E-DUANG : “จุดเปลี่ยน”รัฐบาล กับปัญหา”ชาวนา”

สถานการณ์วิกฤตอันเนื่องแต่ “ราคาข้าว” ก่อให้เกิด “สภาพการณ์”ใหม่ในทางการเมือง

สัมผัสได้จาก “ปฏิกิริยา” อันมาจาก “ชาวนา”

และทวีความร้อนแรง แหลมคม มากยิ่งขึ้น เมื่อมาถึง “ปฏิกิริยา” อันมาจาก “โรงสี”

ต้องยอมรับว่า “โรงสี” มี “ความกล้า”

เพราะตามปกติแล้วในฐานะ “ผู้ประกอบการ” ไม่อาจหาญถึงกับมีมติออกมาในเชิง “ประท้วง”

เพราะ “ประท้วง” เท่ากับ “ขัดขืน” ไม่เห็นด้วย

“ผู้ประกอบการ” ไม่ว่าเล็ก ไม่ว่าใหญ่ ไม่ว่าอยู่ในส่วนกลาง ไม่ว่าอยู่ในต่างจังหวัด

ล้วนไม่กล้าทำตัวเป็น”ปฏิปักษ์” กับ “อำนาจ”

หากเผชิญกับความเข้าใจผิด หรือแรงบีบจาก”อำนาจ”ก็มักจะก้มหน้าก้มตา ยอมรับ

อาศัย”ความนิ่ง” อาศัย”ความเงียบ”เป็นเครื่องมือ

แต่เมื่อประสบกับการถูกกล่าวหาว่า”สมคบคิด”กับ”กลุ่มการเมือง”

นอกจากออกมา”ปฏิเสธ”แล้วยัง”ต่อสู้”

ในความเป็นจริงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ท่าทีแบบที่”รัฐบาล”แสดงออก ท่าทีแบบที่”คสช.”แสดงออกถือว่า “น่ากลัว”

แล้วเหตุปัจจัยอะไรทำให้ “ชาวนา” ไม่กลัว

แล้วเหตุปัจจัยอะไรทำให้ “สมาคมโรงสีข้าวไทย” ไม่กลัว

คำตอบหรือคำอธิบายโดย”พื้นฐาน”ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เพราะว่า

1 ชาวนา”เดือดร้อน”จริงๆจาก”ราคาข้าว”

ขณะเดียวกัน 1 สมาคมโรงสีข้าวไทย ตระหนักว่าเป็น”ข้อ กล่าวหา”ซึ่งมิได้มีมูลฐาน”ความจริง”

เนื่องจากรู้ว่า “ราคา” มาจาก”กลไกตลาด”

ทั้งมิได้เป็นเพียงตลาดข้าว”ในประเทศ” หากที่สำคัญยังเป็นตลาดข้าวของ “โลก”

ตรงนี้เองจึงนำไปสู่”จุดเปลี่ยน”อย่างสำคัญ

จุดเปลี่ยนนี้กำลัง”สะท้อน”อย่างเด่นชัดและเป็น”รูปธรรม”ถึงองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงไปในทาง “การเมือง”

ยืนยัน “สถานะ”ของรัฐบาล ยืนยัน”สถานะ”ของคสช.

นั่นก็คือ เป็นสถานะที่ “ไม่เหมือนเดิม” อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เหมือนกับที่มีจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การเปลี่ยนแปลงนี้มีแรงสะเทือนจาก”เศรษฐกิจ”

เป็นเศรษฐกิจอันสัมพันธ์กับ “การทำนา” เป็นเศรษฐกิจอันสัมพันธ์กับ “ชาวนา” และสัมพันธ์กับผู้ประกอบการอันเป็นห่วงโซ่ไป

ยัง”ตลาด”ยังผู้ประกอบการ”โรงสี”

เมื่อบริหารจัดการปัญหา”เศรษฐกิจ”ไม่ดีก็จะกลายเป็นปัญหาในทาง “การเมือง”