ฉัตรสุมาลย์ : ไปเยี่ยมแม่ชีที่พม่า

แม่ชีที่พม่าเขาเรียกว่า ถิลาชิ่น เพี้ยนมาจาก สีลาชิ่น ค่ะ

แปลง่ายๆ ว่า นางผู้ถือศีล ในกลุ่มเดียวกันกับแม่ชีทั่วโลก

ต้องบอกว่า ถิลาชิ่นของพม่าเป็นปึกแผ่นและมีคุณภาพทีเดียว

เขาใส่ชุดสีชมพูนะคะ เสื้อตัวบนแขนยาวแต่ตัวสั้นเพียงเอว ข้างล่างก็เป็นผ้านุ่งแบบเดียวกับที่เห็นผู้หญิงพม่าใส่ มีผ้าครองสีชมพู แต่มีผ้าสีน้ำตาลพับและพาดอยู่บนบ่า ทำนองคล้ายกับสังฆาฏิ แต่เป็นผ้าผืนเฉยๆ ไม่ได้เย็บแบบสังฆาฏิ

ใส่รองเท้าแตะคีบสีดำหรือน้ำตาล

เรื่องรองเท้าแตะคีบนี้เป็นวัฒนธรรมของพม่าจริงๆ ไม่ว่าหญิงชายใส่เหมือนกันหมด แต่ตัวแบบพม่าก็ใส่รองเท้าแตะคีบ ใส่สูทนุ่งกางเกงก็ยังใส่รองเท้าแตะคีบค่ะ

ถ้าไม่ระวังก็เดินไม่สวย คือเดินตามสบาย เท้าจะผายออก

จำนวนพระภิกษุสงฆ์ในพม่า 5 แสนรูป บางท่านก็ตอบให้เก๋ว่า ครึ่งล้าน ก็เท่ากันนั่นแหละ แต่เอ็นจีโอที่ติดตามเรื่องพระภิกษุกระซิบว่า จำนวนลดลง ตอนนี้เหลือเพียง 4 แสน

ส่วนจำนวนแม่ชีนั้น พูดตรงกันหมด คือ 3 หมื่น

ไปคราวนี้ จำกัดอยู่ในย่างกุ้งค่ะ

ประทับใจแม่ชีที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเถรวาท ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แม่ชีสองรูปที่เราพบคือ ท่านยูซานะญาณี และท่านนิมลา จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่เดลลีทั้งสองรูป

ท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนสอบเข้าทำปริญญาเอกนั้น ท่านสอบติดอันดับที่หนึ่ง และสอง ตามลำดับ ในหมู่พระเณรที่พยายามเข้าเรียนที่ ม.เดลลี เขามีโควต้าตามจำนวนอาจารย์

เช่น อาจารย์ที่จะคุมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนั้น มีนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่ด้วยเต็มที่ท่านละ 5 คน ถ้านักศึกษาที่ทำปริญญาอยู่ด้วยใช้เวลานาน อาจารย์ก็ไม่สามารถรับนักศึกษาได้มากกว่า 5 คน

ในขณะที่รอโควต้า ท่านเรียนปริญญาโทไปแล้ว ก็เลยต้องไปลงปริญญาโทอีกใบหนึ่ง เพื่อรอจนกว่าจะได้โควต้า

จะเห็นว่า พระที่พม่านิยมมาศึกษาระดับปริญญาโทและเอกต่อที่อินเดีย ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมอาจารย์ใหญ่ระดับรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ก็ได้รับการต้อนรับดี เพราะท่านเป็นนักศึกษาที่จบจากอินเดีย ก็นับเป็นรุ่นน้องของผู้เขียน เพราะผู้เขียนไปเรียนตั้งแต่สมัย ค.ศ.1962

ที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเถรวาทของพม่า มี 4 คณะ คณะปริยัติ คณะปฏิบัติ คณะภาษา รวมอังกฤษ บาลี ฯลฯ และคณะธรรมทูต คณะหลังสุดนี้ รวมการสนทนาข้ามศาสนาด้วย

มหาวิทยาลัยใหญ่โตมาก แต่มีนักศึกษาเพียง 300 คน/รูป คือมีทั้งฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์

 

พม่าเองไม่มีภิกษุณีสงฆ์ แต่ก็มีนักศึกษาจากนิกายมหายานที่มาเรียนที่นี่ มีภิกษุณีหลายรูป

ท่านธัมมนันทาไปนั่งฉันในกลุ่มของภิกษุณีมหายานเพราะท่านฉันมังสวิรัติด้วยกัน จึงทราบว่า จากเวียดนามมีนักศึกษาทั้งภิกษุ ภิกษุณี และฆราวาสมากถึง 60 รูป/คน จากประเทศอื่น เช่น เขมร ลาว อินเดีย เป็นต้น ท่านเล่าว่า เคยมีคนไทย แต่ปีนี้ไม่มี

