ที่มา “ครูกายแก้ว” นกผี? อสูรเทพ? เทพเจ้าแห่งโชคลาภ? | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ครูกายแก้ว” มาก่อนหน้านี้แล้ว อันที่จริงใครพอจะสนใจเรื่องความเชื่อหรือไสยศาสตร์ในสังคมไทยก็น่าจะเห็นมาบ้างแล้วเช่นกัน จึงไม่ได้เป็นของใหม่อะไรขนาดนั้น อย่างน้อยก็รู้จักกันมาราวสี่ห้าปี

เผอิญรูปปั้นขนาดมหึมาของครูกายแก้ว ดันไปติดสะพานลอยขณะกำลังขนย้ายไปยังพื้นที่ของโรงแรมแห่งหนึ่งใจกลาง กทม. จึงกลายเป็นข่าวดัง ทำให้ผู้คนมุ่งความสนใจมาสู่เรื่องนี้อย่างล้นหลาม

พอเป็นเช่นนี้ก็เดาได้เลยครับว่า สื่อต่างๆ ก็คงอยากจะหาใครที่พอจะให้ข้อมูลได้ไปออกของเขา หลายท่านก็มุ่งมายังผมในทันที ไม่ใช่เพราะผมเก่งกาจอะไรดอก แต่ก็ทราบกันอยู่ว่าผมสนใจด้านศาสนาและวัฒนธรรม และที่สำคัญแค่พอพูดอะไรออกสื่อรู้เรื่องบ้างก็เท่านั้น เขาถึงชอบใช้ผม

แต่ครูกายแก้วดันมาเป็นประเด็นในช่วงเวลาที่ผมยุ่งกับงานสอนเสียจนไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับใครเลย นอกจากไปพูดในรายการไลฟ์สดของคุณจอมขวัญเท่านั้น ครั้นเป็นไลฟ์สดก็ตอบไปเท่าที่ตอนนั้นจะนึกออก เมื่อมีเวลาพอจะคิดอะไรเพิ่มได้บ้าง จึงอยากจะมาคุยกับท่านผู้อ่านในวันนี้

เรียกว่า เป็นบทความ “คั่นในคั่น” เพราะเดิมผมเขียนเรื่องจีนคั่นเรื่องนักบุญแห่งอินเดีย นี่ก็มาเขียนเรื่องครูกายแก้วคั่นเรื่องจีนอีกที (ฮา)

ครูกายแก้วเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “เฉพาะกลุ่ม” คือเกิดจากอาจารย์สุชาติ รัตนสุข เป็นผู้สร้างขึ้น ท่านเป็นนักไสยศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังทั้งพระตรีมูรติ (พระสทาศิวะ) ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ศาลพระคเณศที่แยกห้วยขวาง และอาจมีที่อื่นๆ อีก เช่นที่เชียงใหม่ แต่ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก

อาจารย์สุชาติเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ครูกายแก้วเป็นสิ่งที่ท่านได้มาจากอาจารย์ถวิล มิลินทจินดา ครูนักร้องเพลงไทยเดิมจากวงดุริยางค์กองทัพบก ซึ่งได้มาจากพระธุดงค์ผู้เดินทางไปยังนครวัดนครธมประเทศกัมพูชาอีกทอดหนึ่ง เป็นรูปเคารพขนาดเล็ก (ผมไม่เคยเห็นรูปเคารพที่ว่านี่ และยังไม่เห็นปรากฏในสื่อใด)

จากนั้น อาจารย์สุชาติก็มีนิมิตถึงครูกายแก้ว และออกแบบสร้างขึ้นดังที่เราเห็น มีทั้งองค์ที่ยืนและนั่ง โดยมีลักษณะร่วมกันคือมีเขี้ยว เล็บ ผิวหนังเหี่ยวย่นสีดำและมีปีกที่ด้านหลัง ดูคล้ายกากอยล์ของชาวยุโรปที่ประดับอยู่ตามอาคารหรือโบสถ์ เวตาลของอินเดีย หรือปีศาจฝรั่งทั่วๆ ไป ออกไปในทางน่ากลัวมากกว่าน่ารัก

ที่มาของครูกายแก้วถูกลากโยงไปถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ว่ากันว่าเป็นครูของพระองค์ ซึ่งสานุศิษย์และผู้ศรัทธาจำนวนหนึ่งเชื่อตำนานนี้

 

