ชุดครุย ถือกำเนิดเมื่อครั้งใด

ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีชุดครุยที่ต่างกันไป เช่น ชุดครุยเป็นแบบโบราณพระราชพิธีไทย เนื้อผ้าโปร่ง สีขาว เรียกว่า “ครุยเทวดา” มหาวิทยาลัยที่ใส่แบบนี้ก็มีหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

และชุดครุยที่มีลักษณะเป็นชุดครุยคลุม มีสีดำ หรือบางทีอาจมีหมวกด้วย เรียกว่า “ครุยแบบตะวันตก” มหาวิทยาลัยที่ใช้ครุยในลักษณะนี้ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

ชุดครุยรับปริญญา เป็นเสื้อคลุมทับด้านนอก ใช้สวมเพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ แสดงถึงหน้าที่ในพิธีการ หรือแสดง วิทยฐานะ ธรรมเนียม การสวมเสื้อครุยของไทยนั้นไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าได้รับแบบมาจากที่ใด แต่คาดว่าน่าจะเริ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนที่พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต ไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ขณะนั้นท่านราชทูตแต่งกายด้วยการสวมเสื้อเยียรบับ มีกลีบทอง ดอกไม้ทอง และสวมเสื้อครุย

ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชกำหนดเสื้อครุย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ. 130 กำหนดเสื้อครุยข้าราชการไว้ 3 ชั้น เรียกว่าครุยเสนามาตย์แบ่งเป็นชั้น ปริญญาเอก เรียกว่า ”ดุษฎีบัณฑิต“ ปริญญาโท เรียกว่า “มหาบัณฑิต“ และปริญญาตรี เรียกว่า “บัณฑิต“
และนอกจากนี้ยังมีครุยวิทยฐานะ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เสื้อครุยวิทยฐานะ มีขึ้นครั้งแรกใน ประเทศไทยประมาณ ร.ศ. 116 ในสมัยที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์พระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลที่ 5 ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม โดยให้ผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้เป็น เนติบัณฑิตมีสิทธิสวมเสื้อครุย โดยเรียกว่า เสื้อเนติบัณฑิต

ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พระราชกำหนด เสื้อครุยบัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2473 แก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย แล้วหลังจากนั้นต่อมา บัณฑิตจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงได้มีการสวมครุยในวันเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน