Fisher Folk : ร้านคนจับปลา การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจเพื่อสังคม

คงจะเป็นเรื่องที่อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง หากจะบอกว่าปลาและอาหารทะเลในตลาดที่ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้ ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการจับของประมงเรือเล็ก แต่หากจะบอกต่อว่ามีชาวประมงเรือเล็กกลุ่มหนึ่ง รวมตัวกันต่อตั้งกิจการขายปลาและอาหารทะเลของพวกเขาเอง คงจะเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบมาก่อน

เรานัดพูดคุยกับผู้จัดการร้านคนจับปลา Fisher Folk ที่ซอยทองหล่อ ก่อนที่เธอจะพาเราไปนั่งคุยกันร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งเธอบอกว่าเป็นร้านประจำเวลาผ่านมาแถวนี้ แม้ว่าจะเป็นผู้จัดการร้านคนจับปลาที่โดยเนื้องานต้องขลุกอยู่กับอาหารทะเล จำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา อยู่ทุกวี่วัน แต่เธอยังคงสั่งอาหารทะเลหลายอย่างมารับประทาน แถมยังตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “พี่ชอบกินปลา” หลังจากเราเอ่ยทักว่ายังไม่เบื่ออาหารทะเลหรือพี่ ?

และนี่คือบทสัมภาษณ์แบบทานไปคุยไปกับ เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทย พลังขับเคลื่อนสำคัญร้านคนจับปลา กิจการของชาวประมงที่ลงขันในนามเครือข่ายประมงพื้นบ้าน และร่วมหุ้นกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

15577619_10211958873910638_411612780_n

อาจจะมีคนรู้จัก “Fisher Folk : ร้านคนจับปลา” อยู่พอสมควร แต่อยากจะรบกวนให้ช่วยเล่าให้ฟังสั้นๆ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของ Fisher Folk หรือร้านคนจับปลา

Fisher Folk หรือร้านคนจับปลา เราเป็นกิจการที่รับซื้อปลาจากจากชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือขนาดเล็กในการทำประมง เราซื้อในราคาสูงกว่าแพปลา ดังนั้นชาวประมงจะได้ส่วนต่างตรงนี้ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านที่เราไปซื้อปลาจากเขา ก็ล้วนเป็นชาวประมงที่อยู่ในเครือข่ายของสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ที่ร่วมทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลกันมาร่วมสิบปี ดังนั้นเขาจึงจับปลาด้วยเครื่องมือที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยสรุปก็เป็นไปตามหลักการ แบบคลีน-กรีน-แฟร์ ก็คือคลีน – อาหารทะเลสะอาด ปลอดสารเคมี กรีน –การประมงที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ปลาหมดไปจากทะเล แฟร์ –แฟร์สำหรับคนกินได้ของดีและปลอดภัย แฟร์สำหรับคนจับปลา ในราคาที่เป็นธรรม

ร้านคนจับปลาดำเนินกิจการมาเกือบ 3 ปีแล้ว ตอนนี้ถือว่ามั่นคงรึยัง

ยังนะ ยังไม่ถึงจุดที่มั่นคง แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน ปีนี้จะเป็นปีที่เปลี่ยนผ่าน เพราะปีแรกกับปีที่สองเป็นช่วงทดลองว่าธุรกิจนี้มันจะไปได้มั้ย ซึ่งจากบทเรียนสองปีแรกเราก็เชื่อมั่นว่ามันจะไปได้แต่ยังไม่ถือว่ามั่นคงหรือแข็งแรง เพราะเท่าที่รู้คนที่ทำธุรกิจเขาบอกว่าอย่างน้อย 3 ปี หรือ 5 ปี เขาถึงจะการันตีได้ว่าธุรกิจนี้อยู่ได้ หรือไปต่อได้มั้ย

ตอนนี้ต้องบอกว่าร้านคนจับปลามั่นใจในช่องทางที่เราเลือกอยู่ เรามั่นในว่าการทำธุรกิจโดยพื้นฐานความคิดแบบนี้ มันไปได้

เป็นเพราะว่าร้านคนจับปลาบริหารแบบธุรกิจตั้งแต่แรก รึป่าว ? คือไม่ได้ทำร้านแบบ NGO ที่พร้อมขาดทุน

