มนัส สัตยารักษ์ : ใครควรเป็นผู้ปฏิรูปตำรวจ และ อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีต รอง ผบ.ตร. และอดีต ก.ตร. ให้สัมภาษณ์ในรายการ “มติชนทีวี” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ก่อนวันตำรวจหนึ่งวัน ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปตำรวจ ไม่มีช่วงไหนเหมาะเท่ากับเวลาของรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจที่มาเพื่อปฏิรูปบ้านเมือง ทำงานรวดเร็ว

มีข้อคิดและข้อเสนอแปลกใหม่ ตรงไปตรงมาตามแบบฉบับของ “อาจารย์ใหญ่” ที่น่าสนใจก็คือข้อคิดในประเด็นที่เป็น “แก่น” ของปัญหา คือ เอางบประมาณเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาคนเป็นตัวตั้ง เพราะงบประมาณ 1 แสนล้านบาทของตำรวจนั้น 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบฯ รายจ่ายประจำ อันได้แก่ค่างจ้างและเงินเดือน

ที่เหลือ 7-8 เปอร์เซ็นต์เป็น “งบลงทุน” งบลงทุนนี้บางปีจะเหลือเพียง 4-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

จึงมีคำถามว่า ด้วยงบประมาณในลักษณะนี้ตำรวจบริหารงานอย่างไร

คำตอบก็คือ ตำรวจบริหารด้วย “งบประมาณนอกระบบ” ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มที่ละเมิดกฎหมาย เช่น บ่อนการพนัน สถานบริการและจราจร ทำให้ตำรวจถูกประณาม ทั้งจากสื่อและประชาชน… ตรงจุดนี้คือตัวปัญหาที่แท้จริง

ถ้าไม่เข้าใจคำว่า งบประมาณนอกระบบ ก็ใคร่ขอให้รับทราบไว้สักหน่อยว่า… ปืนที่ตำรวจพกอยู่ 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นของส่วนตัว รถจักรยานยนต์เป็นของตำรวจเองประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ วิทยุสื่อสารประจำตัวที่ตำรวจใช้อยู่เกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ตำรวจลงทุนซื้อเอง

ตำรวจต้องลงทุนทั้งที่ควรจะเป็นภาระของรัฐ

 

ในการให้สัมภาษณ์หนนี้ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ เสนอการปฏิรูปที่ผมอยากจะเรียกว่า “จับต้องได้” อยู่เรื่องหนึ่ง

นั่นคือให้เอกชนรับ “งานป้องกัน (prevention)” ไปดำเนินการเอง

ไอเดียนี้เสนอมา 25 ปีแล้ว รัฐบาลชุด คสช. นำไปทำแต่ยังไม่สมบูรณ์ บางส่วนขาดกฎหมายรองรับ

ผมจำได้ว่า เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้านี้ตำรวจประเทศฟิลิปปินส์ใช้ความคิดนี้ไปทำ รัฐยอมให้ตำรวจสมัครใจลาออก โดยยังคงงบประมาณหมวดเงินเดือนของผู้ที่ลาออกไว้ สำหรับบวกเพิ่มให้แก่ผู้ที่ยังอยู่ เพื่อว่าตำรวจจะได้ไม่ต้องหางบประมาณนอกระบบให้เป็นที่ครหา และเขาประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ผมเห็นว่าไอเดียของ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ดีกว่าตรงที่ให้ผู้ที่ลาออกมีเงินเดือนเพิ่มจากเงินบำนาญ เป็นเงินเดือนในฐานะเป็นหัวหน้า รปภ. ผู้มีประสบการณ์และรู้กฎหมาย เป็นอีกทางหนึ่งของการสร้างงานให้แก่ผู้ที่ศึกษาด้าน รปภ. จากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย

 

ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ เชื่อมั่นและหวังเป็นอย่างมากว่า ประชาชนจะได้แซ่ซ้องสรรเสริญกับผลของการปฏิรูปตำรวจ

แต่ผมอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่ารัฐบาลชุด คสช. นี้จริงใจที่จะปฏิรูปตำรวจหรือ?

