ปริศนาโบราณคดี : การจากไปของ “จรัล มโนเพ็ชร” ฤๅวิญญาณยังร่ำไห้กับบทเพลง “มิดะ”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“มิดะ” ในจินตนาการ กับนิทาน “ลานสาวกอด”คืนศักดิ์ศรีแด่สตรีชาวอาข่า

เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 41  มติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1621 (วันที่ 9-15 กันยายน 2554)

การจากไปของ “จรัล มโนเพ็ชร”ฤๅวิญญาณยังร่ำไห้กับบทเพลง “มิดะ”

วันที่ 3 กันยายน ของทุกปี ร้าน “สายหมอกและดอกไม้” ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยคู่ชีวิต “อันยา โพธิวัฒน์” ได้จัดงาน “กึ๊ดเติงหา” (คิดถึงอาลัยหา) ระลึกการจากไปของศิลปินเพลงล้านนา “จรัล มโนเพ็ชร” ที่เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2544

โดยปี 2554 ถือว่าครบรอบ 10 ปี จึงมีการเปิดประเด็นเสวนาในหัวข้อ “ภารกิจปิดฝังมิดะ”
ในฐานะที่เพลงมิดะมีอายุเกือบ 30 ปี (จรัลประพันธ์เพลงนี้ในช่วงทศวรรษ 20) อันที่จริงควรเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีมิใช่หรือ ที่กาลเวลาผันผ่านนานเนิ่น แม้ศิลปินผู้รังสรรค์จะล่วงลับ หากแต่บทเพลงยังคงอมตะ ท้าทายยุคสมัย แล้วไฉนจึงต้องมี “ภารกิจปิดฝังมิดะ” ด้วยเล่า

สังคมไทยจะมีสักกี่คนที่รู้ข้อเท็จจริงว่า ยิ่งเพลงมิดะนี้กระหึ่มก้องมากขึ้นเพียงไร ความเจ็บช้ำน้ำใจของหญิงสาวชาว “อาข่า” ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความร้าวระบมมากขึ้นเพียงนั้น
และเชื่อว่าดวงวิญญาณของจรัล มโนเพ็ชร คงย่อมรับรู้ได้

มีอะไรผิดปกติในเพลง “มิดะ” ล่ะหรือ แม่ญิงสอนกามโลกีย์ให้ชายไม่ประสีประสา มีอยู่จริงในวัฒนธรรมอาข่า หรือเป็นเพียงแค่นิทานขายฝัน

หนังสือ “30 ชาติในเชียงราย”จุดประกายขายฝันลานสาวกอด
ก่อนหน้าเพลงมิดะ เคยมีทั้งภาพยนตร์เรื่อง “แก้วกลางดง” และ “ลานสาวกอด” เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูท่อนเพลงที่ว่า “ไปกอดสาวกันที่ลานสาวกอด” ขับร้องโดย พนม นพพร ซึ่งต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวยุคบุกเบิกนาม “บุญช่วย ศรีสวัสดิ์” ไม่ต่างจากจรัล มโนเพ็ชร

บุญช่วยเป็นชาวเชียงรายเกิดปี 2460 เขารักนิสัยการแรมรอนนอนแคมป์ สืบค้นปูมหลังของชนชาติไทเผ่าต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ข้ามโขดเขินเดินทางไกลถึงสิบสองปันนาในจีน สิบสองจุไทในเวียดนาม ไทอาหมในอินเดีย

หลังจากชีพจรลงเท้าหลายพันไมล์จนตกผลึก บุญช่วยประเดิมงานเขียนเรื่องเร้นลับเร้าใจ “30 ชาติในเชียงราย” ตีพิมพ์เมื่อปี 2492 เป็นงานเขียนสารคดีแนวชาติพันธุ์วรรณาเล่มแรกๆ ในสยามประเทศ
บุญช่วยจึงเป็นผู้จุดประกายเรื่อง “มิดะ” หญิงงามที่เป็นหมันและเป็นหม้าย คอยทำหน้าที่ “เบิกพรหมจารีย์” ให้แก่หนุ่มรุ่นกระทงโดยไม่คิดค่าจ้าง และไม่ถือว่าผิดศีลข้อกาเม

ผลพวงของหนังสือเล่มนั้น ตามติดด้วยเพลงมิดะซึ่งดังระเบิดเถิดเทิงก็คือ ปฏิกิริยาเชิงลบจากสายตาคนภายนอกที่มีต่อวัฒนธรรมชาว “อาข่า” หรือที่บุญช่วยและเพลงมิดะเรียกว่า “อีก้อ”

