เห็นไหมรายได้ “ดีขึ้น”

สํานักงานสถิติแห่งชาติ หน้าที่หลักคือ “หาความจริงของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลนำไปเป็นข้อมูลวางแผนพัฒนาได้ถูกต้องตามความเป็นจริง”

เนื่องจากการพัฒนาในพื้นฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง ไม่เพียงทำให้การพัฒนาไม่ได้ผล เพราะผิดทิศผิดทางเท่านั้น แต่ยังเสียงต่อการสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ และความเดือดร้อนให้ประชาชนได้

ดังนั้น การคัดเลือกผู้บริหารสำนักงานสถิติแห่งชาติมักทำเพื่อให้ได้คนที่รักความเป็นจริง ละเอียดรอบคอบคิดถึงผลที่จะเกิดกับประเทศชาติมากกว่าที่จะคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในชีวิตราชการหรือเงินทองทรัพย์สิน

ในส่วนของพนักงานสถิติแห่งชาติเองถูกปลูกฝังให้ “รักความจริง” พร้อมที่จะปกป้องความเป็นจริง แม้จะต้องเสี่ยงกับการถูกผู้บังคับบัญชาผู้เบี่ยงเบนเพื่อสอพลอลงโทษทัณฑ์

นั่นคือ “สิ่งที่ควรจะเป็น และไม่ควรจะเป็น” ในสำนักงานสถิติแห่งชาติ

การสำรวจสำคัญที่สุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือ “สำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน” ว่าในแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไรกันบ้าง สุขทุกข์กันในเรื่องอะไร ทำมาหากินพอใช้พอจ่ายหรือไม่ แยกย่อยในรายละเอียดทั้งในเรื่องที่เดือดร้อนจำเป็น และแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกันอย่างไร

ล่าสุด “ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2558” ที่ใช้เวลาทั้งปี 2558 สำรวจจากฐานข้อมูล 52,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ได้สรุปผลเรียบร้อยนำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ

เฉลี่ยทั่วประเทศครัวเรือนมีรายได้เดือนละ 26,915 บาท ดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 24,528 บาท เช่นเดียวกับรายได้ต่อคนที่เพิ่มเป็น 9,212 บาทเมื่อเทียบกับครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 8,180 บาท แปลว่าดีขึ้น

ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนปี 2558 อยู่ที่เดือนละ 21,157 บาท

หมายความว่ารายได้สูงกว่ารายจ่ายที่จำเป็นในการครองชีพอยู่ 5,758 บาท

ภาพรวมย่อมแปลว่าความเป็นอยู่ของประชาชนในปีที่แล้วดีขึ้น

ไม่ได้เป็นไปอย่างที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งหลายบอกกล่าวไว้

แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารควบคุมความสงบ ซึ่งมีปัจจัยมากมายที่ทำให้ชี้ได้ว่าเสี่ยงต่อผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะลงไปถึงปากท้องของประชาชน

ในวันนี้ได้พิสูจน์แล้ว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยราชการที่บุคลากรทั้งหมดรับเงินเดือนซึ่งมาจากภาษีของประชาชนยืนยันว่าไม่ได้เป็นอย่างที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งหลายสรุปไว้ก่อนหน้านั้น

ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลนำไปทำเป็นแผนพัฒนาประเทศ เมื่อประชาชนไม่ได้เดือดร้อนในเรื่องปากท้องอย่างที่กังวลกัน มาตรการเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาตามที่นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองที่สัมผัสพื้นที่ชี้ให้เห็นก่อนหน้านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องทำ

และรัฐบาลสามารถนำข้อมูลความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนนี้ไปไปพิจารณามาตรการดูแลประชาชนที่วางไว้ก่อนหน้านั้นว่ามีตรงไหนที่พอจะปรับลดได้ เพราะ “ข้อมูลจากหน่วยงานที่ปลูกฝังสำนึกรักความเป็นจริง” มายาวนาน ได้สรุปให้แล้วว่า

ถึงวันนี้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้