E-DUANG : “สวดมนต์” เป็น “การปลุกระดม” มวลชน หรือไม่

มีความละเอียดอ่อนอย่างเป็นพิเศษต่อกรณีการหยิบยกคำว่า “ปลุกระดม” มาใช้กับกรณี “วัดพระธรรมกาย”
ขอให้ฟังจากปาก นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ
“การปลุกระดมให้พระภิกษุและลูกศิษย์วัดมารวมตัวกันต้องไม่มี”
ขอให้ฟังจากปาก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง
“อนุญาตให้ศิษย์และพระเข้าไปในวัดได้ แต่ไม่ให้ทางวัดทำกิจกรรมที่เป็นการปลุกระดมมวลชนใดๆทั้งสิ้น”
อย่างไรหรือที่เรียกว่า “ปลุกระดมมวลชน”
เพราะว่า “การเคลื่อนไหว” ของพระภิกษุ สามเณร และคณะศิษยานุศิษย์ นับตังแต่สถานการณ์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา
แม้จะมีการชุมนุม แต่ก็ไม่เหมือนกับการชุมนุมมวลชนในกาลอดีต
ไม่ว่าอดีตของ”พันธมิตร” ไม่ว่าอดีตของ”กปปส.”
ต้องยอมรับว่า การชุมนุมมวลชนของ”วัดพระธรรมกาย”มีลักษณะ “พิเศษ”

หากดูจากการชุมนุมในพื้นที่ตลาดกลาง คลองหลวง นับแต่สถาน การณ์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา
อาจปรากฏ “โปสเตอร์” อาจมีการชูป้ายและ “ข้อความ”
แต่โปสเตอร์และข้อความเกือบทั้งหมดแสดงเจตนารมณ์และเป้าหมายอย่างเด่นชัด
1 ขอเข้าไปในวัด
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำแดงความเป็นเจ้าของและเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างวัด
สร้างวัดร่วมกับ “พระ” มายาวนานกว่า 40 ปี
คำว่า “วัดของเรา” จึงเป็นสโลแกนที่เห็นผ่านโปสเตอร์ผ่านป้ายผ้าและที่เปล่งออกมาจากปาก
1 ซึ่งสำคัญคือ “สวดมนต์”

ตัวอย่างสดๆร้อนๆ ก็คือ การเผยแพร่ข้อความผ่านสื่อออนไลน์มา ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม
นั่นก็คือ การนัดสวดมนต์ร่วมกันในวันอาทิตย์ 12 มีนาคม
เป็นการนัดสวดมนต์พร้อมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรืออยู่ภายนอกวัด ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือนอกประเทศ
เป้าหมายคือ 30,000,000 จบ
หากคณะศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันเดินทางเข้าวัดพระธรรมกายเพื่อ “สวดมนต์” ร่วมกัน
จะถือว่าเป็นการชุมนุมทาง “การเมือง” หรือไม่
จะถือว่าการสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรอย่างพร้อมเพรียงกันจะเป็นการ “ปลุกระดม” ทางการเมืองหรือไม่
คำถามนี้เสนอโดยตรงไปยัง “กระทรวงยุติธรรม”
คำถามนี้เสนอโดยตรงไปยัง “ดีเอสไอ” และ “ตำรวจ”รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประจำจังหวัด
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เจ้าคณะจังหวัด”