ใช่ค่ะ ร้านคนจับปลามีวิธีการติดแบบธุรกิจตั้งแต่เริ่มเลย และภายในครึ่งปีแรกของปี 2560 เราคิดว่าจะพยายามจดทะเบียนบริษัทให้ได้ จริงๆแล้ววางแผนที่จะจดทะเบียนตั้งแต่ปีนี้ แต่เนื่องจากร้านคนจับปลามันไม่ได้เป็นร้านของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นบริษัท จึงต้องมีการมีส่วนร่วมจากคนหลายๆคน หลายๆภาคส่วน เช่นจากพี่น้องที่เป็นกรรมการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พี่น้องน้องชาวประมงที่จะเป็นเจ้าของบริษัทตัวจริง ซึ่งต้องใช้เวลาในการพูดคุย ทำความเข้าใจกันพอสมควร เพราะการที่องค์กรชาวบ้านจะเข้ามาทำธุรกิจมันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา

บริษัทที่จะตั้งใหม่นี้ จะเป็นบริษัทแบบไหน ? ใครจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นบ้าง ?

สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้าน ตอนนี้ก็มีเล็งๆ ชื่อบริษัทที่จะตั้งไว้แล้วนะคะชื่อ บริษัทคนจับปลาวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด แต่อาจจะต้องสรุปกันอีกที พร้อมกับการเตรียมการในเรื่องการจดทะเบียนตามกฎหมาย

เราจะใส่คำว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมไว้ เพราะว่ายังคาดหวังว่ากฎหมาย SE หรือกฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม อาจจะประกาศใช้ออกมาในอนาคตข้างหน้า

สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แล้วจะเอาเงินลงทุนมาจากไหน ?

เริ่มต้นสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ จะถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้านักธุรกิจหรือนักลงทุนคนไหน เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเล หรือเห็นด้วยกับแนวทางของร้านคนจับปลา แล้วอยากจะลงทุนร่วม ก็อาจจะใช้วิธีการบริจาคเงินผ่านสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ แล้วสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ ก็เอาเงินส่วนนั้นมาดำเนินธุรกิจของบริษัทในนามบริษัทคนจับปลาฯ โมเดลของเราน่าจะเริ่มต้นทำนองนี้ เพราะพี่น้องประมงก็อยากจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของบริษัท ดังนั้นการให้สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านถือหุ้นทั้งหมด ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสม

คิดว่าต้องมีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ ?

ทุนจดทะเบียนอาจจะไม่เยอะมาก เพราะเราไม่ได้หวังว่าจะทำธุรกิจใหญ่โต ที่ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดค้าอาหารทะเล เพียงแต่ที่คิดเรื่องบริษัทก็อย่างที่บอกว่าเราอยากจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้บริโภค ซึ่งการค้าขายมันก็ต้องมีกฎหมายของมัน เราแค่อยากทำให้มันถูกต้อง

กลับมาที่ร้านคนจับปลา 2 ที่ผ่านมา ที่บอกว่าบริหารแบบธุรกิจ ช่วยลงรายละเอียดให้สักหน่อยได้ไหมครับ ?

เราบริหารแบบธุรกิจตั้งแต่ปี 2557 วางระบบธุรกิจในการบริหารร้านแบบเต็มรูปแบบ ไม่ได้บริหารแบบโครงการของนักพัฒนาเอกชน ใช้เงินลงทุนจริง ขายของต้องได้กำไร เงินลงทุนในการบริหารจัดการเป็นเงินกำไรที่ได้มาจากการขายปลา ไม่ใช่เงินสนับสนุนในแง่โครงการ เราสามารถจ้างงานเจ้าหน้าที่ทั้งตรงส่วนกลางและสาขาต่างๆ ได้ประมาณ 10 กว่าคนนะ

ตอนนี้ร้านคนจับปลาเรามี 3 สาขา คือที่ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราชและก็ที่สตูล และมีหน้าร้านที่ทะเลสาบสงขลาด้วย ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีชาวบ้านมาบริหารในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละที่ก็ต้องบริหารไม่ให้สาขาของตัวเองขาดทุน

แต่ก็เห็นมีการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ

การสนับสนุนจากองค์กรภายนอก เขาจะเข้ามาสนับสนุนในเชิงองค์ความรู้เรื่องการตลาด และการทำการตลาดในช่วงแรก หรือช่วยเรื่องการสื่อสารกับผู้คน ตรงส่วนนี้ องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย (Oxfam in Thailand) ก็เข้ามาช่วยสนับสนุน

15497761_10211958874470652_1558926517_n

ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของร้านคนจับปลายังเป็นร้านของ NGO หรือมองว่ามันเป็นโครงการของภาคประชาชนอยู่ ?

