เลือกตั้ง 62 : ศึกที่แพ้ไม่ได้! วิเคราะห์-เจาะสนาม สมรภูมิผู้สมัคร ส.ส. กทม.แต่ละพรรคส่งช้างชนช้าง

ช้างชนช้างและสีสัน ในสนามเลือกตั้ง กทม.

เขต 1 พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี)
“เจิมมาศ จึงเลิศศิริ” จากพรรคประชาธิปัตย์ จะปะทะ “ลีลาวดี วัชโรบล” จากเพื่อไทย
ในการเลือกตั้งปี 2554 ทั้งคู่เป็น ส.ส.เก่า
เจิมมาศ เป็น ส.ส. เขต 1 พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์
ลีลาวดี เป็น ส.ส. เขต 5 ดุสิต ราชเทวี โดยเฉือนเอาชนะ ตั๊น จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ กฤดากร ไม่ถึงพันคะแนน
แต่เมื่อมีการขีดเส้นแบ่งเขตใหม่ อดีต ส.ส.หญิงจากสองพรรคการเมืองใหญ่ จึงต้องมาปะทะกัน
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การลงสนามแข่งขันสนามเดียวกันครั้งแรกของเจิมมาศและลีลาวดี
เพราะในการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นระบบเขตเลือกตั้งใหญ่ มี ส.ส. ได้เขตละ 3 คน
เจิมมาศ หม่อมหลวงอภิมงคล โสณกุล และอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ได้ลงสมัคร ส.ส. กทม. เขต 1 สัมพันธวงศ์ ดุสิต พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก ปทุมวัน และราชเทวี ในนามพรรคประชาธิปัตย์
ผลปรากฏว่าตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสามรายได้รับเลือกตั้งยกทีม โดยเจิมมาศมีคะแนนเป็นลำดับสาม 109,974 คะแนน


ขณะที่ลีลาวดี วัชโรบล หนึ่งในตัวแทนของพรรคพลังประชาชน ที่ลงแข่งขันในเขตดังกล่าวเช่นเดียวกัน สอบตก โดยได้คะแนนเป็นลำดับสี่ 61,324 คะแนน
เท่ากับว่าเจิมมาศเคยเอาชนะลีลาวดีมาได้หนหนึ่งเมื่อปี 2550
นอกจากนั้น เขตนี้ ยังมี “กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ” อดีต ส.ก. พรรคประชาธิปัตย์ ที่หันมาลงแข่งสนามใหญ่ครั้งแรก ในนามพรรคพลังประชารัฐ

เขต7 บางซื่อ ดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี)

เดิมทีพื้นที่นี้เป็นของ ‘ชื่นชอบ คงอุดม’ หรือ เอ็ม (อดีตส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์) มาคราวนี้ตั้งพรรคใหม่รวมพลังท้องถิ่นไท ตัวเองควบตำแหน่งโฆษกพรรค โยกไปอยู่ในสนามบัญชีรายชื่

ทำให้เขตนี้น่าจับตาดูว่า ปชป.จะสามาถตรึงเก้าอี้ จากนิวบลัด NewDem ที่เป็นกระแสในโซเชียล อย่าง หมอเอ้ก คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ได้หรือไม่

ด้านพรรคเพื่อไทยที่ส่ง ผู้กองมาร์ค ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทยที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาลง เจา้ตัวเองเคยชิมลางตอนเลือกตั้งปี 2557มาแล้ว แล้วก็ใช้ความเคยลงพื้นที่มาตลอดมาแข็ง เขตนี้จึงน่าลุ้นเป็นอย่างยิ่ง

ส่วน พปชร. ส่ง อุ๋ม ธนิกานต์ นักธุรกิจสาวไฟแรงมาแข่ง

ต้องเขตนี้ถือว่าหน้าใหม่ๆได้แข่งและได้ลุ้นกันอย่างแน่นอน

เขต 8 ลาดพร้าว วังทองหลาง (ยกเว้นแขวงพลับพลา)
“ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง” หรือหมวดเจี๊ยบ จากเพื่อไทย จะปะทะกับ “สรรเสริญ สมะลาภา” ส.ส.หลายสมัย ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ กทม.
ต้องจับตาดูว่าฝันเข้าสภาของหมวดเจี๊ยบจะเป็นจริงได้หรือไม่ เพราะศึกครั้งนี้ของเธอใหญ่หลวงนัก

