E-DUANG : “ธรรมกาย” พัฒนาการพุทธศาสนายุค”ทุนนิยม”

 

ไม่ว่าข้อกล่าวหา พระเทพญาณมหามุนี ในคดีฟอกเงิน หรือในคดีรับของโจร

ล้วนแวดล้อมอยู่กับคดี”ทางเศรษฐกิจ”

เพราะเงินบริจาคอันเป็นต้นตอแห่งคดีความมาจากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น

เป็นเรื่องของ “การฉ้อโกง” เป็นเรื่องของ”การลงทุน”

สะท้อนให้เห็นว่า 1 วงล้อมที่อยู่โดยรอบ”วัดพระธรรมกาย” เป็นนักลงทุน เป็นนักธุรกิจ

สัมผัสได้จาก “มหาเศรษฐี” บางคน

ที่ร่ำลือกันอย่างหนาหูส่วนหนึ่งเป็นมหาเศรษฐีจากธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร

ส่วนหนึ่งอยู่ในธุรกิจ”อสังหาริมทรัพย์”

แม้กระทั่งการก่อสร้าง โบสถ์ อาคาร และถาวรวัตถุภายใน”วัดพระธรรมกาย”ก็สะท้อนสีสันใหม่

แตกต่างไปจาก โบสถ์วิหาร การเปรียญ แบบ”เก่า”

 

ต้องยอมรับว่ากระบวนการของ”วัดพระธรรมกาย”ดำเนินไปอย่างมีแผนทางด้าน “การตลาด”

“พิธีการ”ก็มากด้วยความ”อลังการ”

แม้กระทั่งการธุดงค์ที่กระทำต่อ”สาธารณสุข”ก็เป็นไปอย่างแตกต่างจากภาพเดิมของ “ธุดงควัตร”

นุ่มด้วยการจัดวาง”ดอกดาวเรือง”

ร่ำลือกันว่า “วัดพระธรรมกาย”ได้มือดีซึ่งเป็น”ครีเอทิฟ”จากสำนักเอเยนซี โฆษณาชั้นนำ

“ธรรมกาย”จึงได้ผลสะเทือนจาก”ทุนนิยม”

ไม่ว่าในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าในเรื่องแผนการตลาด การเปิดตัวสินค้า

สร้างความตรึงตา ประทับใจ

การเติบใหญ่ของ”ธรรมกาย”จึงสัมพันธ์ แนบแน่นกับปัจจัยในระบอบ”ทุนนิยม”อย่างแนบแน่น

นำเสนอ”พุทธศาสนา”ในยุค”ทุนนิยม”

 

อย่าได้แปลกใจหาก“กัลยาณมิตร”ซึ่งมาแวดล้อมอยู่โดยรอบ”ธรรมกาย”มากด้วยความหลากหลาย

เป็นทั้ง “ระดับสูง”และ”รากหญ้า”

เป็นทั้ง “มหาเศรษฐี” เป็นทั้ง “คนชั้นกลาง”และคนใน”ชนบท”

มีทั้งที่เคยเป็น”เหลือง” มีทั้งที่เคยเป็น”แดง”

มีทั้งที่เคยเป็นแกนนำ “ประชาธิปัตย์” มีทั้งที่เคยร่วมกับ”ไทยรักไทย”และต่อเนื่องมาถึง “เพื่อไทย”

นี่คือ “พัฒนาการ” 1 ในทาง “สังคม”

เพียงแต่เป็นพัฒนาการอันสัมพันธ์และแนบแน่นอยู่กับ”ศาสนา”

พยายาม”ประยุกต์” ศาสนาให้”เหมาะสม”

เหมาะสมกับยุค “ทุนนิยม” เหมาะสมกับ “คนรุ่นใหม่”ที่อยู่ในสังคม “สมัยใหม่”