioneering Minds ก้าว-รุก-บุก-เบิก’ และ ‘All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก’ จากสำนักพิมพ์มติชน จัดกิจกรรม Matichon’s Special Talk หัวข้อ ‘เรื่องจริงของออปเพนไฮเมอร์ บิดาแห่งปรมาณู’ ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน J47 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ใน ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’

 

โครงการแมนฮัตตัน

ดร.บัญชา เล่าให้ฟังว่า เส้นทางชีวิตของออปเพนไฮเมอร์มีความน่าสนใจ เขาจบเคมีที่ฮาร์วาร์ด แต่เบนสายไปปริญาโททางฟิสิกส์ ที่ประเทศอังกฤษ ไปห้องแลปเจอกับ เจ.เจ ทอมป์สัน (J.J Thompson) คนที่คนพบอนุภาคอิเล็กตรอนประจุลบ ซึ่งเป็นคนดังระดับโลก

แม้จะมีความอัจฉริยะเป็นพื้นฐาน แต่เขามีความเป็นนักทฤษฎี ไม่เก่งการทดลอง ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน เจ.เจ ทอมป์สัน (J.J Thompson) จึงแนะนำให้เขาไปเรียนคอร์สพื้นฐานก่อน แต่ออปเพนไฮเมอร์เรียนไม่ไหว ในช่วงนั้นเขารู้สึกว่าน่าเบื่อมาก จนกระทั่งได้ไปทำงานที่เยอรมันนีและเรียนจนจบปริญญาเอก เขาพบกับ แม็กซ์ บอร์น (Max Born) ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยให้เกิดกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) ในช่วงแรก และนับว่าเป็นคนเก่งคนหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ ที่ในตอนหลังได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับการคำนวณมวลนิวเคลียส

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีข่าวว่านาซีเยอรมันกำลังพยายามสร้างอาวุธอานุภาพร้ายแรง คือ ‘ระเบิดอะตอม’ หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ระเบิดปรมาณู’ ซึ่งหากสำเร็จฝ่ายอักษะก็คงชนะสงคราม ทางอเมริกาจึงเร่งสร้างระเบิดอะตอมให้เสร็จก่อน โดยระดมบรรดานักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับหัวกะทิมาทำงานร่วมกันในอภิมหาโครงการชื่อ โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งดำเนินการในเทศมณฑลลอส อะลามอส รัฐนิวเม็กซิโก

ชื่อโครงการนี้ว่า มาจากคนที่มาร่วมโครงการนี้จำนวนมากอาศัยอยู่ในย่านแมนฮัตตัน นิวยอร์ก และทีมงานตั้งใจว่าจะตั้งชื่อให้ไม่รู้ว่าโครงการนี้เกี่ยวกับอะไร จึงใช้ชื่อย่านแมนฮัตตันในการเรียกขาน และมาเปิดเผยที่มาของโครงการหลังจากสงครามสิ้นสุดไปแล้ว

ดวงอาทิตย์หนึ่งพันดวง

ออปเพนไฮเมอร์ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการนี้ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลอีกหลาย 10 คน จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าออปเพนไฮเมอร์จะนำทีมสำเร็จหรือไม่ เพราะเขามีอายุเพียง 38 ปี แถมไม่เคยได้รับรางวัลโนเบลเหมือนกับนักฟิสิกส์หลายคนในทีม โดยผู้ที่เลือกเขามาเป็นผู้นำโครงการคือ นายพลเลสลี โกรฟส์ (General Leslie Groves) ที่เชื่อมั่นในตัวออปเพนไฮเมอร์ว่าเขามี “ความมุ่งมั่นทะเยอทะยานอันเปี่ยมล้น” อันจะเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของโครงการแมนฮัตตัน

ระเบิดอะตอมที่ออปเพนไฮเมอร์สร้างนั้นอยู่มี 2 แบบ คือ Little Boy กับ Fat man ที่มีการทำงานแตกต่างกัน วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1945 มีการทดสอบระเบิดอะตอมครั้งแรกที่ทรินิตี้ไซต์ (Trinity Site) ในรัฐนิวเม็กซิโก เมื่อเวลา 5 นาฬิกา 29 นาที 45 วินาที ประมาณกันว่าระเบิดลูกนี้มีความรุนแรงเท่ากับระเบิด TNT หนัก 25,000 ตัน ปลดปล่อยพลังงานออกมาราว 100 ล้านล้านจูล แสงสว่างที่เกิดขึ้นได้ทำให้ภูเขาและบริเวณโดยรอบ “สว่างกว่าเวลากลางวัน” ราว 1-2 วินาที สีของแสงเปลี่ยนจากม่วงไปเป็นเขียวแล้วกลายเป็นสีขาว

ออปเพนไฮเมอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ระดับวีไอพีซึ่งมี 10 คน อยู่ห่างจากจุดระเบิดราว 32 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ยืนกอดอกพิงเสาต้นหนึ่งในห้องควบคุม สายตาของเขาเหม่อลอยไปไกล ในวินาทีนั้นข้อความตอนหนึ่งจากภควัทคีตา มหากาพย์อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูแว่บเข้ามาในสมองของเขา “อ้า!… ประกายโสภาสิเรืองฉาย สุริยันกว่าพันดวง อคินนภาอุโฆษสิโชติช่วง กลอิศวร์มหิบาล” อันเป็นการเปรียบว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสว่างไสวราวกับดวงอาทิตย์กว่าพันดวง

6 สิงหาคม ค.ศ.1945 ระเบิด Little Boy ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา สร้างความเสียหายเหลือคณานับและคร่าชีวิตผู้คนโดยตรงราว 7 หมื่นคน และเมื่อระเบิด Fat Man ถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิในอีก 3 วันต่อมา คือ ออปเพนไฮเมอร์และทีมงานจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากคิดว่าไม่มีความจำเป็นทางการทหารใดๆ ที่ต้องใช้ระเบิดลูกที่สองนี้

Philippe Halsman American physicist J. Robert Oppenheimer. 1958. © Philippe Halsman | Magnum Photos

“บิดาแห่งปรมาณู” ผู้ “อ่อนหัด” ทางการเมือง

แม้ออปเพนไฮเมอร์จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอด แต่ก็ยัง “อ่อนหัด” ในทางการเมือง เขาเข้าใจผิดไปเองว่าการที่เขาเป็นวีรบุรุษของชาติในฐานะ “บิดาแห่งปรมาณู” จะทำให้นักการเมืองและทหารและยอมฟังเขาเกี่ยวกับข้อเสนอการยุติการสร้างอาวุธร้ายแรง

เขาเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยื่นจดหมายด้วยมือตนเองต่อรัฐมนตรีกระทรวงการสงคราม แสดงความรังเกียจต่อปฏิบัติการดังกล่าวและแสดงความปรารถนาที่จะเห็นการห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ข้อเรียกร้องของเขาไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เพราะทางกองทัพสหรัฐยืนยันว่าต้องมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป จากการที่สหภาพโซเวียตมีแนวโน้มที่จะสร้างระเบิดไฮโดเจน ซึ่งมี ‘ปฏิกิริยาฟิวชั่น’ รุนแรงกว่า 1,000 เท่า!

หลังการใช้ระเบิดอะตอมทั้งสองลูกกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลฉกรรจ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งคำถามต่อตนเองว่า ตอนแรกที่ร่วมโครงการแมนฮัตตันเพราะรู้สึกว่าเหมือนเป็นการปกป้องโลก แต่พอเยอรมันนีแพ้ไปแล้ว ก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้องวางระเบิดญี่ปุ่นอีก พอย้อนกลับไปไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ มันจึงเป็นประเด็นเชิงจริยธรรม ถ้าทำระเบิดไม่สำเร็จก็จะมีคนตายจากสงคราม แต่สร้างสำเร็จกลับมีคนตายจำนวนมาก

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้ต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ออปเพนไฮเมอร์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับจริยธรรม คือเป็นตัวแทนของผู้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในการเข่นฆ่าทำลายล้าง สิ่งนี้เป็นหนึ่งในแผลลึกในใจเขา

จากวีรบุษผู้สร้างอาวุธทำลายล้าง เขากลายมาเป็นผู้ที่ถูกทิ้งขว้างจากการถูกตั้งข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงไปมาก ด้วยข้อหาคนทรยศต่อชาติ คือถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจนำความลับการสร้างระเบิดอะตอมไปบอกสหภาพโซเวียต

ดร.บัญชากล่าวอีกว่า ตอนหนึ่งที่ออปเพนไฮเมอร์ออกรายการทีวี เขารำลึกถึงถ้อยคำในคัมภีร์ภควัทคีตา ซึ่งเขาอ่านจากต้นฉบับในภาษาสันสกฤต แต่ถอดความหมายออกมาเป็นคำพูดอันโด่งดังของเขาเองว่า “Now I am become Death, the destroyer of worlds.” ถอดความได้ว่า “บัดนี้ ข้าฯ กลายเป็นทูตมรณะ (พระกาฬ) ผู้หยิบยื่นความตาย เป็นผู้ทำลายโลกพิภพทั้งมวล” แต่มีคนไปค้นในภายหลังว่า คำว่า “ทูตมรณะ” หรือ “พระกาฬ” นั้นน่าจะหมายถึง “พระกาล” ซึ่งหมายถึงเวลา ซึ่งก็มีความหมายเหมือนกัน เพราะว่าเวลาก็ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้เสื่อมสลายเช่นกัน

ซึ่งอาจเป็นความหมายแฝงเร้นที่ออปเพนไฮเมอร์อยากฝากไว้…. •