ป้ายคำ “หลอกลวง” ที่แสบสันต์ ในกลเกม ศึกดีเบต ชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งที่#1และ#2

AFP PHOTO / Robyn Beck

โดย ดร.โชติสา ขาวสนิท คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

000_gi5qf

ในการโต้วาทีครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สองที่เพิ่งผ่านมา ระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน (นายโดนัลด์ ทรัมป์) และตัวแทนจากพรรคเดโมแครต(นางฮิลลารี  คลินตัน)  ผู้สมัครทั้งสองท่านเดินเกมทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่ายเสมอเมื่อมีโอกาส และวิธีหนึ่งที่ใช้กันคือ การโจมตีว่าอีกฝ่ายนั้น พูดผิด ซึ่งอาจจะมาจากการเข้าใจผิดไปเอง พูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  หรือ จงใจพูดไม่จริง  อีกทั้งการพูดแสดงการไม่ยอมรับแนวคิดหรือคำพูดของอีกฝ่าย

Drew Angerer/Getty Images/AFP
Drew Angerer/Getty Images/AFP

สำหรับการโต้วาทีในครั้งแรกนั้น นอกจากคำโต้จาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อนางฮิลลารี คลินตัน ที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่าเขาใช้คำสั้นๆ คำว่า ผิด (Wrong)   ดังในช่วงหนึ่งที่ เขาพูดคำนี้แทรกนางฮิลลารีขึ้นมา อย่างชัดถ้อยชัดคำแบบลากเสียงยาว   และขัดขึ้นมาเช่นนี้ ในเวลาใกล้ๆ กันถึงสามครั้ง

นอกจากนี้เขาก็โจมตีเธอด้วย การบอกว่า เธอกับนักการเมืองทั่วไปนั้นก็มีลักษณะแบบเดียวกันคือ “พูดอย่างเดียว ไม่มีการกระทำอะไรทั้งนั้น ดูดี ใช้การไม่ได้ ไม่เคยที่จะเกิดขึ้นได้จริงเลย” (All talk, no action. Sounds good, doesn’t work. Never going to happen)

และเมื่อนางฮิลลารี คลินตันบอกว่า การมีความสามารถและทักษะทางธุรกิจไม่จำเป็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองเสมอไป  บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจก็เลวร้ายในทางการเมือง

นายโดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้โต้กลับว่า สิ่งที่เธอพูดก็เป็นแต่ศัพท์แสง (It’s all words.)  เป็นการงัดประโยคเด็ดๆ ให้จับจิตจับใจคนแค่นั้น (It’s all sound bites.)   ซึ่ง คำว่า sound bites นี้ หมายถึง ประโยคเด็ด หรือวรรคทอง ซึ่งเป็นคำพูด หรือถ้อยคำสั้นๆ ที่จำง่าย เช่นอาจเป็นการอุปมาอุปไมย การแฝงอารมณ์ขันไว้ ถ้อยคำที่สะดุดหู หรือแปลกใหม่น่าสนใจ  ซึ่ง นักการเมือง หรือ สื่อมวลชนใช้ในการสื่อสารกับประชาชน โดยอาจเป็นประโยคเด็ดที่ดีหรือไม่ดีก็ได้

ส่วนตัวอย่าง ที่นายทรัมป์พูดว่าเมื่อเขาต้องการลดภาษีบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ แต่ นางฮิลลารีไม่เห็นด้วย ทั้งๆที่เขาเห็นว่าดีเพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาได้ใช้สำนวนปิดท้าย ว่า  “end of story “ ซึ่งหมายถึง ไม่มีอะไรที่จะต้องมาเถียงกันอีกแล้ว หมดเรื่องที่จะมาพูดคุยกันแล้ว จบข่าว โดยสำนวนนี้ไว้ใช้เมื่อ ผู้พูดไม่อยากพูดเรื่องนี้อีก ซึ่งอาจเป็นเพราะเบื่อ ไม่พอใจ หรือรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์  หรือไร้ความหมาย ในกรณีนี้เราจะเห็นถึงใบหน้าที่เจือความไม่พอใจผสมกับความเบื่อหน่ายประกอบถ้อยคำนั้นอย่างชัดเจน

Drew Angerer/Getty Images/AFP
Drew Angerer/Getty Images/AFP

ส่วน นางฮิลลารี นั้นชี้ชวนให้ผู้ชมผู้ฟังไปดู ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checker) อยู่เรื่อยๆ เพื่อยืนยันว่าตนเองเป็นฝ่ายพูดถูก ขณะที่ส่วนนายทรัมป์นั้นพูดผิด  ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือผู้จับโกหกคำพูดของผู้สมัครในการโต้วาทีนั้นมีอยู่หลายฝ่าย หลายหน่วยงาน

