3 ส.ค. 44 : เบื้องลึก เบื้องหลัง วันชี้ชะตา “ทักษิณ” ใน “คดีซุกหุ้น”

“ปาฏิหาริย์” มีจริง

(เนื้อหานี้เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ปีที่ 21 ฉบับที่ 1094)

เวลาร่วมๆ 7 เดือนแห่งความอึมครึมขัดแย้ง ยุติลงเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติในคดีประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ที่ผ่านมา เป็นอันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิดตามมาตรา 295 ในรัฐธรรมนูญ

ย้อนกลับไปปลายปี 2543 ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มี นายโอภาส อรุณินทร์ เป็นประธาน ลงมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งว่าด้วยการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินตามเวลาและวิธีการที่กำหนด

คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. มีขึ้นก่อนหน้าวันเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 ไม่กี่วัน และมีการนำไปขยายผลตามเวทีหาเสียงทั่วประเทศ แต่พรรคไทยรักไทยก็เข้าสภาไปด้วยคะแนนท่วมท้น

วันที่ 18 มกราคม 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 14 เสียงเป็นเอกฉันท์ รับคำร้องของ ป.ป.ช. ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าที่นายกฯ ขณะนั้น กลายเป็น “จำเลย” ในศาลรัฐธรรมนูญทันที

กระบวนพิจารณาดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชื่อของ นายกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นตัวแทนของ ป.ป.ช. เบิกความและซักพยานในศาลดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ

กระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ โดนแรงกดดันบังคับให้ต้องเข้าแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง และยืนยันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นความ “บกพร่องโดยสุจริต”

คณะตุลาการฯ ใช้เวลาเดือนเศษๆ ในการทำคำวินิจฉัย ท่ามกลางแรงกดดันที่หนักหน่วงทั้ง 2 ด้าน ก่อนจะลงมติวินิจฉัยในวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ที่ผ่านมา

คะแนนเสียง 8 ในมติดังกล่าว หรือตุลาการเสียงข้างมาก ประกอบด้วย นายกระมล ทองธรรมชาติ นายศักดิ์ เตชาชาญ นายจุมพล ณ สงขลา พล.ท.จุล อติเรก นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายผัน จันทรปาน นายสุจินดา ยงสุนทร และ นายอนันต์ เกตุวงศ์

ส่วนตุลาการ 7 คนที่ลงมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจปกปิดทรัพย์สิน ได้แก่ นายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอมร รักษาสัตย์ นายอิสระ นิติทัณฑ์ประภาส และ นายอุระ หวังอ้อมกลาง

ในกลุ่มความเห็นเสียงข้างมาก มี 4 คนที่เห็นว่า กรณีไม่เข้ามาตรา 295 เพราะผู้ถูกร้องไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขณะมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ประกอบด้วย นายกระมล นายจุมพล นายศักดิ์ และนายผัน

โดยนายจุมพลกล่าวว่า การตีความกฎหมายที่เป็นโทษต้องตีความอย่างเคร่งครัด จะขยายโทษไม่ได้ ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่ได้ยื่นบัญชีหลังจากพ้นตำแหน่ง ตามมาตรา 295 ก็เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้ยกข้อกฎหมายนี้ขึ้นต่อสู้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยกเรื่องการพ้นจากตำแหน่งแล้วมาต่อสู้ จึงวินิจฉัยว่า ไม่เข้ามาตรา 295

ส่วน 4 คนในกลุ่มนี้ ที่เห็นว่าไม่เป็นความผิดฐานปกปิดทรัพย์สิน คือ พล.ท.จุล นายปรีชา นายสุจินดา และนายอนันต์

นายปรีชาซึ่งประกาศไว้ล่วงหน้าว่า จะวินิจฉัยตามหลักนิติศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น ให้เหตุผลว่า ป.ป.ช. วินิจฉัยกฎหมายหลักทรัพย์ ภาษีอากร และการบริหารจัดการหุ้นคลาดเคลื่อน