เขต 9 หลักสี่ จตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล)
เป็นการปะทะกันระหว่าง “สุรชาติ เทียนทอง” ลูกชายป๋าเหนาะ นายเสนาะ เทียนทอง แห่งพรรคเพื่อไทย กับ “พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ” แห่งพรรคประชาธิปัตย์
แม้ พล.ต.ต.วิชัย เจ้าของฉายามือปราบหูดำ จะมีเครดิตชื่อเสียงที่ดี ทั้งยังลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฐานเสียงเข้มแข็งในกรุงเทพฯ
แต่สุรชาติ ซึ่งเป็น ส.ส.เก่า เขตหลักสี่และดอนเมือง เมื่อการเลือกตั้งปี 2554 ก็มีดีกรีไม่ธรรมดา เพราะในครั้งก่อน เขาเคยเบียดเอาชนะบิ๊กเนมอย่าง “สกลธี ภัททิยกุล” ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น มาแล้ว

เขต 15 มีนบุรี, คันนายาว (ยกเว้นแขวงรามอินทรา)
“วิชาญ มีนชัยนันท์” ส.ส.กทม.หลายสมัย จากพรรคเพื่อไทย ต้องเจอสองคู่แข่งรุ่นหนุ่ม
คนแรก คือ “ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ไฮโซลูกนัท” ผู้โด่งดังในช่วงม็อบ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ


อีกคน คือ “ชาญวิทย์ วิภูศิริ” ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ในปี 2554 ชาญวิทย์เคยลงสมัคร ส.ส. เขตนี้ ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่วิชาญ เจ้าของพื้นที่
น่าสนใจว่าแม้คราวนี้ ชาญวิทย์จะย้ายมาสมัคร ส.ส. กับพรรคพลังประชารัฐ แต่บิดาของเขา คือ “อัศวิน วิภูศิริ” ยังนั่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่

เขต 26 บางบอน, หนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม)
“วัน อยู่บำรุง” ลูกชายคนโตของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะสงสมัคร ส.ส. อีกครั้ง ในนามพรรคเพื่อไทย
คู่แข่งสำคัญ คือ “พ.ต.อ.นพ.สามารถ ม่วงศิริ” จากพรรคประชาธิปัตย์
ตระกูลม่วงศิริครองความยิ่งใหญ่ในฝั่งธนฯ มาตลอดในระยะหลัง ขณะที่ลูกชายของ ร.ต.อ.เฉลิม ยังไม่เคยประสบความสำเร็จเลยในสนามเลือกตั้งระดับชาติ จึงน่าจับตาว่าผลลัพธ์ของศึกครั้งนี้จะลงเอยในอีหรอบเดิมหรือไม่


ขณะเดียวกัน “วัชระ กรรณิการ์” ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ก็มีดีกรีการเมืองมากพอสมควร เพราะเคยร่วมงานกับพรรคชาติไทยพัฒนามาก่อน

เขต 28 บางแค
คือการปะทะกันระหว่าง “วัฒนา เมืองสุข” จากเพื่อไทย กับ “อรอนงค์ คล้ายนก” จากประชาธิปัตย์
ในแง่ชื่อเสียงวงกว้างตามพื้นที่สื่อ เสี่ยไก่ วัฒนา โด่งดังกว่าอยู่แล้ว ทั้งเพราะเคยผ่านตำแหน่งรัฐมนตรี แถมหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา เขาก็เป็นนักการเมืองไม่กี่รายที่กล้าท้าชนกับทหาร
แต่นี่คือการลงเลือกตั้งในสนามกรุงเทพฯ ครั้งแรกของเจ้าตัว สนามที่พรรคเพื่อไทย/พลังประชาชน พลาดท่าพ่ายแพ้พรรคประชาธิปัตย์มายาวนานร่วมทศวรรษ


ขณะเดียวกัน อรอนงค์ก็มีประวัติไม่ธรรมดา เพราะเธอเป็น ส.ส. กทม. มาแล้วสองสมัย โดยล่าสุด เมื่อปี 2554 เธอสามารถเอาชนะคู่แข่งจากพรรคเพื่อไทย คือ หมวดเจี๊ยบ สุณิสา ไปร่วมห้าพันคะแนน
ในเขตนี้ ยังมีอีกหนึ่งสีสัน เมื่อ “น้องวิว เยาวภา บุรพลชัย” อดีตนักเทควันโดสาวฮีโร่เหรียญทองแดงโอลิมปิก จะลงสมัครในนามพรรคชาติพัฒนา

สีสันอื่นๆ ในสนามเลือกตั้ง กทม.