พอข่าวเรื่องครูกายแก้วแพร่ออกไป นักวิชาการสายประวัติศาสตร์โบราณคดีก็ออกมาให้ความเห็นว่า ไม่มีหลักฐานใดกล่าวถึงครูกายแก้ว อีกทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดก็มีชื่อครูที่ปรากฏในจารึกอย่างชัดเจน เรื่องว่าจะมาจากครูของพระเจ้าชัยวรมันจึงตัดออกไปได้

กระนั้น แม้จะตัดเรื่องพระเจ้าชัยวรมันออกไปแล้ว ผู้คนต่างกล่าวถึงที่มาของครูกายแก้วในตำนานที่ต่างกัน คนท้องถิ่นบางที่ก็ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของนกผี “จราบ” ซึ่งเชื่อกันในอีสานใต้หรือกัมพูชา บ้างก็ว่าเป็นนกการเวก เป็นอสูรเทพ เป็นผีป่า ฯลฯ

ผมได้ยินจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงไสยศาสตร์คนหนึ่งว่า อาจารย์สุชาติบอกกับเขาเองเองว่านี่เป็น “ครู” ของท่านในทางไสยศาสตร์ แต่อาจมีความผิดพลาดอะไรบางอย่าง หรือต้องอาถรรพ์จึงมีสภาพที่น่ากลัวเช่นนี้ เหมือนคนที่ทำไสยศาสตร์แล้ว “เข้าตัว” กระนั้นก็ยิ่งมีพลังความศักดิ์สิทธิ์ หรือ “แรง” เป็นพิเศษ

อาจารย์สุชาติยังเคยให้สัมภาษณ์ในคลิปหนึ่งว่า ครูกายแก้วเป็น “อสุรกาย” และย้ำคล้ายๆ ว่าต้องมีพิธีกรรมหรือการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ใช่ของทั่วๆไปอะไรทำนองนี้

เมื่ออาจารย์สุชาติเสียชีวิตไปแล้ว ทายาทคงทำให้ครูกายแก้วแพร่หลายออกมาข้างนอก จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดใน “สาย” ของอาจารย์สุชาติเลยด้วยซ้ำ

จากทั้งหมดข้างต้น ผมคิดว่า ไม่แปลกที่จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรเป็นพิเศษ เพราะก็มีมาเยอะแล้วและจะมีต่อไปอีก ทว่า ก็มีอะไรที่น่าสนใจและชวนพินิจต่ออีกหน่อย

ประการแรก คุณค่าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่แค่ตัวรูปลักษณ์เท่านั้น แต่สำคัญกว่าคือกระบวนการสร้าง “เรื่องเล่า” ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันนั้น

นักสร้างวัตถุมงคลเข้าใจเรื่องพวกนี้ดี จึงมีกระบวนการสร้างเรื่องเล่าตั้งแต่ง่ายๆ อย่างมีคุณวิเศษอะไร บูชาแล้วเกิดอะไรขึ้น ซึ่งวงการพระเครื่องเรียกว่า “ประสบการณ์” เช่น นายคมกฤชขับรถไปชนต้นไม้แต่คล้องเหรียญหลวงพ่อไว้ รถพังยับ คนแค่ถลอก (ว่ากันว่าบางครั้งก็จ้างกันให้สร้างประสบการณ์เลยทีเดียว) ไปจนถึงการสร้างเรื่องเล่าให้เชื่อมโยงกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในทางประวัติศาสตร์หรือตำนาน อย่างเชื่อมให้เข้ากับตำนานกษัตริย์หรือทวยเทพ

ครูกายแก้วจึงถูกเชื่อมโยงไปยังตำนานเร้นลับตั้งแต่มีพระธุดงค์เป็นผู้ค้นพบ แถมดันไปพบในสถานที่สุดเฮี้ยนอย่างนครวัดนครธม ไปจนถึงความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด เหมือนกับกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายอย่าง เช่น ไอ้ไข่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ทวดพระเกจิในตำนานสมัยอยุธยา จตุคามรามเทพที่มาจากกษัตริย์โบราณแห่งศรีวิชัย ฯลฯ

เรื่องเล่าจึงกลายเป็นแก่นแกนของความศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่มวลสาร วัสดุเนื้อหาหรือรูปลักษณ์ก็ถูกทำให้มีคุณค่ามากขึ้นจากเรื่องเล่า

ผมจะบอกว่า ในที่สุดเศษดินหรือโลหะชิ้นเล็กๆ มีมูลค่าหลายสิบล้านได้ก็เพราะเรื่องเล่านี่เองครับ