แต่ NGO มองว่าเราเป็นธุรกิจนะ (หัวเราะ) เพราะเราขายในราคาที่ไม่ยอมขาดทุน ดังนั้นสินค้าของเราราคาเลยอาจจะไม่ได้ถูกกว่าในตลาด แต่ลูกค้าทั่วไปเขาอาจจะติดภาพเนื้อหาที่เราสื่อสาร คือเราคิดว่าเราไม่ได้ขายแค่ปลาหรืออาหารทะเลแต่เราขายบริการเพื่อสังคม คือมุมหนึ่งเราก็ทำงานรณรงค์ด้วย เราอยากบอกเล่าเรื่องราวของชาวประมง การอนุรักษ์ทะเล การฟื้นฟูทรัพยากร ผ่านการขายปลา ซึ่งอันนี้ต่างจากงานรณรงค์ยุคเก่า ที่อาจจะคิดถึงเป้าหมายในการรณรงค์อย่างเดียว แต่เราคิดว่าเราอยากสื่อสารด้วยและไม่ขาดทุนด้วย และการพิสูจน์ให้เห็นว่าคนจับปลาทำได้ มันก็ช่วยสื่อสารกับคนกลุ่มใหม่ๆนะ เช่นกับคนชั้นกลางในเมืองซึ่งเป็นเป็นกลุ่มลูกค้าของเรา นี่คือโจทย์ใหญ่ของเรา ซึ่งการเป็นบริษัทมันจะทำให้เราสามารถขยายตลาดได้ใหญ่ขึ้น และทำให้สามารถรับซื้อสินค้าจากชาวประมงได้มากขึ้น

ถึงแม้ว่าถ้าเป็นบริษัทเราก็ยังคงยืนหยัดในแนวทางแบบนี้มั้ย ?
เราจะเขียนไว้ในข้อบังคับ หรือพันธกิจของบริษัทเลยว่าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล แล้วก็จะมีข้อบังคับที่จะล้อไปกับข้อบังคับของสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ แล้วก็ตามมาตรฐานของ Blue Brand : มาตรฐานอาหารทะเลประมงพื้นบ้าน นั่นหมายความว่าเราจะรับซื้อของตามมาตรฐานอาหารทะเลประมงพื้นบ้าน เช่นการไม่ใช้เครื่องมือที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการขนส่ง

พอจะบอกได้ไหมว่าตอนนี้เราทำงานกับชาวประมงประมาณกี่ครอบครัวหรือกี่ลำ ?

เฉพาะชาวประมงที่เราซื้อปลาผ่านทางสาขาในจังหวัดต่างๆ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และสตูล ก็ร่วมๆ 100 ลำนะคะ ถ้านับจำนวนครอบครัวก็มากกว่านั้น และอันที่จริงแล้วชาวประมงในเครือข่ายของสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ มีมากกว่านั้น แต่ศักยภาพของร้านคนจับปลายังสามารถรับซื้อได้ประมาณนี้ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยากจะซื้อทั้งหมด เพราะเราไม่ได้ต้องการจะผูกขาดตลาดอาหารทะเลปลอดภัย ดังนั้นการสร้างมาตรฐานอาหารทะเลประมงพื้นบ้าน หรือ Blue Brand จึงเป็นเรื่องที่เราพยายามทำควบคู่กันไป นั่นหมายความว่าชาวประมงก็อาจจะขายปลากับแพปลาเจ้าอื่นๆได้ อาจจะต่างกันตรงที่ร้านคนจับปลามีวิธีการแปรรูปที่ปราณีตและระยะทางในการขนส่งที่สั้นกว่า และเราไม่ใช้ฟอร์มาลีนในการขนส่ง คือผู้บริโภคที่ซื้ออาหารทะเลจากร้านคนจับปลา จะมั่นใจได้ว่าสินค้าของเราเป็นสินค้าปลอดภัยจริงๆ

อย่างงาน Fisher Folk in Bangkok ครั้งที่ 3 ที่จะจัดในวันที่ 17-18 ธันวาคม นี้ มีอะไรต่างไปจากเดิมบ้าง ?