เขต 13 บางกะปิ, วังทองหลาง (เฉพาะแขวงพลับพลา)
เป็นการชนกันระหว่างยังบลัดของสองพรรคใหญ่
คนแรก คือ “ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส” หรือ ปุ๊น จากเพื่อไทย เขาเป็นนักธุรกิจ อดีตนักแต่งเพลงและศิลปินในสังกัดอาร์เอส ปัจจุบัน คือ เด็กปั้นคนหนึ่งของคุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์


อีกคน คือ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ ไอติม จากประชาธิปัตย์ หลานชายแท้ๆ ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งก่อนหน้านี้ เริ่มมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไฮไลท์สำคัญ คือ การสมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์
นี่ไม่ใช่ศึกช้างชนช้าง แต่เป็นศึกระหว่างยังบลัดหน้าใหม่ ซึ่งต้องจับตาผลการแข่งขัน

เขต 14 บึงกุ่ม, คันนายาว (เฉพาะแขวงรามอินทรา)
เมื่อปี 2554 สนามนี้ เป็นการปะทะกันระหว่าง “พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ” แห่งเพื่อไทย กับ “พนิช วิกิตเศรษฐ์” แห่งประชาธิปัตย์
ผลลงเอยที่พลภูมิเป็นฝ่ายชนะไปเกือบสองพันคะแนน


มาคราวนี้ พลภูมิยังลงป้องกันตำแหน่งแชมป์เช่นเคย แต่คู่แข่งขันจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะพนิชได้ส่งไม้ต่อให้บุตรชาย “พรพรหม วิกิตเศรษฐ์” ลงสนามแทน
ต้องจับตาดูว่าคนหนุ่มอย่างพรพรหมจะแก้มือให้ผู้เป็นพ่อได้หรือไม่

เขต 16 คลองสามวา
ในการเลือกตั้งปี 2554 “จิรายุ ห่วงทรัพย์” อดีตสื่อมวลชน ที่ลงสนามในนามพรรคเพื่อไทย เคยพลิกล็อกเอาชนะ “สมัย เจริญช่าง” อดีต ส.ส.หลายสมัย จากประชาธิปัตย์ได้


ในคราวนี้ จิรายุยังลงป้องกันตำแหน่งเช่นเดิม แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติส่ง “ฮูวันดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง” ลงแข่งขัน
ต้องจับตาดูว่าน้องสาวของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จะเอาชนะแชมป์เก่าอย่างจิรายุได้หรือไม่

เขต 30 บางพลัด บางกอกน้อย
ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 พื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลดลง และมีการขีดเส้นแบ่งเขตกันใหม่
หนึ่งในผลลัพธ์ของความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นที่เขต 30 (บางพลัด, บางกอกน้อย) ซึ่งส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ต้องประชุมหารือกันเพื่อลงมติว่าจะเลือกเอาอดีต ส.ส. เมื่อปี 2554 คนไหนลงสมัครในเขตนี้


ระหว่าง “ชนินทร์ รุ่งแสง” อดีต ส.ส. เขต 32 (ตลิ่งชัน บางกอกน้อย เฉพาะแขวงบ้านช่างหล่อและบางขุนศรี) กับ “รัชดา ธนาดิเรก” อดีต ส.ส. เขต 33 (บางพลัด บางกอกน้อย ยกเว้นแขวงบ้านช่างหล่อและบางขุนศรี)
สุดท้ายกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเลือกรัชดา โดยให้เหตุผลว่าเขต 30 ในระบบใหม่ เป็นพื้นที่เดิมของเธอ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นพื้นที่เดิมของชนินทร์เพียง 25 เปอร์เซ็นต์
คู่แข่งของรัชดา จะเป็น “พงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ” จากเพื่อไทย ที่เคยพ่ายแพ้รัชดาไปสี่พันคะแนน เมื่อปี 2554 และ “จักรพันธ์ พรนิมิตร” จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเมื่อปี 2548 เคยลงสมัคร ส.ส. กทม. ในพื้นที่นี้ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่พ่ายให้กับผู้สมัครพรรคไทยรักไทย