การบริหารจัดการหุ้น เป็นการดำเนินธุรกิจการค้า ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ การใช้อำนาจของ ป.ป.ช. จะต้องคำนึงถึงเสรีภาพประชาชน ถ้า ป.ป.ช. จะตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณว่าทำการค้าอย่างไร จะต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ต้องไม่ล่วงล้ำสิทธิส่วนตัว

นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินธุรกิจของผู้ถูกร้องที่มีอยู่ก่อนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกร้อง

ในคำวินิจฉัยส่วนตน นายปรีชา ยังระบุว่า คดี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายชวน หลีกภัย ที่ไม่แจ้งหุ้น ก็มีลักษณะคล้ายกับคดีนี้ แต่ ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าไม่มีความผิด เพราะไม่ได้ประโยชน์จากการปกปิด ซึ่งคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้ประโยชน์จากการปกปิดเช่นกัน หาก ป.ป.ช. ใช้มาตรฐานเดียวกัน ก็จะต้องวินิจฉัยคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณในทำนองเดียวกับคดีนายบัญญัติและนายชวนด้วย

ส่วนตุลาการกลุ่มที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิด อาทิ นายสุจิตให้เหตุผลว่า มาตรา 295 ต้องประกอบ 291 ให้เข้าใจว่าพ้นตำแหน่งก็ต้องยื่น และการให้คนอื่นถือหุ้นแทน ต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณรู้เห็น จึงถือว่าปกปิด

มติของตุลาการทั้ง 15 คนทำให้ปัญหาทางการเมืองยุติไประดับหนึ่ง แต่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกออกเป็น 3 ทิศทาง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการอย่างกว้างขวางไปอีกพักใหญ่

Thaksin Shinawatra, the tycoon tipped to become Thailand’s next prime minister, joins his supporters, 15 November 2000 after filing his application for his Thai Rak party for January 6, 2001 elections at an indoor sport stadium in Bangkok. The telecom magnate has been accused of failing to disclose his holdings in 17 companies, and has also been investigated over dubious transfer of shares in several other companies to a number of his relatives and servants. AFP PHOTO/Chaiwat SUBPRASOM / AFP PHOTO / CHAIWAT SUBPRASOM

การลงมติในครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เพราะตามวิธีพิจารณาของศาลนี้ การลงมติวินิจฉัยคดีเป็นกระบวนการที่ดำเนินการเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะเกรงว่า จะมีการชุมนุมของประชาชนซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

แต่ในวันที่ 2 สิงหาคมนั้นเอง ศาลรัฐธรรมนูญได้ประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้เตรียมพร้อมนำกำลังมารักษาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 30 นาที นับจากได้รับแจ้ง

คำขอจากศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มีข่าวแพร่สะพัดไปในวันที่ 2 สิงหาคมนั้นเองว่าจะมีการลงมติคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 3 สิงหาคม

วันที่ 3 สิงหาคม สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ สื่อประเภททีวีและวิทยุเกาะติดรายงานข่าวเป็นระยะๆ ประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มไปรวมตัวกัน พร้อมด้วยโปสเตอร์สนับสนุนนายกฯ ในขณะที่ผู้สื่อข่าวจากสื่อต่างๆ จำนวนนับร้อย ไปเตรียมพร้อมทำข่าว

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเดินทางมาร่วมประชุมวินิจฉัยคดีซุกหุ้นอย่างพร้อมเพรียงในเวลา 10.00 น. แต่ก็ยังไม่ยืนยันว่าจะมีการลงมติหรือไม่

จนกระทั่งเวลา 12.30 น. นายนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จึงออกมาแจ้งว่า จะมีการลงมติคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ในเวลา 16.30 น.

