ภาวินีย์ เจริญยิ่ง : พล.ท.เนอดา เมียะ ลูกชายนายพลโบเมียะ “เรื่องการเมืองพม่าลึกซึ้งมาก”

ช่วง 2-3 ปีมานี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ กับรัฐบาลพม่าทางด้านชายแดนไทย จ.ตาก-แม่ฮ่องสอน ค่อนข้างเงียบสงบ

ภายหลังชนกลุ่มน้อย 8 กลุ่มได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย 8 กลุ่มที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อปลายปี 2558

ประกอบด้วย สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (PNLO) แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) กองกำลังแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) กองกำลัง DKBA และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน/กองทัพรัฐชานใต้ (RCSS/SSA-S)

ล่าสุดในงานฉลองปีใหม่ที่กองพล 7 ฝั่งตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก “พล.ท.เนอดา เมียะ” ผู้บัญชาการกองทัพพิทักษ์กะเหรี่ยงแห่งชาติ KNDO(Karen National Defence Oganization) บุตรชายนายพลโบเมียะ อดีตประธานาธิบดีรัฐกะเหรี่ยงเคเอ็นยู เปิดโอกาสให้สนทนาในหลากหลายหัวข้อ ทำให้ได้รับรู้ว่าท่ามกลางความเงียบสงบ แต่ฝ่ายทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยก็ยังเคลื่อนไหวกันอยู่ (มีปะทะกันบ้างประปราย)

ชี้ชัดว่าสันติภาพที่ทุกฝ่ายเรียกร้องนั้น ไม่ได้อยู่แค่เอื้อม

 

: ในพื้นที่สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่เจรจาหยุดยิงกับพม่าเมื่อปี 2558 สถานการณ์เงียบ แต่น่าเป็นห่วงเหมือนกันเพราะพม่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของกะเหรี่ยงลึกเข้าไปหลายจุด ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในพื้นที่กองพล 5 (ฝั่งตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) ที่พม่าไปทำเส้นทางโดยไม่ได้ขออนุญาตจาก KNU ตอนนี้กะเหรี่ยงต่างระมัดระวัง เพราะพม่าบอกหยุดยิงเอง แต่ทหารพม่าก็กำลังรุกเข้ามาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวบ้านการเดินทางไปๆ มาๆ สะดวกขึ้น อันที่จริง ปัญหาคือเรื่องการเมือง ซึ่งต้องเจรจากับพม่าเรื่องการเมือง ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอย่างเดียว เพราะพม่าบอกว่าเมื่อมีการหยุดยิงแล้วก็ทำธุรกิจได้ ทำให้บางคนดีใจ

แต่จริงๆ ถ้ามองถึงเรื่องการเมือง ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะสิ่งที่กะเหรี่ยงต้องการใน พ.ศ.นี้ คืออยากมีเสรีภาพ มีเอกราช มีแผ่นดิน มีรัฐของตัวเอง ให้มีการปกครองแบบสหพันธรัฐแต่พม่าก็ไม่ยอม อยากจะคุมทั้งหมด และอยากจะให้กะเหรี่ยงเป็นพม่า

สิ่งนี้กะเหรี่ยงยอมไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพม่าอีก ปัจจุบันมีกะเหรี่ยงกระจายอยู่ทั่วในพม่า 10 ล้านกว่าคน แต่อยู่ที่รัฐกะเหรี่ยงมีประมาณ 3 ล้านคน

 

: อีกนานไหมถึงจะเกิดสันติภาพ

ถ้าพม่าจริงใจก็โอเค ถ้าไม่จริงใจ กะเหรี่ยงก็มีเป้าหมายเพราะต่อสู้มาเกือบ 70 ปีแล้ว 31 มกราคมนี้จะครบ 70 ปีที่ต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพ ก็ฝันที่จะทำให้สำเร็จเหมือนกัน

ตอนนี้ต่างคนต่างไม่เชื่อใจกัน พม่าก็ไม่เชื่อกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงก็ไม่เชื่อพม่า เพราะว่า 1.ตอนนี้พม่าใช้บีจีเอฟ โดยให้เงินเดือน แต่ขนาดบีจีเอฟก็ไม่เชื่อพม่า เพราะเขาคิดว่าโดนหลอกใช้ ส่วนกะเหรี่ยงที่ไม่อยู่กับพม่าก็ได้ยินข่าวว่าที่พม่าวางแผนจะเข้าตีกะเหรี่ยง ได้ยินเรื่องนี้มาตลอด

“เรื่องสันติภาพขึ้นอยู่กับพม่า เพราะกะเหรี่ยงเปิดใจอยู่แล้ว ถ้าจะเอาจริงก็โอเค พวกเราไม่อยากสู้รบ เนื่องจากไม่ดีต่อกะเหรี่ยงเหมือนกัน แต่ถ้าพม่ายังทำเหมือนเดิมๆ ก็ไม่มีใครเชื่อพม่า”

ขณะเดียวกันกะเหรี่ยงก็ต้องเตรียมพร้อม เพราะว่า 1.ไม่ยอมใครอยู่แล้ว ไม่ยอมวางอาวุธ พม่าก็หลอกใช้ ไม่มีความจริงใจ ถ้าพม่ามีความจริงใจแล้วต้องปล่อยอำนาจให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเอกราช พม่าก็ไม่ยอม สภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ คนกะเหรี่ยงที่อยู่ในพม่า ไม่มีสิทธิจะเรียนภาษาของตัวเอง ไม่มีโรงเรียน ส่วนมากเป็นกะเหรี่ยงแต่พูดกะเหรี่ยงไม่ได้แล้ว ต้องพูดพม่า ถ้าพูดกะเหรี่ยงจะโดนดูถูก”

: KNDO มีทหารทั้งหมดเท่าไหร่

มี 10,000 กว่าคน อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนหนึ่งยึดจากพม่า และได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ เพราะต้องมีการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้

เวลานี้พม่ารบที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะรวมแล้วประชากรน้อยกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ อย่างรบกับคะฉิ่นก็ไม่ชนะ ขณะที่กะเหรี่ยงยังไม่รบ หากคะฉิ่น ไทใหญ่ และกะเหรี่ยงร่วมรบ พม่าสู้ไม่ได้แน่นอน เพราะว่ากองกำลังทหารพม่าจำนวนทั้งหมดมีไม่เกิน 3 แสนกว่าคน แต่พม่ามักบอกว่ามี 5 แสน จริงๆ ไม่ถึง เพราะตอนออกลาดตระเวนมีแค่ 7-8 คน แต่ละจุดมี 20 คน ไม่มีกำลังเท่าไหร่ เมื่อจะยึดพื้นที่ วางกำลังไว้ 7-30 คน พอมีการสู้รบจริงๆ อาจจะยึดแค่ชั่วคราวได้ แต่คุมพื้นที่ไม่ได้เพราะไม่มีกำลังทหารพอ

ทหารพม่าอาจจะได้อาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศอื่นๆ แต่ทหารพม่าไม่มีประสิทธิภาพที่จะเอาชนะกะเหรี่ยงได้ เพราะเรียนรู้ตลอดว่าตั้งแต่รบกับพม่า ใช้วิธีแยกกะเหรี่ยงเป็น 2-3 กลุ่ม แล้วให้ตีกัน แต่พวกเรายืนได้อยู่ เพราะมีจุดยืน และมีเป้าหมาย แต่สำหรับทหารพม่าที่อยู่แนวหน้า ถามว่ามาที่นี่เพื่ออะไร เขาก็ไม่รู้ทำเพื่ออะไร ขณะที่กะเหรี่ยงรู้ แม้ไม่มีเงินเดือน แต่ทุกคนมีใจที่จะทำให้กับชาวกะเหรี่ยง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จ

ก่อนนายพลโบเมียะจากไป ฝากบอกว่าต้องทำให้สำเร็จ เพราะถ้าไม่มีเอกราชก็อยู่ไม่ได้ ต้องเป็นทาสพม่า ทุกคนไม่อยากเป็นทาสพม่า

“เราจะอยู่ด้วยกันแบบมีเสรีภาพ เราอยากเป็นเหมือนคน ไม่อยากเป็นเหมือนสัตว์ ไม่อยากให้อีกคนหนึ่งมาปกครอง มากดดันแล้วฆ่าชาวกะเหรี่ยง เรามีหู มีตา มีจมูก และมีสมอง เราจะคุมจะปกครองประเทศของเราด้วยตัวเอง”