หนุ่มๆ กำดัดหลายคนบุกถึงถิ่นดอยสูง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพียงเพื่อค้นหา “มิดะ” ให้ทำหน้าที่ช่วย “ขึ้นครู” ปลดเปลื้องกามารมณ์ โดยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าที่นี่เป็นสังคมฟรีเซ็กส์

ถ้าเช่นนั้น บุญช่วยไปเอาข้อมูลนี้จากไหนมาเขียนเป็นตุเป็นตะ ข้อสำคัญหนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องจากแวดวงวรรณกรรม ให้เป็นหนังสือคลาสสิกที่คนไทยต้องอ่าน “หนึ่งในร้อย” เล่มอีกด้วยมิใช่หรือ?

คือ “มิดะ” ในจินตนาการ กับนิทาน “ลานสาวกอด”
ในยุคที่บุญช่วยต้องดั้นด้นไปสืบค้นข้อมูลบนดอยสูงนั้น เขาปุเลงปุเลงไปตัวคนเดียวแบบไม่มีล่าม จะว่าไปแล้ว การสื่อสารกันคนละภาษา น่าจะเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งยวดในการทำงานของนักเขียนสารคดีรุ่นเก๋า
หนังสือที่จะใช้อ้างอิงแต่ละเล่มก็ช่างจำกัดจำเขี่ยเหลือทน เพราะเขาเป็นคนพื้นราบรายแรกๆ ที่อาจหาญชาญชัยบุกเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับคนหลากเชื้อชาติหลายภาษามากถึง 30 ชนเผ่า ข้อมูลบางส่วนนั้นเขาต้องอาศัยการแปลมาจากหนังสือของนักมานุษยวิทยาชาวตะวันตก

งานเขียนของบุญช่วยจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงแบบงานวิจัยเชิงวิชาการเต็มร้อย แต่มันน่าจะมีคุณค่าฐานะ “สารคดีเรื่องเล่า” ที่ช่วยเปิดโลกแห่งการรับรู้เรื่องชนกลุ่มน้อยในสยามให้แก่ผู้สนใจพอเป็นปฐมบท
ทว่า ณ วันนี้ เยาวชนชาวอาข่ามีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงขึ้น หลายคนจบปริญญาเอกปริญญาโท พรมแดนที่เคยขีดเส้นแบ่งให้พวกเขาต้องกลายเป็นตัวประหลาด ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ถูกคนพื้นราบกระแหนะกระแหนว่า “อีก้อกินเนื้อหมา” หรือ “นี่ไงมิดะมั่วเซ็กส์” ย่อมต้องได้รับการทบทวนข้อบิดเบือนนั้นอย่างเป็นกระบวนการ สตรีอาข่าวันนี้จักไม่ยอมจำนนต่อภาพนางบาปเหมือนดังอดีตอีกต่อไป

ไม่มี “มิดะ” ไม่มี “กะลาล่าเซอ” ไม่มี “ลานสาวกอด”
บางคนย้อนถามว่า ช่วงที่เพลง “มิดะ” ดังใหม่ๆ ทำไมจึงไม่มีชาวอาข่าหรือนักสิทธิมนุษยชนหน้าไหนลุกขึ้นมาประท้วง ไยจึงปล่อยให้บทเพลงนี้มีอิทธิพลต่อการรับรู้ในสังคมไทยอยู่นาน
คำตอบก็คือ เพราะชาวอาข่ายุคสามสิบปีก่อน มีข้อจำกัดในการฟังภาษาไทย เมื่อมีคนมาสอบถามว่าที่นั่นมี “มิดะ” จริงหรือ ก็พยักเพยิดหน้า เนื่องจากฟังคล้ายๆ กับคำว่า “หมี่ดะ” ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ที่ไม่รู้ว่า “มิดะ” ในมุมมองของคนนอกนั้นหมายถึงอะไร

ในภาษาอาข่าไม่มี “มิดะ” มีแต่คำว่า “หมี่ดะ” หมายถึง “หญิงสาวในวัยพร้อมจะมีครอบครัว” คือชาวอาข่าแบ่งชื่อเรียกผู้หญิงตามช่วงวัยทั้ง 4

ทารกแรกเกิดถึง 12 ขวบ เรียกว่า “อะบู้ยะ” โตเป็นสาวแรกรุ่นอายุ 13 – 17 ปี เรียกว่า “หมี่เดอเดอจ๊อง” โดยกำหนดให้ใส่หมวกลักษณะหนึ่ง ครั้นอายุ 18 – 24 ปี เรียกว่า “หมี่ดะ” คือพร้อมที่จะแต่งงาน ต้องใส่เครื่องประดับเต็มยศมีขนไก่ หลังจากอายุ 24 ปีขึ้นไป เรียกว่า “หมี่เด๊ะ” คือเป็นแม่เหย้าแม่เรือนแล้ว


ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่เบื้องหลังคำว่า “หมี่ดะ” ก็เป็นแค่หญิงสาวในวัยหนึ่ง
ส่วน “กะลาล่าเซอ” ที่บุญช่วยให้คำจำกัดความว่าหมายถึง “ลานสาวกอด” หรือ “ลานรักลานสวรรค์” จนเรามองเห็นภาพหญิงสาวนั่งชิงช้าเย้ายวนรอให้ชายหนุ่มมาเล้าโลม หากชายหนุ่มเลือกกอดหญิงสาวคนใดแล้ว เกิดฝ่ายหญิงมีใจปฏิพัทธ์ก็จะกอดตอบ เป็นอันว่าต่างคนต่างเจอเนื้อคู่ที่ถูกใจ แต่หากกอดแล้วถูกหญิงสาวผลักไส ก็แสดงว่าหล่อนไม่เล่นด้วย เมื่อหน้าแตกก็ต้องไปเสี่ยงดวงไล่กอดสาวคนใหม่อีก
นั่นคือภาพ “ลานสาวกอด” ที่บุญช่วยพรรณนาไว้ แต่แท้จริงแล้วไม่มี “กะลาล่าเซอ” ไม่มี “ลานสาวกอด” ในบริบททางวัฒนธรรมของอาข่า
ภาษาอาข่ามีแต่คำว่า “กะล้าหละเฉ่อ” โดยแยกเป็นสองคำ “กะล้า” คือคำเรียกคนฝรั่งหรือคนแขกแปลกหน้า ทำนองแขกกุลา ส่วน “หละเฉ่อ” คือ “ชิงช้า” ซึ่งชาวอาข่าตั้งชิงช้าสูงไว้ที่ลานกว้าง ลานดังกล่าวนี้เรียกว่า “แดข่อง” หรือ “แตห่อง” เพื่อรองรับประเพณีโล้ชิงช้า มีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นพิธีเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลพืชไร่ แต่ยามที่ไม่มีพิธีใดๆ คนทั่วไปก็สามารถมานั่งเล่นชิงช้านั้นได้ และชิงช้านี้มักเป็นที่นิยมของหญิงสาววัย “หมี่ดะ” ที่ชอบมาพบปะพูดคุยกัน

เพราะฉะนั้น กะล้าหละเฉ่อ หากแปลตรงตัวจึงหมายถึง ชิงช้าฝรั่ง ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเหมือนชิงช้าสวรรค์ ชิงช้าหมุน เพื่อความบันเทิงสนุกสนาน ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับลานวัฒนธรรมและประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าเลย

การพบปะกันที่ลานกว้างนั้น เป็นไปในลักษณะคล้ายลานวัฒนธรรม ลานที่ทุกคนมารวมตัวกัน คราวที่ต้องทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในวงวัฏ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ฝังศพ แต่งงาน หรือใช้เป็นลานเล่านิทานภาษิต แม่สอนลูก ปู่สอนหลาน

ไม่ใช่ลานสำหรับกอดสาว หรือลานของหญิงหม้ายเจ้าเสน่หน์มาสาธยายชั้นเชิงกามรสแบบประเจิดประเจ้อ!

ระหว่างศิวิไลซ์ กับป่าเถื่อนคำประกาศจากเจ้าของวัฒนธรรม
นักมานุษยวิทยารุ่นใหม่หลายคนยังคงคลางแคลงใจ จึงตั้งสมมติฐานว่า หากแม้น “มิดะ” หรือ “กะลาล่าเซอ” มีอยู่จริงในสังคมชาวอาข่า ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องเสียหาย หรือสะท้อนภาพความป่าเถื่อนแต่อย่างใดไม่
ในมุมกลับกัน สังคมใดก็ตามที่มีการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้ลองถูกลองผิด เรียนรู้จักกันและกันด้วยตัวเองก่อนแต่งงาน อาจมีการถูกเนื้อต้องตัวสัมผัสรัดกอดกันบ้าง ก็ย่อมน่าจะศิวิไลซ์กว่าสังคมที่ลูกสาวต้องยอมจำนนต่อการที่บุพการีเลือกคู่ครองให้ในลักษณะคลุมถุงชน

หรือหากสังคมนั้น มีแม่หญิงงามเมืองในทำนอง “มิดะ” เกจิโลกีย์คอยชี้แนะเรื่องเพศสัมพันธ์เชิงลึกให้แก่หนุ่มวัยใสแบบเปิดเผยจริง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องหยาบโลนน่าอาย แสดงว่าสังคมนั้นมีพื้นฐานเรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะทำความเข้าใจต่อเพศตรงข้ามในระดับสูง เป็นความศิวิไลซ์คล้ายกับสังคมยุคกรีกโรมันโบราณทีเดียว

ปัญหาก็คือชาวอาข่าหาได้ยินดีกับคำยกย่องในมิติที่เห็นว่าพวกเขาเป็นสังคมที่เปิดกว้างเสรีภาพทางเพศ ตามแนวคิดแบบปรัชญาตะวันตกไม่

พวกเขายังคงยืนยันว่าในประวัติศาสตร์มนุษยชาติของชาวอาข่าที่สืบทอดกันมานานกว่า 33 ชั่วอายุคน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องอาข่าที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินผืนใด ทั้งในประเทศไทย จีน ลาว พม่า เนปาล หรือไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ชาวอาข่าไม่เคยมีเรื่องมิดะอยู่จริง และมิใช่ว่าเคยมีอยู่จริงในยุคที่บุญช่วยไปเก็บข้อมูลเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน แต่แล้วแอบยกเลิกไปเพราะความหวั่นไหวอับอายต่อคำครหานินทาของคนชาติพันธุ์อื่น แล้วเพิ่งมาออกตัวแก้เก้อ

ในเมื่อมันไม่เคยมีอยู่จริง ก็ต้องยืนกรานประกาศให้เสียงดังก้องโลก ว่าโปรดหยุดทำร้าย “หมี่ดะ” หญิงสาวพรหมจรรย์ผู้บริสุทธิ์ ด้วยภาพลักษณ์ของ “มิดะ” ทีเถอะ!

ฉะนั้น เมื่อเราอ่านหนังสือเรื่อง “30 ชาติในเชียงราย” ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ แล้วพบเรื่องราวของ “มิดะ” โปรดพึงทำใจไว้ว่าเรากำลังอ่านนิทาน หรือยามที่เราได้สดับเพลง “มิดะ” อันแสนพริ้งพราย ก็ขอให้คิดเสียว่าเรากำลังเสพงานคีตศิลป์ชิ้นเยี่ยม ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ

คงไม่ต้องถึงกับปฏิบัติการไล่ล่า “ภารกิจปิดฝังมิดะ” ตามเก็บกวาดล้างเทปซีดีเพลงมาเผาทำลาย หรือจะต้องขอถอนรายชื่อหนังสือ “30 ชาติในเชียงราย” ออกจากหนังสือหนึ่งในร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่านหรอก
มองมุมกลับ ทั้งบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และจรัล มโนเพ็ชร ทั้งสองคือผู้จุดสะกิดสะเกาบาดแผลให้นักมานุษยวิทยาต้องลุกขึ้นมาเต้นผาง ทบทวนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านชาติพันธุ์วรรณา ที่เราเคยทระนงตนว่า “ชาวเรารู้จักชาวเขา” แล้วเป็นอย่างดี ว่าคำพูดนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์มากน้อยเพียงไหน
เชื่อว่าคงไม่ใช่เผ่าอาข่าเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ถูกกระทำ

นี่ยังไม่รวมถึงความคิดของชนชั้นกลางชาวกรุง ที่มักประณามคนบ้านนอกคอกตื้อแถบภาคเหนือภาคอีสานว่าเป็นลาว โง่จนเจ็บ ถูกหลอกซื้อเสียงทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง

ช่องว่างระหว่างอคติ นิทาน กับข้อเท็จจริง ที่ผู้ดีในสังคมไทยฝากบาดแผลร้าวลึกไว้กับคนชายขอบทุกชาติพันธุ์ ถูกหมักหมมมานานหลายศตวรรษ ถึงเวลาที่ควรคลี่คลายปมปัญหาอย่างเป็นองคาพยพแล้วหรือยัง โดยใช้กรณี “มิดะ” “กะลาล่าเซอ” เป็นภารกิจนำร่องอย่างเร่งด่วน