 

กระนั้น แม้มีคนมาแย้งตำนานหรือเรื่องเล่าโดยอาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ แต่นั่นจะไม่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมลงไปมากนัก เหตุเพราะนักเล่าเรื่องจะสามารถสร้างคำอธิบายมารองรับโดยอาศัยเรื่องเล่าใหม่อีกที เช่น อาจบอกว่า ตำนานที่เล่าๆ กันมานี้เป็นตำนานลับจึงไม่มีหลักฐานเหลืออยู่ แต่นักบวชที่ทรงฌานสมาบัติทราบด้วยญาณวิถีของท่านจึงได้นำมาบอกต่อ อะไรทำนองนี้

ผมพบว่า ยิ่งตำนานหรือเรื่องเล่าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีหลากหลาย ขัดกัน ไม่ชัดเจน คลุมเครือ กลับยิ่งกลายเป็นจุดแข็ง เพราะหากตำนานใดถูกหักล้างไป ก็ยังเหลือตำนานอีกเพียบให้ใช้ได้ต่อ แถมลักษณะเช่นนี้ยังเปิดโอกาสให้เพิ่มเรื่องเล่าใหม่หรือคำอธิบายใหม่ได้เสมอ และคำอธิบายที่หลากหลายนั้นทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แพร่ไปในกลุ่มที่ยึดโยงกับเรื่องเล่าได้หลากหลายเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีเรื่องเล่าชัดเจนตายตัวกว่า กลับไม่ค่อยสร้างกระแสความนิยมอย่างสูงในเวลาที่รวดเร็วได้ เช่น พระพิฆเนศวร ซึ่งขยับขยายความนิยมไปอย่างช้าๆ ผิดกับจตุคามหรือไอ้ไข่

ครูกายแก้วนั้น ในหมู่ผู้ศรัทธาเขาถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภชนิดเร็วและแรง ผมคิดว่าเรื่องเล่านี้กลายเป็นลักษณะอย่างใหม่ของวัตถุมงคลที่จะอยู่ได้ในโลกทุนนิยม คือต้องสอดรับกับเรื่องเศรษฐกิจของปัจเจกด้วย

 

เอาจริงๆ ผมว่าปัญหาของครูกายแก้วสำหรับบางคนคือเรื่องรูปลักษณ์เสียมากกว่า คือคนไทยจำนวนหนึ่งไม่สบายใจกับรูปลักษณ์ที่ไม่เป็นไปตามประเพณีนิยม เพราะรูปลักษณ์เช่นนี้ ครูกายแก้วถูกโยงไปว่าเป็นผีเวตาลอันไม่ควรมาบดบังพระศิวะนาฏราชในที่นั้นแก่คนบางกลุ่ม

ที่เดือดสุดคือกลุ่มชาวพุทธที่ร้องขอให้ขนย้ายครูกายแก้วออกไป เพราะไม่สบายใจที่ผู้คนจะมากราบไหว้แล้วอาจจะกระทบกระเทือนศรัทธาในพุทธศาสนา หรือขัดกับแนวคำสอนของพุทธศาสนา

ผมคิดว่าสารตั้งต้นของความไม่สบายใจนี้อีกอย่าง คือการที่มีบางท่านตีความอาจทั้งจากรูปลักษณ์และตำนานว่า ครูกายแก้วคือผีป่า ซึ่งไม่ควรเข้ามาสู่เมือง เพราะไปตรงกับเพลงยาวพยากรณ์อยุธยาว่า “ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้” คือเป็นสัญญาณอัปมงคลว่าบ้านเมืองกำลังจะวิบัติฉิบหาย

ที่ไปสุดกู่คือคิดว่า ครูกายแก้วเป็นผีการเมือง เพราะเชื่อว่าราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันล่มจมลงเพราะครูกายแก้ว การนำครูกายแก้วเข้ามาไหว้ใจกลางเมืองจึงเป็นเรื่องที่อันตรายและไม่น่าไว้ใจ

แต่หลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ แม้ไม่เอาครูกายแก้วเข้ามาตั้งกลางพระนคร

บ้านเมืองก็วุ่นวายจวนเจียนจะวิบัติอยู่แล้วครับ •

 

 

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024?fbclid=IwAR22RbstgOdFjK3Kl_MAt_MusBlq5oxijEcCbx_-0y6zmJhXvZl3Q_2G-cE