ตอนนี้เราขยายฐานของการรับซื้อไปที่ภาคตะวันออกด้วย งานคราวนี้เราจะมีอาหารทะเลจากตราด มาออกร้านด้วยในฐานะร้านคนจับปลา สาขาตราด ซึ่งประเภทหรือชนิดของอาหารทะเลอาจจะไม่ต่างกันมาก แต่ความด้วยความหลากหลายเชิงฤดูกาลจะทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น เช่น ปลาหรือกุ้งบางชนิดอาจจะมีน้อยที่ทะเลใต้ในช่วงนี้ แต่จะมีเยอะในทะเลภาคตะวันออก อย่างช่วงนี้ก็จะมีกุ้งเยอะ ซึ่งก็จะเป็นอากาศของทั้งชาวประมงและผู้บริโภคได้มาเจอกัน

แล้วก็จะมีอาหารทะเลจากภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันเช่นทุกๆครั้ง คนอาจจะกังวลว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีมรสุมทางภาคใต้ ชาวประมงอาจจะออกเรือไม่ได้ แต่สัปดาห์นี้คลื่นลมเริ่มสงบแล้ว ก็ถือว่าเป็นข้อดีที่เราจะได้กินอาหารทะเลสดๆ จริงๆ

นอกจากนั้นในเชิงเนื้อหาที่เราอยากจะสื่อสารในงานคือเรื่องเส้นทางของตลาดสัตว์น้ำในประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อย่างในประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพของอาหารทะเล ว่าเขาผลิตกันอย่างไร ส่งของกันอย่างไร แล้วหันกลับมามองในประเทศว่าของเราเป็นอย่างไร ก็จะมีการฉายหนัง มีกิจกรรมบนเวที การเสวนาเรื่องทิศทางธุรกิจของร้านคนจับปลา แล้วก็มีการแสดงดนตรี

อะไรที่พลาดไม่ได้ในงาน Fisher Folk in Bangkok คราวนี้

จริงๆ ต้องบอกว่าพลาดไม่ได้ทุกตอน (หัวเราะ) คืออยากให้ชวนมาช่วยกันลุ้นว่าองค์กรชาวบ้านจะก้าวไปสู่การทำธุรกิจแบบเต็มรูปแบบได้จริงมั้ย แต่จริงๆ แค่มาซื้ออาหารทะเลสดๆ ก็คุ้มแล้ว อยากเชิญชวนมาเจอกันค่ะ

และนี่คือการพูดคุยกับผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญของร้านคนจับปลา ซึ่งเธอเองก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นนักพัฒนาเอกชน หรือ NGO ของตัวเอง เพียงแต่มุมมองที่น่าสนใจของการดำเนินกิจการภายใต้แบนด์ Fisher Folk : ร้านคนจับปลา ที่กำลังจะถูกจดทะเบียนเป็นบริษัทคนจับปลาวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด คือการคิดต่อยอดจากงานอนุรักษ์ฟื้นฟู หรือการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเหมือนที่องค์กรภาคประชาชนต่างๆ ขับเคลื่อนกันอยู่

อย่างที่คุณเสาวลักษณ์ ทิ้งท้ายก่อนจากกันว่า “งานของร้านคนจับปลายังคงเป็นงานเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเล ที่ผสมผสานกับงานขับเคลื่อนทางนโยบายกฎหมายประมง ส่วนเรื่องธุรกิจ ก็เป็นเครื่องมือในการสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค การใช้พลังของผู้บริโภคที่เข้าใจความสำคัญของการอนุรักษ์น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน นี่คือแนวคิดที่เราพยายามทำมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะก้าวต่อไปในรูปแบบบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม”

15577548_10211958874950664_1810640492_n

เสาร์อาทิตย์ที่ 17-18 ธันวาคมนี้ คงจะเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งสำหรับทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารทะเลบนแนวทางแบบร้านคนจับปลาจะได้มาเจอกัน หากไม่ติดภารกิจที่ไหนเชิญชวนไปติดตามก้าวย่างครั้งสำคัญนี้ ที่สวนครูองุ่น มาลิก ปากซอยทองหล่อ 3 สุขุมวิท 55 (ที่ตั้ง Root Garden เดิม)