E-DUANG : “สาย” เกินไปหรือเปล่า “ท่านสุวพันธุ์”

การพยายามหยิบยกนำเอา “พระธรรมวินัย” และกฎ “มหาเถรสมาคม” มาเป็นเครื่องมือ
เหมือนกับเป็น “ความรอบคอบ” เป็น “ความรัดกุม”
ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายก รัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
แต่คำถามก็คือ “สาย” เกินไปหรือไม่
เพราะตอนนี้ทุกอย่างอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 แล้วอย่างบริบูรณ์
เงาแห่ง “มาตรา 44” ปกคลุมอยู่โดยทั่ว
แม้จะมีความพยายามให้บทบาทกับ “เจ้าคณะจังหวัด” จัดส่ง “พระวินยาธิการ”ลงไปในพื้นที่ พร้อมกับคนของสำนักงานพระ พุทธศาสนาแห่งชาติ
แต่ “อะไร” คือด้านที่ “ครอบงำ”
เป็น ดีเอสไอ เป็น ตำรวจ เป็น ทหาร ซึ่งรายเรียงกันอยู่โดยรอบพื้นที่วัดพระธรรมกายมิใช่หรือ

ความจริง บทบาทของ “มหาเถรสมาคม” บทบาทของ “พศ.”น่าจะเห็นอย่างเด่นชัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 มาแล้ว
แต่มีใครเคย “เห็น” บ้าง
บทบาทในที่นี้คือบทบาทในการประสานเพื่อนำเอา “หมายเรียก” ไปแจ้งให้กับ พระเทพญาณมหามุนี ได้รับทราบข้อกล่าวหา
“ดีเอสไอ” เคยถาม “พศ.” บ้างหรือไม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี น่าจะรู้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น่าจะรู้
เพราะกำกับดูแลงาน “พศ.” อยู่
ความรู้สึกว่า “พศ.” มีความหมายก็ต่อเมื่อปฏิบัติการในเดือนมิถุนายน 2559 ล้มเหลว
แต่ทุกอย่างก็ “สาย” ไปแล้ว
เพราะที่อยู่ในมือของ “ดีเอสไอ” เป็น “หมายค้น” เพื่อบรรลุไปสู่ “หมายจับ”
ยิ่งผ่านเดือนธันวาคม 2559 ก็ยิ่ง “สาย”

การนำเอา “กฎ” มหาเถรสมาคมมาเป็น “เครื่องมือ” ในการจัดการกับปัญหาในวันนี้จึงเท่ากับเป็นการฟ้อง
“ฟ้อง” ว่าที่ผ่านมาเคย “คิด” ในเรื่องนี้หรือไม่
หาก “หมายเรียก” ในเบื้องต้นกระทำไปตาม “หมายเรียก” อื่นจำนวนแสนจำนวนล้านก็คงไม่กลายเป็น “ปัญหา”
เมื่อสถานการณ์กลายเป็นเรื่องของ “มาตรา 44” กลายเป็นเรื่องในทาง “การเมือง” ไปเรียบร้อยแล้ว
ขอให้ดูจากที่ออก “หมายเรียก” พระและฆราวาสอื่นๆ ตามมาหลังจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 ตามอำนาจของ “มาตรา 44” จำนวน 62 รายตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ว่าได้ผลแค่ไหน เพียงไร
มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความเฉียบขาด ตามอำนาจของ “มาตรา 44” หรือไม่