E-DUANG : ทำไม “คนดี” จึงชอบแก้ไข ต่างกับ “คนอัลไล”

ไม่มีอะไรที่ตรวจสอบความเป็นลักษณะ”มวลชน”ได้ยอดเยี่ยมเท่ากับการดำรงอยู่ของ “คำพังเพย”
คำพังเพยมีรากฐานมาจาก “คำพูด” หรือ “คำเขียน”
เป็นคำพูดหรือคำเขียนอันเป็นเงาสะท้อนในทาง “ความคิด” และ “ความเห็น”
ต่อ “พฤติกรรม” ต่อ “บทบาท”
อย่างเช่นคำว่า “ดีแต่พูด” ก็นำเสนอขึ้นในพฤติกรรมของคนๆ หนึ่งในบทบาทๆ หนึ่ง
หากเสมอเป็นเพียง “ข้อกล่าวหา” ลอยๆ ก็แล้วกันไป
แต่หากเสนอขึ้นต่อคนๆ หนึ่งแล้วมีการเปรียบเทียบกับบทบาทๆ หนึ่งและเห็นด้วย
เมื่อการเห็นด้วยแผ่ไปอย่างกว้างๆก็กลายเป็น “บทสรุป”
ยิ่งคนๆ นั้นแสดงบทบาทๆ นั้นอย่างต่อเนื่อง ครั้งแล้วครั้งเล่าบทสรุปนี้ยิ่งจำหลักอย่างหนักแน่น
กลายเป็น “สมญา” กลายเป็น “ฉายา”

ความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ลักษณาการอัน “ดีแต่พูด” นั้นมักจะ ดำเนินไปกับบุคคลซึ่งขาดความรับผิดชอบ
เมื่อประสบ “ปัญหา” มักไม่สำรวจ “ตัวเอง”
ตรงกันข้าม ต่อแต่ละ “ปัญหา” มักจะมองข้ามจุดอ่อน ความบกพร่องอันเป็นของ “ตัวเอง”
แล้ว “โยน” ไปให้คนอื่น องค์ประกอบอื่น
วิถีดำเนินของบุคคลประเภท “ดีแต่พูด” จึงมักจะสัมพันธ์กับการแสดงออกในท่วงทำนอง
“ดีเอาเข้าตัว ชั่วโยนให้คนอื่น”
กระทั่งนำไปสู่บทสรุปจากความจัดเจนซึ่งดำรงอยู่ภายในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
“คนดีชอบแก้ไข คน “อัลไล” ชอบแก้ตัว”
ไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุคกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เยี่ยงอย่างของ “บุคคล” ประเภทนี้มีให้เห็นได้อย่างไม่ขาดสาย
แท้จริงแล้ว คนเหล่านี้มองข้ามบทบาทของ”การกระทำ”

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ บทบาทของคนๆ หนึ่ง บทบาทขององค์กรหนึ่ง เราจะใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบ
ใช้ “คำพูด” หรือ “การกระทำ”
จึงปรากฏตัวอย่างจำนวนมากของแพทย์ประเภทที่เอาแต่ออก”ใบสั่งยา” โดยแทบไม่เคยสนใจว่า ยาเหล่านั้นมีผลต่อคนไข้อย่างไร
นั่นแหละ คนประเภท”ดีแต่พูด”
แท้จริงแล้ว ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงต้องดูว่า “ใบสั่งยา”นั้นทำให้คนไข้หายเจ็บ หายไข้หรือไม่
ผลจาก”การทำ” ผลจาก”การปฏิบัติ”ต่างหากคือด่านสุดท้าย
นักการเมืองบางคนเอาแต่พูด พรรคการเมืองบางพรรคเอาแต่ออกแถลงการณ์ แต่ไม่เคยสนใจว่า”ผล”จะลงเอยอย่างไร
การเป็น “คนดีแต่พูด” จึงสัมพันธ์กับ “คนอัลไล” เสมอ
บรรทัดฐานในการ “ตรวจสอบ” คนเหล่านี้คือ “การปฏิบัติ”