พระนักศึกษาต่างชาติเหล่านี้ เสียเพียงค่าเดินทาง เมื่อมหาวิทยาลัยรับเข้ามาแล้ว ค่าใช้จ่ายทุกอย่างมหาวิทยาลัยดูแลทั้งหมด นั่นหมายถึงรัฐดูแลค่ะ น่าประทับใจทีเดียว

เนื่องจากสถานที่ใหญ่โตโอ่โถง ผู้เขียนไปจากท่าพระจันทร์ ที่มีพื้นที่จำกัด นึกในใจว่า เขาน่าจะรับได้เป็นหมื่นนะ แต่คงติดด้วยงบประมาณ

แต่ถ้าคุณภาพดี ก็จะสามารถดึงดูดนักศึกษาที่มีฐานะและนักศึกษาที่ด้อยโอกาสจากประเทศเพื่อนบ้านได้

 

คุณภาพของแม่ชี อย่างน้อยที่สุดอาจารย์สองรูปที่เราพบนั้น เราประทับใจมาก นอกจากองค์ความรู้แล้ว ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชาวพม่า บรรดาพระภิกษุระดับคณบดีที่มาต้อนรับคณะของเรา ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ชัด

ครั้งหนึ่งมีท่านคณบดีที่เป็นพระภิกษุชาวพม่าไปร่วมในงานประชุมเรื่องพระวินัยที่สารนาถ เจ้าภาพเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาของทิเบต ท่านยกพระไตรปิฎกภาษาพม่าทั้งชุดไปถวายองค์ทะไลลามะ

ก่อนถวายก็มีการอารัมภบทแนะนำที่มาของพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ

ปรากฏว่าไม่มีใครในที่ประชุมเข้าใจว่าท่านพูดอะไรเลยสักคน องค์ทะไลลามะทรงพระสรวลแล้วรับสั่งว่า “Your English is a bit difficult” ภาษาอังกฤษของคุณฟังยากนะ

วันที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะของเราที่มีทั้งคริสต์และพุทธจากนานาชาตินั้น ต้องบอกว่า คณะประทับใจแม่ชีค่ะ

วันที่ 21 หลังงานประชุม คุณวินวิน ชาวพุทธพม่าที่ดูแลท่านธัมมนันทา นัดพบแม่ชีทั้งสองรูปที่ร้านอาหารหรูในเมืองย่างกุ้ง ท่านเลือกร้านอาหารของพวกชาน (ไทใหญ่) เป็นก๋วยเตี๋ยวแบบท้องถิ่น มีฟองเต้าหู้แผ่นบางมากทอดกรอบเป็นเครื่องเคียง ดูแม่ชีทั้งสองรูปจะฉันได้ดี แต่ท่านธัมมนันทานั่งละเลียดได้เพียงสองสามคำ ท่านมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า ท่านระวังสุขภาพไม่ฉันของทอด

จากนั้น แม่ชี ดร.ยูซานะญาณี พาคณะเราไปเยี่ยมสำนักปฏิบัติธรรมที่ท่านสังกัด ชื่อสำนักปฏิบัติธรรมญาณจารี ที่มีแม่ชีตั้ง 200 รูป คุณยายหัวหน้าแม่ชีอายุ 88 ยังแข็งแรงออกมารับแขกได้ แต่ดูเหมือนงานบริการสำนักคงจะมีแม่ชีรองลงไปดูแล

พม่าทั้งพระและแม่ชีเน้นการศึกษา จะเห็นว่าชั้นล่างของอาคารสี่ชั้นที่เป็นอาคารที่พักแม่ชีนั้น สามชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย แต่ชั้นล่าง ห้องใหญ่ 3-4 ห้อง เป็นห้องเรียน ตอนที่เราไปเยี่ยมกำลังเรียนธรรมศึกษา มีแม่ชีรุ่นพี่เป็นคนสอน

 

ต้นสาละศรีลังกา ที่เรียกว่า canon ball tree ที่อยู่หน้าอาคารที่พัก ต้นใหญ่มาก เขาว่าอายุ 50 ปีแล้ว กิ่งดอกตรงโคนต้นดก และส่งกลิ่นหอมในช่วงเช้า

ที่ต้องพูดชัดเจนว่าสาละศรีลังกา เพราะสาละที่กุสินารา สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น เป็นสาละอินเดีย คนละอย่างกัน

แต่ที่เราเห็นคุ้นมามากก็จะเป็นสาละศรีลังกานี่เอง

ที่วัตรเรามีสาละอินเดีย 2 ต้น พยายามทะนุบำรุงมาก ตอนนี้ต้นเพิ่งสูงได้สัก 1 ฟุต อยากรู้ว่าออกดอกมาหน้าตาเป็นอย่างไร คงอีกหลายปีกว่าจะได้เล่าให้ฟังทางคอลัมน์นี้

