จลาจลศาสนาครั้งร้ายแรงที่สุด เท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของของมนุษยชาติ

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ก.ย. – 4 ต.ค. 2550 บทความพิเศษ โดย ภูมิ พิทยา ในเรื่อง ปัญหาชนชาติและศาสนา (10)

ปากีสถานกับอินเดียได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 14 และวันที่ 15 สิงหาคม 1947 ตามลำดับ ปากีสถานประกอบด้วยดินแดนสองส่วน คือส่วนตะวันตกที่ประกอบด้วยแคว้นต่างๆ 4 แคว้นกับส่วนตะวันออกที่เป็นแคว้นเบงกอลตะวันออก ส่วนอินเดียประกอบด้วยแคว้นที่เหลือทั้งหมดกับรัฐในอารักขาของอังกฤษเกือบทั้งหมด รวมทั้งแคชเมียร์ที่เจ้าผู้ครองรัฐชาวฮินดูตัดสินใจให้รัฐของตนรวมกับอินเดีย

เมื่อปากีสถานกับอินเดียได้รับเอกราชและมีการแบ่งพรมแดนกันเรียบร้อยแล้ว ได้เกิดการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ขึ้นบนดินแดนสองฝั่งของพรมแดน การเข่นฆ่าสังหารรุนแรงที่สุดเกิดที่ปัญจาบ แคว้นนี้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนตะวันตกเป็นของปากีสถาน ส่วนตะวันออกเป็นของอินเดีย

ในส่วนของปากีสถาน ชาวมุสลิมได้จับกลุ่มตระเวนสังหารชาวฮินดูและชาวซิกข์หรือบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ชาวฮินดู และชาวซิกข์ จึงละทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สินต่างๆ อพยพหนีตายไปยังอินเดีย

ในปัญจาบส่วนที่เป็นของอินเดีย ชาวฮินดูกับชาวซิกข์ก็ปฏิบัติกับชาวมุสลิมแบบเดียวกัน ชาวฮินดูได้สังหารและขับไล่ชาวมุสลิมทั่วทุกหนทุกแห่ง ชาวซิกข์ถือดาบขี่จักรยานเที่ยวไล่ฟันชาวมุสลิม ชาวมุสลิมในเขตอินเดียจึงแห่กันอพยพไปอยู่ปากีสถาน

เมื่อผู้อพยพจากทั้งสองฝั่งมาพบกันกลางทาง ก็เกิดการเข่นฆ่าสังหารกันอีก

นอกจากปัญจาบแล้ว แคว้นที่ติดพรมแดนอื่นๆ ก็มีผู้อพยพจำนวนมากและมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นทั่วไป เบงกอลเป็นแคว้นที่มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นน้อยที่สุด เพราะ มหาตมะ คานธี มาอยู่ที่แคว้นนี้และพยายามใช้บารมีของท่านระงับเหตุร้าย แต่การไม่เข้าข้างชาวฮินดูของคานธีกลับสร้างความไม่พอใจแก่พวกคลั่งศาสนาชาวฮินดู พวกเขาจึงได้สังหารคานธีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1948

เหตุการณ์รุนแรงจากการแยกประเทศที่เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1947 ยืดเยื้อไปจนถึงกลางปี 1948 ในช่วงเวลานี้มีชาวฮินดูและชาวซิกข์อพยพออกจากปากีสถานไปอยู่อินเดียประมาณ 6 ล้านคน ชาวมุสลิมอพยพออกจากอินเดียไปปากีสถานประมาณ 8 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 600,000 คน ส่วนทรัพย์สินที่เสียหายประเมินค่าไม่ได้

เหตุการณ์ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นกรณีจลาจลศาสนาครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของของมนุษยชาติ

อินเดียภายหลังเอกราช ยังต้องวุ่นอยู่กับปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดูกับศาสนาอิสลามไม่จบไม่สิ้น ปัญหานี้แสดงออกในสองรูปแบบคือ รูปแบบแรกเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับปากีสถาน อีกรูปแบบหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกชนของสองศาสนานี้ในอินเดีย

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน มีจุดสำคัญอยู่ที่ข้อพิพาทแคชเมียร์ แคชเมียร์มีประชากรประกอบด้วย ชาวมุสลิม 77% ชาวฮินดู 20% ปากีสถานอ้างว่า ตามหลักการแบ่งดินแดนของแผนการเม้าต์แบตเทน แคว้นที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมต้องรวมกับปากีสถาน ดังนั้น แคชเมียร์จึงต้องอยู่กับปากีสถาน หรือไม่ก็จัดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ชาวแคชเมียร์เลือกว่าจะอยู่กับฝ่ายใด ส่วนอินเดียก็ถือว่าผู้ปกครองรัฐนี้ได้ตัดสินใจรวมกับอินเดีย และสภาท้องถิ่นของแคชเมียร์ได้ลงมติรวมกับอินเดียเมื่อปี 1954 การรวมแคชเมียร์เข้ากับอินเดียจึงมีความชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องลงประชามติอีก

