รัฐบาลนิวซีแลนด์ ประกาศสถานะสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2485

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

การประกาศสงครามของประเทศไทย

หลังจากมี ข้อกำหนดว่าต้องมีการประกาศสงครามเสียก่อนจึงเริ่มรบกันได้ เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งกำหนดไว้ในอนุสัญญากรุงเฮก (Hague Conventions) เมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ประเทศไทย ได้เข้าร่วมสงครามหลายครั้ง แต่ได้มีการประกาศสงคราม 2 ครั้ง คือ การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ การประกาศสงคราม ภายหลังการปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย

ประเทศไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ประเทศไทย ได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (ค.ศ.1932) ทั้งนี้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 1 ปี พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตสังคะ) หนึ่งในคณะราษฎรได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 (ค.ศ.1938)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น (วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) รัฐบาลไทยประกาศตนเป็นกลาง ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาไมตรีกับนานาชาติไว้ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตร หรือเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ (เพ็ญศรี ดุ๊ก, 2544 : 192)

หลังจากนั้น รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้กระทำการอันรุนแรงและบีบคั้นประเทศไทย จนไม่สามารถจะวางเฉย และประเทศไทยได้ลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) เวลา 12.00 น.

ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2485 นายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงเหตุผลต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ไทยมีความจำเป็นเนื่องจากได้ลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น และไทยจะได้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของชาวอังกฤษและอเมริกัน ที่ถูกญี่ปุ่นยึดและกักคุมตัวไว้ รวมทั้งการส่งชาวอังกฤษและอเมริกันกลับประเทศ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติขอบใจรัฐบาลที่ได้ดำเนินการบริหารประเทศมาเป็นอย่างดี พร้อมกับแสดงความไว้วางใจต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี โดยการปรบมือ (กรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด, 2540 : 354)

ในส่วนของ ประกาศสงครามฉบับนี้ นายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้บันทึกไว้ด้วยลายมือของตัวเอง ความว่า “ประกาศสงครามฉบับนี้ จอมพล ป. ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนแล้ว จึงได้จัดส่งไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้ลงนาม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 คน คือพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์ แต่ในวันประกาศสงครามนั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2485 และเป็นวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษด้วย เมื่อได้ตกลงในเรื่องของการประกาศสงครามแล้ว ก็ได้ตกลงกันว่าจะประกาศสงครามตอนเที่ยงวัน แต่พอเวลาประมาณ 11 โมงเศษๆ ได้มีเจ้าหน้าที่มารายงานจอมพล ป. ว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯในขณะนี้ มีเพียงสองคนเท่านั้น คือตอนนั้นนายปรีดีไม่ได้อยู่ในพระนคร คณะผู้สำเร็จราชการจึงลงพระนามเพียง 2 คนเท่านั้น แต่การที่จะรอให้ครบทั้ง 3 คน ก็เกรงว่าจะไม่ทันการณ์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีรับสั่งว่า ให้ประกาศชื่อของนายปรีดีเข้าไปด้วยก็แล้วกัน แม้จะไม่ได้ลงนามจริงๆ ก็ตาม ประธานคณะผู้สำเร็จราชการท่านบอกว่าท่านจะรับผิดชอบเอง จึงเป็นอันว่าประกาศสงครามฉบับนั้น มีลงชื่อจริงแค่สองคน แต่ตอนประกาศสู่สาธารณะให้ประกาศว่า มีลงชื่อครบทั้งสามคน”

อนึ่ง การประกาศสงคราม ครั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 54 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2482 ซึ่งบัญญัติว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึกหรือสัญญาอื่น ๆ กับนานาประเทศ

การประกาศสงครามนั้น จะทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตชาติ

หนังสือสัญญาใด ๆ มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยาม หรือ จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

เหตุการณ์ภายหลังการประกาศสงคราม

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ.1942) นายเวลลิงตัน คู เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน ได้ปรารภกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ควรประกาศสงครามกับไทย เพราะจีนเชื่อว่าไทยถูกญี่ปุ่นบีบบังคับ การประกาศสงครามกับไทย เท่ากับเป็นการผลักดันให้ไทยเข้าข้างญี่ปุ่น แต่เมื่ออังกฤษได้ทราบการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของไทยจากรัฐบาลสวิส อังกฤษจึงได้ประกาศสงครามกับไทยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2485 โดยให้ถือว่ามีสงครามกับไทย ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 และได้โทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ประจำประเทศ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอัฟริกาใต้ แสดงความหวังว่า ประเทศในเครือจักรภพ จะได้ดำเนินการอย่างเดียวกัน รัฐบาลแคนาดาไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย แต่ถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามทางเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกันกับประเทศบัลกาเรีย รัฐบาลออสเตรเลียประกาศสถานะสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2485 รัฐบาลอัฟริกาใต้ประกาศสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2485 โดยถือว่ามีสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลนิวซีแลนด์ ประกาศสถานะสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2485 โดยถือว่าสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศทั้งสามประเทศคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอัฟริกาใต้ เนื่องจากไม่มีเหตุอย่างใด ที่ก่อให้เกิดสถานะสงครามระหว่างกัน

สำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีไม่รับรู้การประกาศสงครามของประเทศไทย โดยมิได้ประกาศสงครามตอบ และยังคงถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง เว้นเสียแต่ในกรณีที่กำลังทหารไทย จะเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่นต่อกองกำลังของสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงจะปฏิบัติต่อกำลังทหารไทยเสมือนหนึ่งศัตรู นโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยของสหรัฐฯ กับอังกฤษจึงเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่นั้นมา

ภายหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ.1945) รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เร่งแสวงหาความไว้วางใจจากฝ่ายพันธมิตร ทั้งนี้ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออกคำแถลงการณ์ตามที่สมาชิกรัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ ดังข้อความต่อไปนี้ คือ

1. คำประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการประกาศโดยพลการ มิได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็มิได้รับรองทั้งคณะ ดังนั้น คำประกาศสงครามจึงไม่มีผลพูกพันชาวไทยซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

2. ประเทศไทยจะคืนดินแดนในพม่าและมลายูที่ยึดครองไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 (ค.ศ.1943) ให้แก่อังกฤษ

ในส่วนของสงครามครั้งต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทอินโดจีน ปลายปี พ.ศ. 2483-2484 (ค.ศ. 1940-1941) สงครามเกาหลี ในปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) หรือสงครามเวียดนาม ในปีพ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) ซึ่งไทยมีส่วนร่วมทำสงครามทั้งสิ้น ปรากฏว่าไทยไม่ได้ประกาศสงครามแต่อย่างใด

ที่มา : สถาบันพระปกเกล้า