เกิดอะไรขึ้นบ้างก่อน-หลัง “รัฐประหาร 19 ก.ย.49” จากปรากฎการณ์ไล่ทักษิณ ถึง ผลไม้พิษ คมช.

หากย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปี(2549) ที่แล้ว ในวันนี้ (19 ก.ย. ) ถือเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย” หลังเกิดวิกฤตทางการเมืองที่ไม่มีคาดคิด ว่าในรอบ15 ปี ประเทศไทยจะเกิดรัฐประหาร การยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลอีกครั้ง ในขณะนั้นนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผจญปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน หลายปัญหาถาโถม ซึ่งถ้าไล่ลำดับเหตุการณ์ก่อนวันที่19 ก.ย. มีการชุมนุมประท้วง การบริหารประเทศของ นายทักษิณ จนหลายฝ่ายกังวลและเป็นห่วง ว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย 2549
.
ไล่เรียงจุดเริ่มต้นความไม่พอใจในการบริหารประเทศของอดีตนายกฯ สมัยนั้น เคยมีการชุมนุมต่อต้านประมาณกลางปี 2547 ช่วงปลาย รัฐบาลทักษิณ1 กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ รวมตัวกัน เพื่อขับไล่ นายทักษิณ ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และส่งผลให้เกิดการชุมนุมอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาดังกล่าว
.
ต่อมาในปี 2548 กลุ่มผู้ชุมนุมสร้างแรงกดดันโดยการบีบบังคับให้ นายทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วง-ต่อต้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชั้นกลาง-คนชั้นสูง ร่วมกับกลุ่มสันติอโศก กลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว และพนักงานของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ต่อต้านการแปรรูป รวมถึงบุคลากรด้านการศึกษาและปัญญาชน
.
ถัดมาในปี 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ก่อกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ หลังจากวันที่ 23 มกราคม นายทักษิณ ได้ดำเนินการขายหุ้นที่ครอบครองทั้งหมดในกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้กับบริษัทเทมาเส็ก มูลค่ารวมทั้งหมด 73,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการชุมนุมหลายครั้งและยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ
.
24 กุมภาพันธ์ 2549 นายทักษิณ ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฏร และต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่ตอนนั้นเกิดเหตุการณ์ระหว่างก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคฝ่ายค้าน ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ได้ออกมาประกาศว่าจะคว่ำบาตร (บอยคอต) การเลือกตั้งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ โดยการไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน และยังเดินรณรงค์ให้ผู้ไปใช้สิทธิ์กาในช่องที่ไม่ประสงค์ออกเสียงลงคะแนน (โหวตโน)
.
3 มีนาคม 2549 กลุ่มผู้ที่สนับสนุน นายทักษิณจำนวนมาก (สื่อสำนักข่าวไทยได้ระบุจำนวนผู้คนที่มาเข้าร่วมชุมนุมกว่า 200,000 คน) ได้รวมตัวชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง หลังจากนั้นมาในช่วงกลางเดือนมีกลุ่มผู้สนับสนุนนายทักษิณเดินทางมาจากภาคเหนือและภาคอีสานมารวมตัวชุมนุมกันที่สวนจตุจักร
.
2 เมษายน 2549 วันเลือกตั้ง รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) ได้ทำการฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อแสดงถึงการดื้อแพ่ง
.
สำหรับผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการ ที่ประกาศออกมาในวันที่ 3 เมษายน 2549 นายทักษิณ อ้างว่าตนเองได้คะแนนเสียงสนับสนุนถึง 16 ล้านเสียง ในตอนนั้นผู้สมัครพรรคไทยรักไทยใน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ (ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์) ได้คะแนนต่ำกว่า 20 % ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องชะลอการประกาศผลของการเลือกตั้งในครั้งนั้น ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 23 เมษายน 2549 แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นฏีกาต่อศาลปกครองกลางให้ยกเลิกการเลือกตั้งใหม่ ขณะนั้นหลายฝ่ายมองว่าเป็นการถ่วงเวลาการเปิดประชุมสภาและจัดตั้งรัฐบาลเสร็จทันกำหนดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เช่นเดียวกันกับ กลุ่ม พธม. ที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งในครั้งนั้น จน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศจะชุมนุมต่อ จนกว่าจะได้รับ “นากยกที่มาจากการแต่งตั้ง”(ม.7)
.
ในวันเดียวกัน ( 3 เม.ย.) นายทักษิณ ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง แต่พรรคประชาธิปัตย์และ พธม. ไม่ได้เข้าร่วมกับคณะกรรมการ วันรุ่งขึ้น นายทักษิณ ได้ออกมาแถลงว่าจะไม่เข้ารับการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยให้เหตุผลที่ว่า เพื่อสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองในชาติ ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ลาราชการและแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน ซึ่ง พธม. ได้เฉลิมฉลองในวันที่ 7 เมษายน และประกาศว่าการกำจัดระบอบทักษิณเป็นเป้าหมายต่อไป หลังการเลือกตั้งเสร็จ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549
.
สถานการณ์การเมืองในปีดังกล่าวยังคงเต็มไปด้วยบรรยากาศของความขัดแย้ง จนกระทั่ง วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เกิดกรณีคาร์บอมบ์ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงฝ่ายรัฐบาล หลังมีรถคันหนึ่ง ซึ่งขนวัตถุระเบิดกว่า 67 กิโลกรัม ถูกนำมาจอดไว้บริเวณใกล้ๆกับบ้านพักของ นายทักษิณ ย่านจรัญสนิทวงศ์ จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า รถคันดังกล่าวที่พูดถึง ได้ออกจากสำนักงานใหญ่ของ กอ.รมน. เมื่อเช้าของวันเดียวกัน แต่พล.อพัลลภ ปิ่นมณี รักษาการ ผอ.ในขณะนั้น ปฏิเสธความเกี่ยวข้องทุกกรณี พร้อมกล่าวด้วยว่า “ถ้าผมทำ นายกฯ หนีไม่พ้นผมหรอก…”

ท่าทีต่อกรณีนี้จากกลุ่มต่อต้านมองว่า เป็นแผนสมคบคิดของรัฐบาล ภายหลัง ร.ต.ท.ธวัชชัย ถูกจับกุมตัว และ พล.อ.พัลลภ ถูกปลดออกจากตำแหน่งทันที ซึ่งต่อมาได้มีการจับกุมนายทหารเพิ่ม 5 นาย เนื่องจากสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องแต่นายทหาร 3 นาย รวมทั้ง ร.ต.ท.ธวัชชัย ถูกปล่อยตัว ภายหลังเกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน

เช้าของวันที่ 19 กันยายน 2549 มีคำสั่งจาก นายทักษิณ เรียกผู้นำเหล่าทัพทุกคนเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ปรากฏเหตุไม่คาดคิดเมื่อผู้นำเหล่าทัพทุกคนไม่มีคนไหนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ยกเว้น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ



ต่อมาในช่วงบ่ายมีข่าวลือที่แพร่สะพัดในทำเนียบรัฐบาลว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้น ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีข่าวลือออกมาเช่นกันว่ารัฐมนตรีและนักการเมืองที่ร่วมกระบวนการหลายคนได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ในเวลาพลบค่ำมีกำลังทหารหน่วยรบพิเศษจากจังหวัดลพบุรีได้เคลื่อนกำลังพลเข้ากรุงเทพมหานคร

เวลา 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพไทยและในชั่วโมงต่อมา เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังได้เคลื่อนพลเข้ามาคุมสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน พร้อมด้วยทหารจำนวนมาก วางแนวกำลังพลตามถนน ต่าง ๆ ไปตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึงถนนราชสีมา, สวนรื่นฤดี, สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) ซึ่งมีทหารแต่งตัวเต็มยศลายพรางเป็นคนควบคุมกำลัง ณ ขณะนั้น

เวลา 22.15 น. นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นอยู่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ได้รับข่าวยืนยันว่ามีการปฏิวัติแน่) จึงแถลงข่าวทางไกลผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท อ่านประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งย้าย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติตามประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ทันจะอ่านแถลงการณ์จบก็ถูกตัดสัญญาณ

ต่อมาเวลา 23.50 น. คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มี พล.อ.สนธิ เป็น หัวหน้าคณะ ออกแถลงการณ์ยึดอำนาจจากรัฐบาล นายทักษิณ โดยตอนนั้นมีการเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร
.
หลังจากฝ่ายรัฐประหารประกาศยึดอำนาจกับทางฝ่ายรัฐบาล ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 พระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคไทยรักไทยอยู่ในภาวะแพแตก หัวหน้าวังต่างๆ และสมาชิกพรรคทยอยลาออกรวมแล้วประมาณ 110 คน ภายหลังในวันที่ 2 พฤศจิกายน นายทักษิณ เขียนจดหมายจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าหลายคนปัดไม่รับเก้าอี้ ทำให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองหัวหน้าพรรค ต้องเสียสละรับแทน
.
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ออกสมุดปกขาว ได้ชี้แจงถึงสาเหตุของการเกิดรัฐประหาร โดยให้เหตุผลที่ว่า เป็นการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ ทำให้มีบทวิเคราะห์จากหลาย ๆ ฝ่าย มองเห็นสาเหตุอีกบางประการที่นอกเหนือจากเหตุผลของ คปค. ที่นำมาสู่การปฏิวัติยึดอำนาจในครั้งนี้ คือ ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างพันตำรวจโททักษิณกับประธานองคมนตรี
.

.
ปี 2550 คณะรัฐประหารเริ่มทำการสอบสวนข้าราชการที่ได้ถูกแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ และในการแต่งตั้งนายทหารประจำปี พ.ศ. 2550 นายทหารที่ได้รับการไว้วางใจของระบอบใหม่ก็ถูกแต่งตั้งแทนที่นายทหารซึ่งภักดีต่อรัฐบาลเก่า ซึ่งในระหว่างนั้นยังได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใช้ปกครองประเทศต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไปก่อน จนแล้วเสร็จได้ให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 มีผู้ที่เห็นชอบโดยคิดเป็นสัดส่วน 57.81 % ของผู้มาใช้สิทธิ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยบังคับใช้เป็นกฎหมาย ในวันที่ 24 สิงหาคม เป็นเวลาต่อมา
.
ทั้งนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย พ.ศ. 2550 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2550 และนับเป็นครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และผลจากการเลือกตั้งในนั้นพบว่าพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกมากที่สุด คือ 233 ที่นั่ง ส่วนพรรค ประชาธิปัตย์ได้อันดับรองลงมา คือ 165 ที่นั่ง ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชาชนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 และได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แต่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการบริหารประเทศทำให้ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลทักษิณ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการสิ้นสุดวาระวิกฤตทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานที่ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ที่มาข้อมูล ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย พิมพ์ครั้งแรก 2557 , คริส เบเคอร์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

289ข่าวดัง 3ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน (พิมพ์ครั้งที่4 มีนาคม2550) , กองบรรณาธิการมติชน

มติชนออนไลน์ , ข่าวสดออนไลน์