อินเดียได้ส่งทหารเข้าไปแคชเมียร์ทันทีที่เจ้าผู้ครองรัฐประกาศรวมกับอินเดีย ปากีสถานก็ส่งทหารเข้าไปบ้าง จึงเกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งแรกขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 1947 แล้วยืดเยื้อไปตลอดปี 1948 ทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 1949 แนวหยุดยิงนี้ได้กลายเป็นแนวพรมแดนที่แบ่งแคชเมียร์เป็นสองส่วนมาจนทุกวันนี้

อินเดียสามารถยึดครองดินแดนประมาณ 2 ใน 3 ของแคชเมียร์ ส่วนปากีสถานยึดได้ 1 ใน 3

ข้อพิพาทแคชเมียร์ได้นำไปสู่สงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งที่สองในปี 1965 ต่อมาในปี 1971 ปากีสถานเกิดปัญหาแคว้นเบงกอลตะวันออกต้องการแยกตัวเป็นอิสระ รัฐบาลกลางได้ส่งทหารไปปราบปราม อินเดียถือโอกาสส่งทหารเข้าแทรกแซง จึงเกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งที่สามขึ้นมา ฝ่ายปากีสถานได้เปิดแนวรบขึ้นที่แคชเมียร์เพื่อกดดันอินเดีย สงครามสองครั้งหลังนี้ไม่มีผลต่อเขตยึดครองของทั้งสองฝ่ายในแคชเมียร์ ทั้งสองฝ่ายยังคงปักหลักตามแนวหยุดยิงของสงครามครั้งแรกเหมือนเดิม

นอกจากสงครามใหญ่สามครั้งแล้ว อินเดียกับปากีสถานยังเกิดสงครามขนาดย่อมที่แคชเมียร์ในปี 1984 และ 1999 ส่วนการสู้รบและการปะทะประปรายมีเกือบตลอดเวลา การสู้รบส่วนใหญ่เกิดจากชาวแคชเมียร์ที่ปากีสถานหนุนหลังเข้าไปลอบโจมตีเป้าหมายในเขตยึดครองของอินเดีย เมื่ออินเดียตอบโต้จึงเกิดการปะทะกับทหารของปากีสถาน

ปัญหาแคชเมียร์ไม่ใช่มีผู้เกี่ยวข้องเฉพาะอินเดียกับปากีสถานเพียงสองฝ่ายเท่านั้น ในแคชเมียร์ยังมีกลุ่มการเมืองและกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มหลายพวก บางพวกต้องการให้แคชเมียร์ส่วนที่เป็นของอินเดียรวมกับปากีสถาน แต่บางพวกไม่ต้องการรวมกับใคร หากแต่ต้องการแยกแคชเมียร์ทั้งส่วนของอินเดียและของปากีสถานไปตั้งเป็นประเทศเอกราช

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนที่มาจากประเทศต่างๆ พวกเขามีจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียวคือ ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ขับไล่คนนอกศาสนาออกจากดินแดนของชาวมุสลิมเท่านั้น โดยไม่สนใจว่าหลังจากคนนอกศาสนาถูกขับออกไปแล้ว ดินแดนนี้จะตกอยู่ในมือของชาวมุสลิมกลุ่มใด

ปัญหาแคชเมียร์ทำให้อินเดียกับปากีสถานกลายเป็นศัตรูกันมาตลอดตั้งแต่เริ่มได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน ความเป็นศัตรูทำให้ทั้งสองประเทศต้องรักษากำลังทหารขนาดมหึมาที่พร้อมรบตลอดเวลา ทั้งสองประเทศต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลไปในทางการทหารแทนที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ และเมื่อไม่นานมานี้ สองประเทศนี้ยังประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดปรมาณู กลายเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง อันตรายจากสงครามจึงยิ่งสูงขึ้น

ผู้นำของสองประเทศนี้จึงต้องพยายามควบคุมสติสัมปชัญญะ เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ อันจะนำความหายนะมาสู่ประชาชนของประเทศทั้งสอง

ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในประเทศเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้นำอินเดียต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ศาสนาอิสลามกับศาสนาฮินดูมีข้อแตกต่างมากมาย เช่น

ศาสนาอิสลามนับถือพระเจ้าองค์เดียว ศาสนาฮินดูมีเทพเจ้ามากมายนับไม่ถ้วน ศาสนาอิสลามไม่มีรูปเคารพ ศาสนาฮินดูนิยมสร้างรูปเคารพไว้บูชา ศาสนาอิสลามไม่นิยมศิลปะด้านดนตรี จิตรกรรมและประติมากรรม ส่วนศาสนาฮินดูถือว่าศิลปะทั้งสามแขนงนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของศาสนา

การทำพิธีทางศาสนาของศาสนาอิสลามต้องการความเงียบสงบ แต่ศาสนาฮินดูนิยมความอึกทึกครึกโครมในพิธีกรรมทางศาสนา ชาวมุสลิมนิยมบริโภคเนื้อโค ในขณะที่ชาวฮินดูนับถือโคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ การฆ่าโคของชาวมุสลิมจึงสร้างความโกรธแค้นแก่ชาวฮินดูมาก

นอกจากนี้ ผู้นับถือศาสนาอิสลามในอินเดียนอกจากกลุ่มผู้ปกครองที่มาจากต่างประเทศแล้ว ส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูวรรณะต่ำและพวกจัณฑาล ที่หันไปนับถือศาสนาอิสลามเพราะต้องการหนีให้พ้นฐานะต่ำต้อยของตน ชาวฮินดูวรรณะสูงจึงรังเกียจศาสนาอิสลามเพราะเห็นว่าเป็นของคนวรรณะต่ำ ข้อแตกต่างของศาสนานำไปสู่ความขัดแย้ง และเมื่อผนวกเข้ากับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผู้ปกครองอิสลามกดขี่ชาวฮินดูและความเจ็บปวดจากการแยกประเทศ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมจึงฝังแน่นอยู่ในใจของคนสองศาสนานี้

ซึ่งพร้อมที่จะระเบิดออกมาหากถูกกระตุ้นจากเหตุภายนอก

รัฐบาลพรรคคองเกรสที่ปกครองอินเดียภายหลังได้รับเอกราชพยายามสร้างความปรองดองระหว่างศาสนาต่างๆ รัฐธรรมนูญอินเดียกำหนดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ศาสนาทุกศาสนามีฐานะเท่าเทียมกัน ไม่มีศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ

อินเดียในช่วง 30 ปีแรกหลังเอกราชถือเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีปัญหาทางศาสนา ในช่วงเวลานี้ แม้มีเหตุการณ์ปะทะระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมเกิดขึ้นไม่น้อย แต่ขนาดของการปะทะไม่ใหญ่โตมาก จึงดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมอินเดีย แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 ความขัดแย้งและการปะทะทางศาสนาได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย

เหตุการณ์ปะทะนองเลือดทางศาสนาที่รุนแรงที่สุดก็คือเรื่องการรื้อมัสยิดบาบริ (Babri Masjid) และการสร้างวิหารพระรามที่เมืองอโยธยาในแคว้นอุตตรประเทศ

ชาวฮินดูเชื่อว่า อโยธยาเป็นที่ประสูติของพระราม เมืองนี้มีวิหารของพระรามที่สร้างมานมนาน ต่อมาพระเจ้าบาบาร์ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์โมกุลได้สั่งให้รื้อวิหารพระราม แล้วสร้างมัสยิดบาบริขึ้นมาแทนที่เมื่อปี ค.ศ.1528 เรื่องนี้ได้สร้างความปวดร้าวแก่ชาวฮินดูอย่างมาก ชาวฮินดูพยายามจะฟื้นวิหารพระรามตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1980 พรรคภารติยะชานาตะ (The Bharatiya Janata Party) และองค์กรศาสนาฮินดูหัวรุนแรง Vishwa Hindu Parishad ได้เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างวิหารพระรามขึ้นมาใหม่ องค์กรทั้งสองนี้ได้จัดชุมนุมชาวฮินดูประมาณ 200,000 คนที่อโยธยาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1992 ชาวฮินดูคลั่งศาสนาส่วนหนึ่งได้บุกเข้ารื้อทำลายมัสยิดบาบริในวันนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นชนวนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างศาสนิกชนของสองศาสนานี้ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,000 คน

ซึ่งนับเป็นการจลาจลทางศาสนาครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของอินเดียนับแต่แยกประเทศกับปากีสถานเป็นต้นมา

ความขัดแย้งจากการรื้อมัสยิดบาบริและการสร้างวิหารพระรามในอโยธยายังยืดเยื้อต่อไป เมื่อถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 ชาวมุสลิมที่โกรธแค้นในแคว้นคุชราตได้เผาขบวนรถไฟที่บรรทุกชาวฮินดูกลับจากไปร่วมงานก่อสร้างวิหารพระรามที่อโยธยา ทำให้ชาวฮินดูเสียชีวิต 58 คน เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงจากชาวฮินดูจนกลายเป็นการปะทะนองเลือดทางศาสนาครั้งร้ายแรงอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน

ปัญหาศาสนาในอินเดียอีกเรื่องหนึ่งคือ การก่อความไม่สงบและแยกดินแดนของชาวซิกข์ในแคว้นปัญจาบ เมื่ออินเดียถูกแบ่งเป็นสองประเทศ แคว้นปัญจาบที่เป็นมาตุภูมิของชาวซิกข์ถูกแยกเป็นสองส่วน ชาวซิกข์ในเขตปากีสถานเกือบทั้งหมดได้อพยพเข้าสู่อินเดีย เพราะไม่ต้องการอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลอิสลามที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตของตน

ชาวซิกข์ในอินเดียได้เรียกร้องให้รัฐบาลแบ่งปันเขตแดนแคว้นปัญจาบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พวกตนเป็นคนส่วนใหญ่ของแคว้นนี้ ความพยายามของพวกเขาประสบความสำเร็จ เมื่อรัฐบาลอินเดียยอมแบ่งพื้นที่ของชาวฮินดูในปัญจาบไปตั้งเป็นแคว้นใหม่ในปี 1966 แต่การผ่อนปรนของรัฐบาลกลับนำไปสู่การเรียกร้องที่สูงขึ้นอีกเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแยกปัญจาบไปตั้งเป็นประเทศอิสระ

กลุ่มผู้เคลื่อนไหวได้ก่อเหตุรุนแรงทั่วแคว้นปัญจาบเพื่อกดดันรัฐบาลอินเดีย รัฐบาลจึงติดสินใจใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามเมื่อเดือนมิถุนายน 1984 กำลังทหารส่วนหนึ่งได้บุกเข้าไปกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการในวิหารทองคำที่ใช้เป็นกองบัญชาการของพวกเขา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับพันคน

แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ ชาวซิกข์ต่างถือว่าการบุกวิหารทองคำเป็นการลบหลู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา เป็นการกระทำที่ไม่สมควรให้อภัยของผู้นำอินเดีย หลังจากนั้นอีกสี่เดือน นางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดียก็ถูกองครักษ์ชาวซิกข์ของนางสังหารเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1984

การเสียชีวิตของ นางอินทิราคานธี ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบรุนแรงทั่วอินเดีย ชาวฮินดูที่โกรธแค้นพากันรุมทำร้ายชาวซิกข์ผู้บริสุทธิ์และเผาร้านค้าบ้านเรือนของชาวซิกข์ เฉพาะ 4 วันแรก ก็มีชาวซิกข์เสียชีวิตถึง 2,800 คน และต้องไร้ที่อยู่อาศัยถึง 50,000 คน

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นการจลาจลศาสนาครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งของอินเดีย

หลังเหตุการณ์จลาจลนองเลือด กลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรงยังก่อเหตุไม่เลิก รัฐบาลได้หันไปเจรจากับกลุ่มชาวซิกข์ที่มีแนวคิดประนีประนอม ในที่สุดก็สามารถบรรลุข้อตกลงที่ให้อำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้นกับชาวซิกข์กลุ่มนี้เมื่อปี 1985 รัฐบาลยังให้การสนับสนุนชาวซิกข์กลุ่มนี้จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นในปัญจาบ

หลังจากนั้น รัฐบาลได้ใช้แนวทางสมานฉันท์กับชาวซิกข์ พยายามแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างจากอดีต ขณะเดียวกันก็ใช้กำลังปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบอย่างเด็ดขาด

จนเมื่อถึงปี 1993 รัฐบาลสามารถจับกุมหัวโจกของกลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรงและสลายกองกำลังของกลุ่มนี้ การก่อเหตุรุนแรงของชาวซิกข์ในในปัญจาบจึงยุติลงโดยสิ้นเชิง

และนับแต่นั้นมา ปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวซิกข์กับชาวฮินดูแทบไม่เกิดขึ้นอีก

การที่อินเดียมีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนารุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยนั้น นอกจากสาเหตุทางประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ชาวอินเดียไม่ว่านับถือศาสนาใด ล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องศาสนามาก จนอาจกล่าวได้ว่าศาสนาเป็นชีวิตจิตใจของพวกเขา ความผูกพันลึกซึ้งต่อศาสนาทำให้พวกเขาง่ายต่อการถูกชักจูงให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังศาสนาอื่น และพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับคนศาสนาอื่น การขจัดปัญหาการใช้ความรุนแรงทางศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาจะไม่มีทางหมดไปจากสังคมอินเดีย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะช่วยให้ปัญหาทางศาสนาค่อยๆ ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด

การที่อินเดียประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และมีแนวโน้มเติบโตเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ นั้น น่าจะมีผลทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาค่อยๆ ทุเลาลง

เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น การหมกมุ่นในเรื่องศาสนาก็จะน้อยลง โอกาสที่จะถูกชักจูงให้ใช้ความรุนแรงกับคนศาสนาอื่นจึงย่อมลดน้อยลงไปด้วย