ในอดีต คสช. เคยห้าม “ดูงานต่างประเทศ” รัดเข็มขัดเพื่อประชาชน

ประเด็นการถกเถียงเรื่องงบประมาณเพื่อการ “ดูงานในต่างประเทศ” (ขอย้ำหนักๆ ว่า ดูงานไม่ใช่ “ประชุม”) ของบรรดานักการเมือง ข้าราชการนั้นมีให้เห็นกันอยู่เนืองๆ เพราะเป็นปมในใจของบรรดาผู้เสียภาษีว่า “ดูงานต่างประเทศ” สำหรับข้าราชการนั้นได้ประโยชน์อะไรกับประเทศ มีสิ่งใดที่สามารถแยกแยะได้อย่างเป็นรูปธรรมว่านี่คือการ “ดูงาน” “อบรม” “ท่องเที่ยว” หรือ “ศึกษาดูงานเชิงบูรณาการ”

กรณีหนึ่งที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์กันอย่างกว้างขวางคือ การเดินทางไปต่างประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ 81 คน ระหว่างวันที่ 8-15 ก.ย. 56 โดยมีกำหนดการไป 3 ประเทศ ประกอบด้วย การเยือนสมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐอิตาลี และมอนเตเนโกร (ซึ่งเดิมไม่มีกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ) ได้ใช้วิธีเดินทางด้วยการเช่าเครื่องการบินไทยแบบเหมาลำ มีค่าใช้จ่าย ดังนี้

เส้นทาง กรุงเทพฯ -เจนีวา- ซูริค- โรม-มิลาน (พักเครื่องรอ) – กรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 18,900,000 บาท มิลาน- มอนเตรเนโกร 2 ลำ ลำละ 1,450,000 บาท เป็นเงิน 2,900,000 บาท รวมค่าเครื่องบิน  21,800,000 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้ส่งเสริมให้คณะทำงานทุกภาคส่วน รวมถึงข้าราชการทุกกระทรวง กรม กอง ไปยันหน่วยงานท้องถิ่น รัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายการ “ดูงาน” อย่างเคร่งครัด โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 โดยถูกบันทึกเป็นหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ของสำนักเลขาธิการ ครม.ส่งถึง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองนายกฯ รัฐมนตรี และหน่วยงานต่างๆ ระบุว่า

ครม.เห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการเดินทางไปศึกษาดูงาน การจัดประชุมอบรม สัมมนาในต่างประเทศ และสามารถนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในแผนงานโครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงมีมติให้ทุกส่วนราชการถือปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้หัวหน้าส่วนราชการ (กระทรวง/กรม) หรือเทียบเท่า ผู้บริหารของส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลที่รัฐถือหุ้น งดเว้นการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ยกเว้นกรณีเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนาตามพันธกรณี ข้อตกลงระหว่างประเทศหรือหลักสูตรการศึกษาที่ได้กำหนดไว้แล้ว โดยหากมีความจำเป็นให้ขออนุมัติต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นรายกรณี และให้รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีทราบเป็นรายเดือน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติปฏิบัติในแนวทางเดียวกันด้วย

2. หากหน่วยงานเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาดูงาน อบรม หรือสัมมนา ให้ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษาดูงานภายในประเทศแทน โดยเฉพาะการศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ หรือให้พิจารณาเชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยาย ซึ่งจะได้ประโยชน์และเป็นการประหยัดงบประมาณยิ่งขึ้น

3. ให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ข้าราชการเดินทางด้วยเครื่องบินในชั้นโดยสาร ดังนี้

3.1 ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (อธิบดีหรือเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการ เอกอัครราชทูต รองปลัดกระทรวง) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ให้เดินทางภายในประเทศในชั้นประหยัดและเดินทางต่างประเทศในชั้นธุรกิจ

3.2 ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ประเภทอำนวยการ ระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ให้เดินทางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในชั้นประหยัด

ทั้งนี้ ในระหว่างที่กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงระเบียบฯ ให้ข้าราชการถือปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

file-1468463163568-thai-562