ข่าวยืนยันการชี้ขาดคดี ทำให้ทุกฝ่ายทุกวงการ แทบจะหยุดธุระการงานของตนเองมาจดจ่ออยู่กับการรอฟังผลคดี

จุดสนใจใหญ่ไม่แพ้ศาลรัฐธรรมนูญ คือตัว พ.ต.ท.ทักษิณเอง หลังจากเคร่งเครียดจากข่าวปล่อยว่าต้องเว้นวรรคแน่มาหลายวัน แต่ในวันนั้น ปรากฏว่ามีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดีผิดสังเกต

พ.ต.ท.ทักษิณมาร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานายกฯ ในเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบ แต่ไม่ยอมพูดอะไรเกี่ยวกับคดี โดยบอกว่า หมดความตื่นเต้นไปนานแล้ว ยังไม่รู้ว่าวันนี้ ต้องเอาสิบล้อมาขนของหรือไม่

เวลา 10.00 น. คุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน รุดเข้าทำเนียบและขึ้นไปพบนายกฯ ที่ห้องทำงาน

อาการของนายกฯ เป็นสัญญาณให้เกิดการตีความว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญคงจะเป็นผลบวกสำหรับนายกฯ

ข่าวกระซิบกระซาบในทำเนียบระบุตั้งแต่ช่วงเที่ยงๆ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณหลุดคดีแน่นอน โดยเฉพาะในแวดวงของพรรคร่วมรัฐบาล มีการบอกข่าวกันต่อไปเป็นทอดๆ

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ข่าวจากที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับการเปิดเผยครั้งแรกจากนายกระมล ซึ่งออกจากที่ประชุมทางประตูเล็กเป็นคนแรกเมื่อเวลา 16.20 น. และแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว

จากนั้นอีกพักใหญ่ นายประเสริฐ นาสกุล จึงแถลงข่าว โดยออกตัวเหยียดยาวถึงหลักในการพิจารณา และทำท่าจะจบการแถลงข่าวโดยไม่ได้แจ้งตัวเลขมติที่ประชุม ผู้สื่อข่าวต้องทักท้วงนายประเสริฐจึงได้แจ้งให้ทราบ ท่ามกลางเสียงหัวเราะเฮฮา

ที่ทำเนียบรัฐบาล บรรดา ส.ส. และรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทย มาร่วมรอฟังผลที่ห้องทำงานชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้าจนล้นออกมานอกห้อง

นาทีประวัติศาสตร์มาถึง เมื่อโทรทัศน์ถ่ายทอดสดคำสัมภาษณ์ของนายกระมล เมื่อเวลา 16.20 น. เสียงเฮดังลั่นขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณลุกขึ้นโอบไหล่คุณหญิงพจมาน พร้อมกับพูดด้วยสีหน้าดีใจสุดขีดว่า “คนนี้คือกำลังใจของผม”

บรรยากาศชื่นมื่นครอบคลุมไปทั่วทำเนียบ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา บุตรชายและบุตรสาวของนายกฯ มาถึงทำเนียบเพื่อแสดงความยินดีกับบิดา

พ.ต.ท.ทักษิณเปิดการแถลงข่าวเวลา 17.30 น. ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ว่าเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนได้เคลื่อนตัวออกไปจากประเทศไทยแล้ว อยากให้ทุกคนมีความหวังและทุ่มเท เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวของประเทศ

“รัฐบาลชุดนี้ จะทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนน้ำใจและความปรารถนาดีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ให้กำลังใจมาตลอดในช่วงฝันร้ายในรอบ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าวิกฤตฝันร้ายของชีวิตผมวันนี้ จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่จะขอเชิญชวนคนไทยทั้งชาติมาร่วมแก้ปัญหา”

หลังจากแถลงข่าว และพบปะรับมอบดอกไม้จากประชาชนที่มาแสดงความยินดีนับร้อยคน เวลา 18.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้าไปพักผ่อนในทำเนียบ จนกระทั่งเวลา 18.30 น. จึงนำครอบครัวเดินทางกลับบ้านพักที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เป็นอันสิ้นสุดวันอันยาวนานที่สุดวันหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล สดๆ ร้อนๆ ในวันเดียวกันนั้นเอง ประชาชนใน กทม. และเมืองใหญ่ ร้อยละ 62.68 เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดีแล้ว ร้อยละ 16.20 เห็นว่ายุติธรรมดีแล้ว ร้อยละ 13.38 ดีใจมากที่นายกฯ หลุดจากคดีซุกหุ้น ร้อยละ 5.63 เห็นว่าทำให้ไม่เกิดความวุ่นวาย

ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน มีร้อยละ 2.11