สุจิตต์ วงษ์เทศ:แตรสังข์บัณเฑาะว์,ปี่ไฉนกลองชนะ ดนตรีศักดิ์สิทธิ์จากอินเดีย

ประโคมย่ำยามด้วยแตรสังข์บัณเฑาะว์กับปี่ไฉนกลองชนะ (ภาพจาก Facebook : Information Division of OHM)

แตรสังข์บัณเฑาะว์กับปี่ไฉนกลองชนะ เป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์ ที่ไทยรับจากอินเดียตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000 หรือยุคทวารวดี

ใช้ประโคมในพิธีกรรมสำคัญๆโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพระราชาของรัฐตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้วพัฒนาปรับปรุงใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สืบมาจนทุกวันนี้ เช่น ประโคมย่ำยามในพระราชพิธีพระบรมศพ

 

วงแตรสังข์บัณเฑาะว์

แตรสังข์บัณเฑาะว์ เป็นวงประโคมศักดิ์สิทธิ์ให้สัญญาณต่างๆ รับแบบแผนจากอินเดีย ที่สำคัญคือให้สัญญาณเสด็จเข้า-ออกของเทพเจ้า และพระราชา

ส่วนมโหระทึกเป็นเครื่องตีประโคมมีกำเนิดในอุษาคเนย์ (ไม่มีในอินเดีย) เพิ่มเข้ามาเพื่อความขลัง โดยปรับเปลี่ยนจากแขวนตีเป็นตั้งขึ้นเพื่อสะดวกในการประโคมตี

 

ปี่ไฉนกลองชนะ

ปี่ไฉนกลองชนะ เป็นวงประโคมแห่แหนในพระราชพิธีต่างๆ มีทั้งขนาดเล็กจำนวนกลองไม่มาก จนถึงขนาดใหญ่มหึมาจำนวนกลองนับไม่ถ้วน ชาวบ้านทั่วไปบางทีเรียกวง เปิงพรวด (เรียกตามเสียงกลอง)

มีต้นแบบจากอินเดีย เรียก ปัญจวาทย, ปัญจตุริย แล้วแผลงเป็น เบญจดุริยางค์ ประกอบด้วย เครื่องดนตรี 5 อย่าง ได้แก่ ปี่ 1 เลา กับ กลอง 4 ใบ มีปี่, กลอง, และอย่างอื่น แต่ไทยมักเรียกภาษารวมอย่างคล้องจองว่า “กลองสี่ ปี่หนึ่ง”

ลังกาเรียกอย่างนี้ว่า มังคลเภรี เป็นต้นแบบของวงมังคละ (ทางพิษณุโลก, สุโขทัย), วงกาหลง (ภาคใต้)

ปี่ไฉนกลองชนะ มีรากเหง้าจากปี่กับกลอง ใช้บรรเลงประโคมประกอบรำอาวุธ จึงมีคำคล้องจองว่า “รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง”

ปี่ เป็นหลักเป่าเดินทำนองไม่ให้ขาดเสียง มีเลาเดียว กลอง ตีประกอบจังหวะ ไม่จำกัดตายตัวจะมีแค่ 4 ก็ได้ ลดก็ได้ เพิ่มก็ได้

 

ปี่พาทย์นางหงส์

ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นชื่อเรียกวงปี่พาทย์ประโคมงานศพตามประเพณีที่สมมุติจากหงส์ส่งวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์

เพราะหงส์เป็นสัตว์มีปีก บินขึ้นถึงสวรรค์ได้ แล้วเรียกเป็นนางตามประเพณียกย่องเพศหญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม

นางหงส์แต่เดิมเป็นชื่อเรียกจังหวะหน้าทับกลองทัดที่ตีกำกับทำนองเพลงประโคมตอนเผาศพ ต่อมาเลยเรียกปี่พาทย์ที่ใช้ประโคมงานศพ ว่าปี่พาทย์นางหงส์

คำว่า นางหงส์ หมายถึง (นาง) นก (ตัวเมีย) ตามประเพณีดึกดำบรรพ์ที่ “ปลงด้วยนก” หมายถึงให้นกพาขวัญและวิญญาณขึ้นฟ้า (สวรรค์)

มีหลักฐานลายเส้นรูปนกบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว แต่เมื่อเปลี่ยนคติทำพิธีเผาศพตามอินเดียก็ยังรักษาร่องรอยดั้งเดิม คือให้นางนกพาขวัญและวิญญาณสู่ฟ้า กลายเป็น “เจ้าแห่งฟ้า” จึงเรียกนางนกอย่างยกย่องว่า “นางหงส์”

ที่มา : มติชนออนไลน์