: ธุรกิจหลักอะไรที่ทำรายได้ให้กับรัฐกะเหรี่ยง

มีธุรกิจเหมืองแร่แต่ไม่ใหญ่เท่าไหร่ และก็มีทำไม้บ้าง ยกตัวอย่างที่กองพล 5 กองพล 3 กองพล 1 และกองพล 4 ก็ทำเหมืองทองกันหมด จะเป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่ไปร่วมกับพม่า KNU ก็จะได้ในแง่ภาษี สัก 40%

: คิดอย่างไรที่ทุนจีนเข้ามาในเมียวดี

เขาบอกว่ามาตั้งไชน่าทาวน์ มีคนจีนเข้ามาเยอะ อยู่ในรัฐกะเหรี่ยงที่เป็นเขตของบีจีเอฟ (กองกำลังพิทักษ์ชายแดนชนกลุ่มน้อยฝ่ายรัฐบาล) แต่บีจีเอฟก็เป็นลูกน้องพม่า หัวหน้าของบีจีเอฟคือนายพลพม่า ไม่ใช่พันเอกซอชิ ตู่ ผู้บัญชาการบีจีเอฟ ที่ใหญ่ที่สุด นายพลของพม่าคุมเขาอีกชั้นหนึ่ง การกระทำทุกอย่าง พม่าคุมหมด เรื่องการเมืองพม่าลึกซึ้งมาก ถ้าดูข้างนอกจะมองไม่เห็น

อย่างพม่าทำไมเอาคนจีนเข้ามาที่เมืองเมียวดี แล้วก็ไปร่วมกับบีจีเอฟ ถ้าพม่าไม่อนุญาต บีจีเอฟก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างที่ไปกระทบถึงฝั่งไทยนี่คือยาเสพติด ซึ่งเพิ่มมาเยอะกว่าเดิมสองเท่า เพราะไม่มีคนสนใจ แล้วก็เรื่องกาสิโน และการค้ามนุษย์ ไปโน่นไปนี่ ไปต่างประเทศ ไปกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ไปจากพม่าเยอะขึ้น

ออง ซาน ซูจี
ทำอะไรไม่ได้
“ตอนนี้มันยากสำหรับเธอแล้ว”
: ที่นางออง ซาน ซูจี เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ ช่วยให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไปทางที่ดีหรือไม่

ไม่ดีขึ้น ตอนแรกคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ นางออง ซาน ซูจี ทำไม่ได้เพราะว่ากลัว ซึ่งจากการที่เคยอยู่ในคุก เคยโดนขังไว้ และอายุมากแล้ว แต่ก่อนผู้คนคิดว่า ออง ซาน ซูจี จะเป็นผู้เปลี่ยนประเทศ

สุดท้าย เมื่อเธอขึ้นมา ทหารบอกว่าต้องทำอย่างนี้ๆ อย่างเรื่องโรฮิงญาก็เช่นกัน เธอไม่พูดอะไรเลย ชาติพันธุ์อื่นๆ จึงโกรธมาก วันนี้ออง ซาน ซูจี ไม่มีชื่อเสียงเท่าไหร่ เธอทำเพื่อพม่ามากกว่า ไม่ใช่เพื่อคนทั้งประเทศ หรือทำเพื่อชาติพันธุ์

บางคนไม่รู้ คิดว่าพม่านี่จะมีการเปลี่ยนแปลง มีประชาธิปไตยแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ ออง ซาน ซูจี ทำอะไรไม่ได้ จะสร้างประเทศ ทำโน่นทำนี่แต่ก่อนเหมือนเขาคิด แต่ตอนนี้มันยากสำหรับเธอแล้ว

 

: แสดงว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ขับเคลื่อนสันติภาพตามสนธิสัญญาปางโหลง

การประชุมสัญญาปางโหลงแค่พม่าโชว์ให้ชาวโลกเห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย แต่เรื่องนี้พม่าหลอกใช้ แค่โชว์ประชุมแล้วทำแล้ว

ความจริงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย พม่าอยากจะยึดอำนาจไว้ และทำเหมือนเดิมต่อไป