และแน่นอนว่า สิ่งที่นางฮิลลารีบอกคือ การแนะนำให้เข้าไปในเว็บไซด์ของเธอและดูการตรวจสอบความจริง  จากนั้นนายทรัมป์ก็พูดขึ้นมาทันทีเลยว่า ให้ผู้ชมผู้ฟังเข้าไปในเว็บไซด์ของเขาด้วยเหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งคือ แต่ละฝ่ายยืนยันว่าตัวเองต่างหากที่พูดความจริง และ ทั้งสองฝ่ายก็ใช้คำว่า ข้อเท็จจริง (fact) อยู่บ่อยครั้ง

%e0%b8%ae%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b5-%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9b

ส่วนตัวอย่างถ้อยคำเจ็บๆ โดนๆ ของนางฮิลลารีที่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ในการโต้วาทีครั้งแรก  มีให้ได้ยินเช่น การบอกว่า นายทรัมป์อยู่ในความเป็นจริงของตัวเขาเอง  (own reality) โลกของ  “เรื่องหลอกๆ ของการไหลรินสู่เบื้องล่าง”  (trumped up trickle down)  ถ้อยคำนี้เป็นการเล่นคำ ที่เปิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการโต้วาทีด้วยสีหน้ามาดมั่นของนางคลินตันกับคำที่เธอประดิษฐ์ขึ้นมาแบบสวยๆ สนุกๆ ที่ดึงชื่อของฝ่ายตรงข้ามในการโต้วาทีมาโจมตีได้อย่างมีประเด็น

เธอได้นำคำว่า “trumped up” ซึ่งแปลว่า จอมปลอม กุขึ้นมา ยกเมฆ โป้ปด หรือลวงตา  (อีกคำที่คล้ายๆ กันคือ thumps up ซึ่งแปลว่า เยี่ยม สุดยอด ยกนิ้วให้เลย) มาผสมกับคำว่า trickle down ซึ่ง เป็นแนวทางเศรษฐกิจแบบไหลริน ที่เชื่อว่า การเอื้อประโยชน์ให้กับคนร่ำรวย หรือผู้มีอภิสิทธิ์ทั้งหลายจะมีผลให้คนจนมีฐานะดีขึ้นตามมา  แนวทางเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้คนร่ำรวยได้เปรียบมากเพราะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐ  แต่นางฮิลลารีมองว่าจุดเน้นของการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้นั้นต้องเน้นที่ชนชั้นกลางเป็นหลัก

ขณะที่เธอเสนอแนวนโยบายด้วยความจริงจัง แต่เมื่อเผชิญกับการวิจารณ์ของนายทรัมป์ เธอมักแสดงออกว่าความเห็นของนายทรัมป์น่าตลก ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลดความน่าเชื่อถือของนายทรัมป์ในหลายช่วงหลายตอน  เช่น การที่เธอกล่าวว่าให้ “มาร่วมการโต้วาทีนี้ด้วยการพูดสิ่งเพ้อๆ เพี้ยนๆ ให้มากขึ้นกันเถอะ”(  just join the debate by saying more crazy things.)

US Democratic presidential candidate Hillary Clinton and US Republican presidential candidate Donald Trump debate during the second presidential debate at Washington University in St. Louis, Missouri, on October 9, 2016. / AFP PHOTO / Robyn Beck
AFP PHOTO / Robyn Beck

สำหรับการโต้วาทีครั้งที่สอง นายทรัมป์ไม่ใช้คำว่า ผิด บ่อย และไม่ค่อยพูดแทรกมากนักเหมือนการโต้วาทีครั้งแรก แต่ยังเดินเกมเดิมด้วยการโจมตีสิ่งที่นางฮิลลารีพูดว่า เป็นการโกหก และยังคงกล่าวหาว่าเธอนั้นได้แต่พูดอย่างเดียว ไม่ทำอะไร (all talk and no action) 

ส่วนนางฮิลลารีก็ยังคงบอกว่านายทรัมป์ไม่ได้พูดความจริง ก็เพราะเขาอยู่ในความเป็นจริงทางเลือก(alternative reality) (แล้วทางเลือกอื่นของความจริง จะใช่อะไร นอกจาก ความไม่จริง)และเช่นเคยเธอคงสีหน้ามั่นอกมั่นใจของเธอต่อไป

AFP PHOTO / Robyn Beck
AFP PHOTO / Robyn Beck

ส่วนจุดร่วมประการหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายมองเห็นตรงกันคือการเพิ่มภาษี “carried interest “ หมายถึง เงินกำไรที่ได้มาจากการเป็นผู้จัดการกองทุนร่วมหรือกองทุนเอกชน กระนั้นทั้งสองฝ่ายก็ยังแสดงความไม่เชื่อถืออีกฝ่ายว่าจะทำตามที่เสนอนั้นได้จริง

น่าสนใจว่าถึงทั้งสองฝ่ายจะเห็นร่วมกัน ก็ยังไม่เชื่อว่าอีกฝ่ายจะทำจริงๆ นั่นชี้ว่า การแขวนป้ายคำ หลอกลวง ให้คู่แข่งขันนั้นเป็นไปอย่างดุเดือดและน่าติดตามกันตอนต่อไป