ดูเหมือนที่สำนักนี้น่าจะมีแม่ชีที่เป็นคนเฒ่าคนแก่อยู่หลายรูป ตอนที่เดินผ่านโรงครัว มีปิ่นโตสเตนเลส (สระ เอ นะคะ ไม่ใช่สระ แอ) หลายเถาวางอยู่

แม่ชีสาวๆ ที่นำชมอธิบายว่าทางโรงครัวส่งปิ่นโตให้แม่ชีที่ไม่ลงมาฉันร่วมกับคณะเพราะเจ็บไข้ หรือเพราะแก่เฒ่า ถ้านับจากแม่ชีที่เป็นเจ้าสำนัก ท่านอายุ 88 น่าจะมีแม่ชีที่รุ่นเดียวกับท่านอยู่หลายรูป แม่ชีสาวๆ ก็เรียนหนังสือไป วัยกลางคนก็ดูแลกิจการของสำนัก

บางรูปอย่างท่าน ดร.ยูซานะญาณี เจ้าภาพของเรา ท่านก็ไปสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ในช่วงเปิดเทอมก็อยู่ที่หอพักในมหาวิทยาลัย จะได้กลับมาที่สำนักก็เฉพาะช่วงสั้นๆ

อาคารสองชั้น อีกด้านหนึ่งของสำนักเป็นคลินิกค่ะ น่าประทับใจ มีหมอมาประจำทั้งวัน อาทิตย์ละวัน

แต่วันที่หมอมาประจำก็จะตรวจโรคให้ทั้งคนไข้ที่เป็นแม่ชีในสำนัก และเปิดบริการให้สาธารณะด้วย

ประชาชนที่อยู่ในละแวกนั้นก็สามารถมาหาหมอรับยาไปได้

 

มีรถบัสจอดอยู่สองคัน ปรากฏว่า ตอนเช้าแม่ชีจะออกบิณฑบาต โดยรถตู้จะไปส่งตามสายต่างๆ แล้วก็รับกลับ อย่าลืมว่า สำนักนี้มีแม่ชีถึง 200 อาหารการขบฉันจึงอาศัยการบิณฑบาตเป็นหลัก

เมื่อกลับมา อาหารบิณฑบาตที่ได้มาจะรวมเป็นกองกลาง แบ่งให้กับแม่ชีที่เจ็บไข้ในปิ่นโตที่เราเห็นตอนที่เราเดินผ่านหน้าครัว

ในหอฉันซึ่งเป็นห้องกว้างอยู่ชั้นล่างของอาคาร แม่ชีนั่งฉันกับพื้น นั่งล้อมรอบโต๊ะทรงกลมตัวเตี้ย ดูก็น่าจะสะดวกดีอยู่ ใครนั่งตรงไหนก็ตรงนั้น มองขึ้นไปมีรูปที่ติดตามแนวที่กำแพงเหนือหน้าต่าง เป็นรูปสัตว์นรกที่ประพฤติผิดศีล 5 กำลังรับโทษในนรกขุมต่างๆ

คิดว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้น่าจะใช้ในการแสดงธรรม แล้วต่อมาดัดแปลงเป็นหอฉัน รูปภาพมันไม่ค่อยสอดคล้องกับการขบฉันสักเท่าไร

อีกฝั่งหนึ่งของผนังในหอฉัน เป็นรูปทายกทายิกาที่ถวายทานเป็นประจำแก่สำนักแม่ชีญาณจารี

ท่าน ดร.ยูซานะญาณีมีธุระอื่นที่ต้องรีบไป ท่านเรียกแม่ชีสาวๆ รุ่นน้องสามรูปมาให้เราได้พูดคุยซักถาม พูดคุยกันแล้ว คิดว่าไม่น่าจะไปได้ไกล

ท่านธัมมนันทาก็เลยให้สัญญาณแก่คุณวินวิน ว่า เราจะไปต่อละนะ

 

การเยี่ยมเยียนสำนักแม่ชีที่อยู่กลางใจเมืองย่างกุ้ง เป็นภาพสะท้อนว่า พม่าให้ความสำคัญกับการศึกษา

แม่ชีพวกนี้จะเป็นกำลังให้พระศาสนาในระยะยาว เสียแต่เพียงว่า คณะสงฆ์ก็พอใจที่จะให้แม่ชีเป็นแม่ชีเท่านั้น แม้การสอนวิปัสสนาก็จำกัดเฉพาะพระภิกษุสงฆ์

ตรงนี้ต่างจากบ้านเรา ที่ผู้สอนวิปัสสนาสามารถจะเป็นแม่ชี หรือแม้ฆราวาสด้วยซ้ำ

การดูแลสำนักที่มีสมาชิก 200 รูป ไม่ใช่ธรรมดา แสดงถึงการสนับสนุนจากสังคมชาวพุทธพม่า ทั้งที่บ้านเมืองเขาก็ยังลำบากอยู่

เมื่อได้เห็นบรรยากาศในพม่า ก็สามารถตรวจสอบเปรียบเทียบกับสังคมพุทธบ้านเราได้ เปรียบเทียบเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา