“แพะรับบาป”สนทนาว่าด้วยเรื่องแพะ แบร่ๆ เมื่อ”จำนวนแพะ”สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแผร่ครั้งแรกในมติชนออนไลน์ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1324205772

“scapegoat” เป็นภาษาอังกฤษของคำว่า “แพะรับบาป” 

เรารู้กันดีว่า “แพะ” เป็นสัตว์ที่ถูกสังเวยเพื่อนำไปบูชายัญ

และเราได้รู้จักแพะดีขึ้นไปอีก หลังจากเมื่อดึกดื่นคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ ได้มานั่งเล่าถึงแนวคิดเรื่องแพะ และ “ปัญหากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาแพะ” ในงาน “เทศกาลหนังแพะ” (Scapegoat Film Festival 2011) ซึ่งจัดโดย Cafe Mes Amis และสำนักพิมพ์หมูหลุม ภายใต้แสงไฟสลัวในคาเฟ่เล็กๆที่ชื่อ Cafe Mes Amis

เอาละ… ได้เวลามาฟังเรื่อง “แพะๆ” กันแล้ว

สาวตรี สุขศรี
สาวตรี สุขศรี

แนวคิดเรื่องแพะ

“แพะ มีในสังคมตะวันออกมานานแล้ว ส่วนตัวแล้วคิดว่าแพะเกิดขึ้นมาเพื่อ ′ความสบายใจของสังคม′ ”

สาวตรีเริ่มเล่าถึงบทบาทของ “แพะ” ในความเห็นของเธอ

“คือในสังคมชนเผ่า เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมาก็ต้องหาอะไรสักอย่างมารองรับ อย่างเวลาที่เกิดอาชญากรรมขึ้น เกิดการกระทำความผิดขึ้นในสังคม คนในสังคมก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกถึงความไร้เสถียรภาพ ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังเอาใครสักคนหนึ่งขึ้นมาชี้หน้าแล้วบอกว่า ′คนนี้เป็นคนผิด′ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น แพะจึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ”

“จะสังเกตได้ว่าแพะที่เกิดขึ้นเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง มันไม่มีทางที่แพะจะเป็นคนชนชั้นสูงไปได้ แพะต้องเป็นคนที่ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีศักยภาพในการหาอะไรมาสู้ เพราะฉะนั้นมันก็สะท้อนอะไรหลายเรื่อง ว่าสังคมต้องการความปลอดภัย ความสบายใจ ในขณะเดียวกัน คนที่จะมารองรับความสบายใจนั้นได้ก็คือคนชนชั้นล่างที่จะต้องถูกลงโทษ”

 

การเยียวยาแพะ

สาวตรี: แพะในประเทศไทยมีมานาน แต่หลักคิดเรื่อง “การเยียวยาแพะ” เพิ่งมามีเมื่อ ปี 2540 (ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ) เพราะเกิดคดีเชอร์รี่แอน “คดีแพะ” นี้มีผลสะเทือนจนต้องทำให้มีการแก้ไขกฏหมาย เพราะคดีนี้มันชัดเจนมากว่าคนที่ถูกจับนั้นเป็น “แพะ” และสุดท้ายก็ต้องตายในคุก ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในกระบวนการยุติธรรม จากการที่เอาคนที่ไม่ได้ทำผิดมาลงโทษ แล้วการลงโทษนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาอย่างมาก คือทำให้ถึงขั้นตายได้

คดีเชอร์รี่แอนมีผลทำให้เกิดการเยียวยาสิทธิของผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีโดยมิชอบด้วยกฏหมาย และสอง ทำให้เกิดการอนุญาตให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

การอนุญาตให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ว่า คดีอาญาบางคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว ศาลฎีกาตัดสินสิ้นสุดไปแล้วว่าคุณเป็นคนผิด และต่อมามีพยานหลักฐานอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงๆ แล้วคุณไม่ใช่คนผิด ที่ศาลฎีกาตัดสินไปนั้นไม่ถูกต้อง ก็สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งก่อนหน้าปี 2540 มันไม่มี


สาวตรี:
คอนเซ็ปต์เรื่องการเยียวยาคนที่ถูกตัดสินโดยไม่ได้กระทำความผิดนั้นเป็นที่ถกเถียงกันเยอะทั่วโลกว่า รัฐจะต้องเอาเงินงบประมาณของคนทุกคนในประเทศเพื่อไปจ่ายให้คนเหล่านี้ด้วยเหรอ แม้ว่าเขาจะไม่ผิดจริงก็ตาม

เถียงกันอยู่นานมาก จนสุดท้ายเกิดทฤษฎีหนึ่งขึ้นมาว่า การที่รัฐจับใครสักคนมาแล้วบอกว่าคนนั้นเป็นคนกระทำความผิด เพื่อทำให้สังคมอยู่รอดปลอดภัย เพื่อให้สังคมสบายใจ แต่ว่าเมื่อสังคมนั้นได้รับประโยชน์จากการจับกุมแล้ว สังคมก็ต้องรับความเสี่ยงอะไรบางอย่างด้วย เช่นถ้าจับคนผิด คุณก็ต้องรับผิดชอบ มันเหมือนทฤษฎีการรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคม เพราะการไปจับใครสักคนมามันเป็นไปเพื่อความสบายใจของคุณ เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ถ้าเกิดคนๆนั้นไม่ใช่ผู้กระทำความผิด คือไม่ใช่ผู้ที่ทำให้ประโยชน์สาธารณะเสีย คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงนั้น เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเอาเงินของรัฐไปจ่ายให้เขา นี่เหมือนเป็นการประกันความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

และในที่สุด ทฤษฎีนี้ก็ได้รับการยอมรับ

สาวตรี: แต่ทั้งนี้ การเยียวยาจากรัฐก็มีเงื่อนไข สำหรับประเทศไทย เงื่อนไขข้อหนึ่งของการชดเชยความเสียหายให้แพะนั้นมีอยู่ว่า “ต้องปรากฎว่าหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แล้วมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฎว่า คำพิพากษาถึงที่สุดของคดีนั้นฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด”

ซึ่งคำพิพากษาส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่า จำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด เพราะศาลจะไม่กล้าฟันธงว่าคุณไม่ผิด คือจำเลยคนไหนที่ได้รับการยกฟ้องแต่ศาลไม่ได้ฟันธงว่าคุณไม่ใช่ผู้กระทำผิด มันจะไม่เข้าเงื่อนไขได้รับค่าชดเชยดังกล่าว นี่คือปัญหาของประเทศไทย

สาเหตุหนึ่งที่กฎหมายเขียนล็อกไว้แบบนี้ ที่ว่าถ้าเกิดไม่ชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดก็จะไม่จ่าย ก็เพราะว่า ประเทศไทยมันมีแพะเยอะ

ทั้งนี้จากระบบกลั่นกรองคดี กฏหมายเลยจำเป็นต้องเขียนล็อกเอาไว้หลายชั้น

แต่อย่างในเยอรมันนั้นให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายโดยไม่สนใจว่ายกฟ้องนั้นยกฟ้องด้วยสาเหตุอะไร เขาจ่ายหมด ก็เพราะว่าคนเป็นแพะของเขาไม่มาก ปีๆหนึ่งเขาเสียค่าชดเชยไม่มาก

“จำนวนของแพะจึงสะท้อนให้เห็นกระบวนการกลั่นกรองคดีก่อนขึ้นสู่ศาล”

อ้าว ไปๆ มาๆ เรื่องแพะๆ นี่มักชักจะไม่ธรรมดาซะแล้วสิ!