‘คนกับกล้อง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

เนิ่นนานมาแล้ว ที่ผมเก็บนามบัตร ซึ่งมีชื่อและอาชีพ ว่า “ช่างภาพสัตว์ป่า” เข้าลิ้นชัก

เพราะเสือดาวตัวหนึ่งบอกความจริงให้รู้ ช่วงเวลาที่พบกัน ผมกดชัตเตอร์ด้วยใจที่เต้นตูมตาม มือสั่นระริก เพราะความตื่นเต้นและหวาดหวั่น

หลังจากวันนั้น ผมก็รู้ว่า ผมยังห่างไกลกับคำว่า ช่างภาพสัตว์ป่ามากนัก

อีกนั่นแหละ ในฐานะที่ใช้กล้องเป็นเครื่องมือ ผมย่อมหลีกไม่พ้นการเป็นผู้รบกวน กับคำว่า “ช่างภาพ”

ผมจึงต้องบอกและเตือนสติตัวเองอยู่กระทั่งถึงวันนี้ว่า การถ่ายภาพธรรมชาติให้ดีนั้น สำหรับผมมันไม่ง่ายนัก

นอกจากมีเครื่องมือ ทักษะที่ดีแล้ว มีปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น ภูมิอากาศ ก็เป็นสิ่งกำหนดว่างานจะออกมาดีหรือไม่ด้วย

แม้ว่าถึงวันนี้ การถ่ายภาพจะพัฒนาไปไกล มีกระบวนการ “หลังกล้อง” อันสามารถสร้างและแก้ไข ทำให้ภาพดี สวยงามอย่างที่ต้องการแล้วก็เถอะ

ผมยังเชื่อว่า หาก “ต้นทาง” มาดี นั่นจะทำให้เราได้งานที่ดียิ่งขึ้น

การถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์ ไม่ง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ การถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ

ถ่ายสัตว์ป่าให้ได้ภาพสวย โดยเบื้องหลังไม่ได้เป็นโศกนาฏกรรม

 

ผมเริ่มต้นอาชีพนี้ หลังจากดูนกมาร่วมสิบปี

การดูนกสอนให้รู้จักนกชนิดต่างๆ รวมทั้งสัตว์ป่า

รู้และเห็นความเป็นชีวิต ความรู้สึก หวาดกลัว ความรัก ความห่วงใย ซึ่งเหล่านกและสัตว์ป่ามี

โดยเฉพาะความรักระหว่าง พ่อ, แม่, ลูก

หลังจากนั้น จึงเริ่มต้นบันทึกภาพพวกมัน

มีกล้อง มีเลนส์เทเลโฟโต้ มีขาตั้งกล้อง, รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ผมก็พิมพ์นามบัตรว่า เป็นช่างภาพสัตว์ป่า แล้ว

 

ตั้งแต่เริ่มต้น ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติใดๆ ดอยอินทนนท์ แก่งกระจาน หรือเขาใหญ่ หากบริเวณใดมีรังนก ที่นั่นจะเต็มไปด้วยคนถ่ายรูป พร้อมกับเลนส์เทเลโฟโต้

ยุคที่กล้องยังไม่พัฒนามาก แฟลช คืออุปกรณ์จำเป็น บางคนใช้ไฟส่องเฝ้าถ่ายทั้งวัน พ่อ-แม่นกนำอาหารมาป้อนยังไม่ทันป้อน ก็ต้องบินหนีด้วยความตกใจ บางตัวต้องทิ้งลูกทั้งวันไม่กล้าเข้ามา

กิ่งไม้บังรังอยู่ตัดออก มองเห็นรังไม่ชัด การซ่อนตัวอย่างมิดชิดในซุ้มบังไพรเป็นเรื่องเสียเวลา

การตัดกิ่งไม้ที่บังรังนกออกนั่น สำหรับนก นั่นคือหายนะของพ่อแม่นก งู, หมาไม้ หรือสัตว์ที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณ ทำงานได้ง่ายขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เรามักพบเสมอคือ พ่อ-แม่นกไม่กลับมา นั่นเพราะนกรับรู้ถึงความผิดปกติและระแวง

ผมเลือกทำซุ้มบังไพรทิ้งไว้ให้นกคุ้นเคย เพราะเชื่อว่า นี่คือสิ่งจำเป็น บอกตัวเองเสมอว่าพวกมันมีสัญชาตญาณระวังภัยเหนือกว่าที่ผมคิด

 

มีความจริงอยู่ว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หากเริ่มต้นด้วยเหตุผลซึ่งผิด ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่ถูกต้องไปด้วย

เริ่มการถ่ายภาพธรรมชาติ เพราะอยากได้รูปสวยงาม หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ความสำคัญสูงสุดเป็นเพียงการได้ภาพ

เช่นนี้ คงไม่คำนึงนักว่า เบื้องหลังภาพสวยงามจะเป็นเช่นไร

วัวแดง – สัตว์ป่ามีสัญชาตญาณระวังภัยที่ดีเลิศ แม้ว่าจะซ่อนตัวอย่างมิดชิดในซุ้มบังไพร แต่พวกมันก็รับรู้ว่ามีคนอยู่ในบริเวณนั้น

งานของผมคือ เล่าเรื่องราวของสัตว์ป่า ใช้ชีวิตในป่ามานาน นั่นย่อมหมายความว่า ผมเป็นคนหนึ่งซึ่ง “รบกวน” เป็นคล้ายสิ่งแปลกปลอม ที่ชีวิตในป่าไม่ยอมรับ

การถ่ายภาพสัตว์ป่า ก็ไม่ต่างจากถ่ายภาพสงคราม ภาพจากสมรภูมิ ไม่ว่าจะให้ความรู้สึกใด สวยงาม หรือหดหู่ โหดร้าย เบื้องหลังมันเป็นโศกนาฏกรรม

ถ่ายภาพสัตว์ป่า หากไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ถ่าย ย่อมไม่ต่างจากภาพสงครามเช่นกัน

 

หากจะใช้คำว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว นับตั้งแต่ผมเริ่มต้น กล้องพัฒนาไปไกล เราสามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าได้อย่างน่าตื่นตา

อีกทั้งเรื่องราวของสัตว์ป่าก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พวกมันกำลังเผชิญกับปัญหา ซึ่งมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง แหล่งอาศัยที่เหมาะสมลดน้อยลง การออกมานอกป่า และต้องปะทะกับคน ทวีความรุนแรง มีคนอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าพวกมันจะเดินไปทางไหน

ช้างในอุทยานแห่งชาติ ถูกคนถือกล้องต้อนหน้าต้อนหลัง หลายตัวพยายามปรับตัว หลายตัวหงุดหงิด และมีอาการก้าวร้าว พ่อแม่นกหลายตัวทิ้งรัง

“ภาพ” ของคนถือกล้อง จึงคล้ายจะเป็นผู้ร้ายในสายตาคนจำนวนไม่น้อย

 

กล้องนั้นเป็นเครื่องมือที่ดี สำหรับการนำพาไปเรียนรู้ทำความเข้าใจธรรมชาติ และสัตว์ป่า

“กล้อง” ทำหน้าที่อย่างที่มันถูกสร้างมา

ส่วนภาพที่ได้ จะสวยงาม หรือเบื้องหลังจะคล้ายเป็นโศกนาฏกรรม

นั่นย่อมอยู่ที่คนถือ •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