พระราชทานอภัยโทษ และ12เก้าอี้รมต.ใหม่ โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

แม้การพระราชทานอภัยโทษครั้งใหญ่ๆ จะมีการวิตกว่าผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว จะกลับไปประพฤติผิดอีก ซึ่งในอดีตก็เคยมีและคราวนี้ก็น่าจะมี

แต่กระนั้น ต้องถือว่าเป็นส่วนน้อย

“ส่วนใหญ่” ยังดำเนินตามเป้าหมายการพระราชทานอภัยโทษ

คือ “บุคคลเหล่านั้นได้กลับไปประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป”

“ผล” อันมหาศาลนี้เอง

ทำให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราช ดําริเห็นว่า เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์

เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยมีผู้ต้องขังได้รับสิทธิตามหลักเกณฑ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษประมาณ 1 แสนราย

ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำประมาณ 30,000 ราย จากเรือนจำทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับผู้ต้องขังคดีความผิดหมิ่นสถาบันมาตรา 112 ก็ได้รับสิทธิลดวันต้องโทษด้วย

ถือว่าทรงแผ่เมตตาไปยังคนทุกหมู่เหล่าจริงๆ

พระมหากรุณาธิคุณนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสมาบอกต่อหัวหน้าส่วนราชการ

ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่รับสั่งกับรัฐบาลและรัฐมนตรีบางคนว่า ขอให้รัฐบาลทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนมีความสุขให้มากที่สุดในรัชกาลปัจจุบัน

โดยต้องทำให้ประเทศชาติสงบสุข สันติ ไม่มีความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า ทุกคนจะต้องสนองพระราชปณิธานของพระองค์ท่านตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่

โดยใช้ศาสตร์พระราชาของพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

นั่นดูเหมือน รัฐบาลจะได้เข็มทิศสำคัญ ในการ “ชี้ทาง” อีกชิ้นหนึ่งแล้ว

ซึ่งก็คงต้องติดตามต่อไปว่าจะแปรไปสู่การปฏิบัติอย่างไร

โดยเฉพาะการทำให้ “ทำให้ประเทศชาติสงบสุข สันติ ไม่มีความขัดแย้ง”

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ ต่างฝ่ายต่างจะมีเงื่อนไข โดยเฉพาะการพยายามเรียกร้องให้ฝ่าย “ตรงข้าม” แสดงตนออกมาก่อนว่าสำนึกแล้ว

ตนหรือฝ่ายตนจึงให้เปิดโอกาสให้

ทำให้การขจัดความ “แตกต่าง” และความ “ขัดแย้ง” ไม่ค่อยคืบหน้า

ยิ่งเมื่อมีความหวาดระแวง หรือมีคาถาท่องอยู่ในใจว่า สิ่งที่ทำมาจะต้อง “ไม่เสียของ”

ทำให้การจะให้อภัย หรือผ่อนปรนให้กับฝ่ายตรงข้าม ที่สามารถเริ่มได้จาก “ตน หรือฝ่ายตน” มากด้วย “เงื่อนไข” และ “ข้อแม้”

จึงไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้า ในการนำความสงบสันติกลับมา

ทั้งที่หากยึดหลักการพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องขัง นั่นคือถึง

แม้การให้ “อภัย” แล้วยังมีผู้กลับไปประพฤติผิดอีก

แต่ก็ให้ถือว่าเป็นส่วนน้อย ขณะที่ส่วนใหญ่ควรได้โอกาสให้กลับมาร่วมสร้างประโยชน์ให้สังคมประเทศชาติ

คิดได้อย่างนี้ ใจจะได้ใหญ่ และพร้อมจะให้อภัย

โดยหากมองเข้าไปในรัฐบาลตอนนี้ การปรับคณะรัฐมนตรี 12 เก้าอี้ล่าสุด ที่เป็นพลเรือนล้วนๆ

ไม่มีทหารฮาร์ดคอร์ เข้ามาอย่างที่คาดกัน

รวมถึงการเลือกวาง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ให้นั่งกระทรวงยุติธรรม และ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็น รมว.ดิจิทัล

จะถือเป็นการส่งสัญญาณ ที่ลดแนวทางมั่นคงไปสู่แนวทางพลเรือน

ที่มีความนุ่มนวลต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือไม่ น่าติดตาม ซึ่งแม้จะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ

แต่การทำอะไรให้ได้แปลกใจอย่างการปรับ ครม.ครั้งนี้ เลยอดจะมีหวังถึงประเทศชาติที่สงบสุขไม่ได้-แฮ่ม!