เพราะรายชื่อและพฤติกรรมตลอดจนการให้ข่าวของคณะกรรมการปฏิรูปบางท่าน เปรียบไปแล้วก็ประหนึ่งว่าไม่ใช้ศัลยแพทย์ในห้องผ่าตัด

บางท่านยังยึดติดกับข้อเสนอเก่าแก่ คือยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กับเอาประชาชนมาคุมตำรวจ บางท่านเอาเรื่องโบราณที่ตำรวจทำผิดมาย้ำซ้ำซาก เสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือปั้น หรือมโนขึ้นมาเอง

ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีชุดไหนเรียกใช้บริการของ “อาจารย์ใหญ่” ท่านนี้เลย

หวนนึกถึงข้อเขียนของผมชิ้นหนึ่ง (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1834) ซึ่งเล่าเรื่องที่ผมถูกผ่าตัดหน้าอกทำบายพาสต์ เปลี่ยนเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ 3 เส้น หลังจากแผลผ่าตัดหายและอาการทั่วไปดีขึ้น ผมไม่กินยาที่หมอจ่ายให้เพราะไปเชื่อบทความของนายแพทย์นักวิชาการ

ลูกติงในทำนองว่า “ในวาระของการหาความรู้ หมอเขียนบทความอาจจะเก่งกว่าหมอเจ้าของไข้ แต่ในวาระของการรักษา หมอเจ้าของไข้ที่มีประสบการณ์ผ่าหน้าอกพ่อมากับมือจะรู้อาการของพ่อดีกว่าแน่นอน”

 

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ เป็นนายตำรวจ “ครบเครื่อง” ผ่านงานมาทั้งด้านปฏิบัติการ ด้านอำนวยการและวิชาการ เป็นตำรวจโดยสายเลือดเพราะพ่อเป็นนายตำรวจระดับผู้บังคับการ

เป็นตำรวจโรงพักซึ่งเป็นตำรวจอาชีพ ตั้งแต่ตำแหน่ง รองสารวัตร และสารวัตร ทั้งนครบาลและภูธร จนถึงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจภูธร อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่าย “ปฏิบัติการ” ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด รวมแล้ว 17 ปี

กล่าวคือ เป็น รองสารวัตร และสารวัตร รวม 5 ปี, เป็น รองผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัด และรองผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจภูธร 4 ปี

เป็น ผู้กำกับการ และหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด 2 ปี, เป็น รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 2 ปี

และเป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 4 (ขอนแก่น) อีก 4 ปี

ถ้านับรวมกับที่เป็นนักบิน Fix Wing ของกองบินตำรวจ อีก 3 ปี ก็เท่ากับว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติการถึง 20 ปี

ในแต่ละหน่วยงานมีผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นร้อย เป็นพัน หลายพัน และเป็นหมื่น

ในสาย “อำนวยการ” ซึ่งจำเป็นมากสำหรับนายตำรวจที่จะเป็น “ผู้บริหาร” พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ก็เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรเขต เป็นรองผู้บัญชาการ สนง.จเรตำรวจ และ รองจเรตำรวจ ก่อนขึ้นเป็นผู้ช่วย และ รอง ผบ.ตร. รวมแล้ว 9 ปี

ส่วนฝ่ายวิชาการนั้น เมื่อได้ปริญญาตรีจาก รร.นรต. แล้ว ไปได้ปริญญาโทจาก NIDA ไปศึกษาอบรมหลักสูตรต่างๆ หลายประเทศ

จึงไม่เพียงแต่เป็นอาจารย์ รร.นรต. และวิทยาลัยการตำรวจ เท่านั้น แต่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายอีกกว่า 8 มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มเมือง

จนในที่สุดได้รับสมัญญาจากสื่อมวลชนว่า “อาจารย์ใหญ่” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการวิทยาลัยการตำรวจ

ตำแหน่งล่าสุดด้านวิชาการก่อนไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ก็คือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการวางหลักสูตรระดับต่างๆ ของตำรวจ รวมทั้งสร้างอาคารเรียนและที่พักนายตำรวจนักเรียนอย่างทันสมัยแบบต่างประเทศ

ครบเครื่องขนาดนี้แต่ไม่เคยมีส่วนในการปฏิรูปตำรวจ ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน

ย้อนกลับไปดูภาพของ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ แต่ไหนแต่ไรมาเป็นคนมือสะอาด ไม่มีแผลด่างพร้อย พูดจาเสียงดังและตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะในปี พ.ศ.2547 ในยุครัฐบาล คมช. หรือในครั้งที่เป็น รอง ผบ.ตร. ทำหน้าที่ “โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ก็ตาม

ไม่มีภาพเชลียร์ และไม่มีภาพแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

ลักษณะอย่างนี้บอกให้รู้ว่าเป็นคนที่ “ไม่สามารถขีดเส้นให้เดิน” ได้ จึงไม่มีใครเรียกใช้บริการ

ผมก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีใครเก่งหรือดีอย่าง พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช แต่ผมรับไม่ได้กับการที่เอาคนซึ่งหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือคนที่ถอยหลังไปจมอยู่กับความอาฆาตแค้นตำรวจ ราวกับเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน… มาทำงานปฏิรูปตำรวจ