รายงานพิเศษ : พระบรมอัฐิ-พระบรมราชสรีรางคาร พระมหากษัตริย์ 9 รัชกาลแห่งจักรีวงศ์

ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว พระราชพิธีต่อจากนั้นคือพระราชพิธีเกี่ยวเนื่องกับพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร ดังที่ได้เห็นในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ที่เพิ่งผ่านมา

เช้าวันถัดจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเก็บพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต่อด้วยพิธีพระราชกุศลบรมอัฐิ 2 วัน แล้วจึงอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร จึงถือว่าแล้วเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันนั้น มีความเป็นมา มีการเปลี่ยนแปลง และมีรายละเอียดมากมาย ดังสรุปได้ต่อไปนี้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพพระราชวงศ์ชั้นสูงแล้วจะอัญเชิญพระบรมอัฐิไปบรรจุไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์

ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร โปรดเกล้าฯ ให้ไปลอยน้ำที่หน้าวัดไชยวัฒนารามและวัดพุทไธศวรรย์

เมื่อเปลี่ยนราชธานีมาเป็นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกไปประดิษฐานภายในหมู่พระมหามณเฑียรที่ประทับ เพื่อจะได้ทรงหยิบฉวยติดพระองค์ได้ง่ายหากเกิดศึกสงครามต้องอพยพ จึงเกิดธรรมเนียมการประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระอัฐิในพระบรมมหาราชวัง

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอน้อยไว้ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางด้านทิศตะวันออกคือ “หอพระสุลาลัยพิมาน” ทางด้านทิศตะวันตกคือ “หอพระธาตุมณเฑียร” จากที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมอัฐิไว้ที่หอพระธาตุมณเฑียร

กษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชบุพการีและพระอัฐิพระบรมวงศ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยองค์พระมหากษัตริย์ประดิษฐานไว้ยังหอพระธาตุมณเฑียร

ปัจจุบันหอพระธาตุมณเฑียรประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-3 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 3 พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกลับไปใช้ธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยาในการประดิษฐานพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ใต้พุทธบัลลังก์ (ใต้ฐาน) พระประธานวัดประจำรัชกาลต่างๆ โดยทรงรับพระบรมอัฐิจากพระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับพระราชทานให้เป็นพระบรมอัฐิส่วนพระองค์กลับเข้าไปรวมกันในพระบรมมหาราชวัง ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดประจำรัชกาล

ส่วนพระบรมอัฐิที่ประดิษฐานในหอพระธาตุมณเฑียรยังคงอยู่ตามเดิม เหตุที่ทรงรับพระบรมอัฐิจากพระบรมวงศานุวงศ์แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัด เนื่องจากพระองค์ทรงเกรงว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าพระบรมอัฐิจะตกไปอยู่กับคนที่ต่ำศักดิ์ลง

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดชั้นบนใต้ยอดมหาปราสาท 3 องค์เป็นสถานที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญที่ควรสักการะ

ในคราวนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 จากหอพระธาตุมณเฑียรขึ้นประดิษฐาน ณ ยอดมหาปราสาทองค์กลาง หรือ “พระวิมาน”

จึงเป็นธรรมเนียมการเชิญพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี ขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนการประดิษฐานพระบรมอัฐิใต้พุทธบัลลังก์ในวัดประจำรัชกาล ดังที่รัชกาลที่ 4 ทรงรื้อฟื้นนั้น เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อมา

อย่างไรก็ตาม นอกจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงให้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 1-3 ไปประดิษฐานยังวัดประจำรัชกาลแล้ว ใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2-5 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระองค์ที่ 2 ทรงนำพระบรมอัฐิส่วนพระองค์บรรจุไว้

ส่วนการประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร ราชประเพณีรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ได้เชิญพระบรมราชสรีรางคารไปลอยยังท่าน้ำวัดปทุมคงคา หรือวัดยานนาวา

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงให้ยกเลิกธรรมเนียมการลอยพระบรมราชสรีรางคาร

แล้วให้อัญเชิญไปบรรจุใต้พุทธบัลลังก์พระประธานพระอารามหลวงสำคัญในรัชกาลแทน

โดยเริ่มในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

แต่นั้นมาพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่วัดสำคัญในรัชกาลก็เป็นพระราชประเพณีปฏิบัติสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

โดยสรุป สถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มี 3 ส่วน คือ ในหอพระธาตุมณเฑียร (รัชกาลที่ 1-3) ใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธรูปสำคัญ (รัชกาลที่ 1-5) และบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (รัชกาลที่ 5-9) ส่วนสถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารคือใต้พุทธบัลลังก์วัดประจำรัชกาลหรือวัดสำคัญในรัชกาลนั้นๆ

ซึ่งมีรายละเอียดแต่ละรัชกาล ดังนี้

พระบรมอัฐิ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ประดิษฐานที่หอพระธาตุมณเฑียร พระบรมมหาราชวัง และใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ประดิษฐานที่หอพระธาตุมณเฑียร พระบรมมหาราชวัง และใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประดิษฐานที่หอพระธาตุมณเฑียร พระบรมมหาราชวัง และใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร วัดราชโอรสาราม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

พระบรมราชสรีรางคาร

รัชกาลที่ 1-4 ตามราชประเพณียังไม่มีพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร แต่เป็นพิธีอัญเชิญไปลอยที่ท่าน้ำวัดปทุมคงคา หรือวัดยานนาวา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บรรจุใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ส่วนหนึ่งบรรจุใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร และอีกส่วนหนึ่งบรรจุที่ใต้พุทธบัลลังก์พระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 บรรจุเคียงกันใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 บรรจุใต้พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 บรรจุใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

อ้างอิง :

1.หนังสือ “งานพระเมรุ: ศิลปะสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง” หน้า 310-323 เขียนโดย นาวาตรี เหมันต สีหศักกพงศ์ สุนทร ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน, 2560

2.หนังสือ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 5” ตีพิมพ์โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2555