ชีวิตดีไปอีก ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำ?

0

หลายคนคงเคยอ่านข่าว “เว็บไซต์บลูมเบิร์ก” รายงานเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่าประเทศไทยครองแชมป์ประเทศที่ “มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก” เป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยอันดับ 2 สิงคโปร์ และอันดับ 3 ประเทศญี่ปุ่น จากการจัดอันดับทั้งหมด 74 ประเทศทั่วโลก

โดย “ดัชนีความทุกข์ยาก” ที่ทำการสำรวจโดยบลูมเบิร์กนั้นคำนวนจากอัตราการว่างงานในประเทศ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราการว่างงานของไทยที่สำรวจจนถึงช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 นั้นอยู่ที่ระดับ 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคเพิ่มขึ้นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนในเดือนกรกฎาคม ขณะที่เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่ามีความสุขในเชิงเศรษฐกิจ

ส่งผลให้ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่เพียง 1.11 เปอร์เซ็นต์ ที่นับเป็นคะแนนที่ดีที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมานัั้น ไทยก็ครองอันดับ 1 ในดัชนีชี้วัดนี้เช่นกัน 

 

1480385639433

อย่างไรก็ตาม สถิติที่น่าสนใจอีกด้วยนั่นคือ อัตราการว่างงานของไทยเราทรงตัวอยู่ในระดับไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ติดต่อกันมา 4-5 ปีแล้ว แต่ปีนี้อาจจะขยับขึ้นเล็กน้อย

จากข้อมูลของ นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่าน เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน ต.ค. 59 มีสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% หรือ 450,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 120,000 ราย จากเดือน ก.ย.59 ที่ตัวเลขว่างงานอยู่ที่ 0.9% หรือ 330,000 ราย เนื่องจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมีการว่าจ้างงานลดลง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับฤดูการผลผลิตที่มีจำนวนน้อย แต่แม้ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้น ยังถือว่าไม่ได้สูงจนน่าเป็นห่วง เพราะปกติการว่างงานของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9-1% และเมื่อเทียบกับการว่างงานของประเทศอื่น ๆ ยังถือว่าของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

1480384688980เรื่องนี้มีคำอธิบายอยู่ คุณจิรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โฆษกของแบงก์ชาติ เคยให้เหตุผลเรื่องนี้เอาไว้กับบลูมเบิร์กหลายเหตุผลด้วยกัน

เหตุผลแรกสุดที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด นั่นคือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ของเรา “นิยาม” คนว่างงานตาม “โครงสร้าง” ทางเศรษฐกิจของประเทศเรา ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน นั่นคือเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ทำการเกษตรเป็นอาชีพ

ผลก็คือ เราจึงมีแรงงานประเภท “อันเดอร์เอ็มพลอยเมนต์” หรือที่ศัพท์ทางประชากรศาสตร์เรียกว่า “การทำงานต่ำระดับ” (อย่างเช่น จบปริญญาตรีแต่ไปทำนา ทำสวน เป็นต้น) กับ ผู้ที่ว่างงานตามฤดูกาล (ออฟ-ซีซั่น เอ็มพลอยเมนต์) ถูกนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “คนที่มีงานทำ” เข้าไปด้วย

ตัวอย่างเช่น เราเคยทำงานเป็นพนักงานประจำเคาน์เตอร์ของแบงก์สักแห่ง แต่ต้องออกจากงาน กลับบ้านนอก แล้วไปช่วยทำงานในไร่นาของพ่อแม่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็น “คนมีงานทำ” แล้ว

เหตุผลอย่างที่ 2 ก็คือ ไทยเราไม่มีหลักประกันการว่างงาน เหมือนในหลายๆ ประเทศ ที่ “รัฐ” จะเลี้ยงคนว่างงานไประยะหนึ่ง ผลก็คือ คนไทยเราพ้นจากงานเมื่อใดก็ต้องเร่งหางานใหม่ทำ

อย่างที่ 3 ก็คือ อัตราการเกิดของไทยเราลดลง อัตราการเกิดหรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่าอัตราเจริญพันธุ์ของไทยระหว่างปี 2010-2015 อยู่ที่เพียงแค่ 1.4 คนต่อสามีภรรยาคู่หนึ่ง นั่นทำให้แรงงานในตลาดแรงงานลดน้อยลง

อย่างที่ 4 ก็คือ เศรษฐกิจไทยเรามีภาคธุรกิจที่ถูกเรียกว่า ภาคธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการ (อินฟอร์มอล เซ็กเตอร์) ที่รวมเอาทุกอย่างที่นอกเหนือจากกิจการที่เป็นทางการอื่นๆ ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานไม่เต็มเวลา หรือทำงานส่วนตัว อย่างเช่น ขับจักรยานยนต์รับจ้าง หรือขายของทำนองหาบเร่แผงลอย ซึ่งว่ากันว่า คิดสัดส่วนเป็นจำนวนสูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

คนเหล่านี้ถูกถือว่าเป็น “คนมีงานทำ” เสียเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย

สุดท้าย ตำแหน่งงานที่เหลือของไทยนั้นถูกทดแทนด้วยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งว่ากันว่า มีอยู่ในไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน แล้วก็ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตรวจสอบได้ยากมากว่า มีงานทำหรือว่างงาน

อัตราว่างงานของไทยเราถึงได้ต่ำมากๆ แล้วก็ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ “ขมขื่น” กับภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุดในโลก

เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นอีกเรื่อง