ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (4)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อมีเทวรูปครบถ้วนและเลือก “จู่ตั๋ว” หรือพระประธานของแท่นบูชาซึ่งคือโป้เส้งไต่เต่แล้ว ลำดับต่อไปก็เป็นการตกแต่งและเตรียมการต่างๆ

สิ่งที่สำคัญอีกสองประการของแท่นบูชาคือ ต้องมี “หลอ” หรือกระถางธูป และตะเกียงประทีปหน้าพระ

ตามคติความเชื่อจีนนั้น พลังของเทพเจ้าหรือวิญญาณผีสถิตในกระถางธูปเป็นสำคัญ บางครั้งจึงเห็นพิธีที่ไม่ต้องเชิญเทวรูปออกไปแห่แหน แต่อัญเชิญกระถางธูปออกไปแทน หรืองานงิ้วถวายเจ้าก็มีการเชิญกระถางธูปออกไปตั้งชมงิ้ว ไม่ต้องยกแบกเทวรูปออกมา

การที่กระถางธูปเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ นั้น ผมเข้าใจเอาเองว่าเพราะกระถางธูปมีไฟหรือควัน ซึ่งเป็นตัวแทนพลังแห่งเทพหรือการดำรงอยู่ของเทพเจ้า

ผู้ใหญ่เคยสอนว่าเทพท่านเสด็จมาตราบเท่าที่ควันธูปยังอยู่ ควันธูปเป็นสื่อกลางระหว่างเทพกับมนุษย์

ดังนั้น ในบางพิธีที่ต้องใช้เวลายาวนานจึงมีธูปแบบยาวพิเศษ เพื่อจะได้มีควันต่อเนื่องหลายๆ ชั่วโมง เทพจะได้อยู่นานๆ

กล่าวกันว่าเพราะมีกลิ่นธูปควันเทียนเทพเจ้าในศาลจึงคงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ ศาลเจ้าใดที่คนจุดธูปกราบไหว้ต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปีก็ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนกราบไหว้มากเท่าไหร่ก็ศักดิ์สิทธิ์มากเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม หากศาลใดไร้กลิ่นธูปควันเทียน ไร้คนกราบไหว้ ความศักดิ์สิทธิ์ก็จะค่อยเสื่อมสลายหายไป พอพลังงานศักดิ์สิทธิ์หายก็อาจมีพลังงานที่ไม่ดีเข้ามาแทนที่

 

เมื่อเชื่อเช่นนี้แล้ว ประเด็นเรื่องจุดธูปเคยกลายเป็นเหตุประท้วงกันมาแล้วที่ประเทศไต้หวันครับ ในตอนนั้นรัฐบาลต้องการให้ศาลเจ้าและวัดต่างๆ งดจุดธูปจากปัญหามลพิษทางอากาศ

แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่พอใจเพราะถือว่าทำให้ประเพณีและความศักดิ์สิทธิ์เสียหาย

สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้แต่ละวัดและศาลเจ้าดำเนินการเอง

มีบางวัด เช่น วัดหลงซาน ยอมปรับเปลี่ยน คือไม่อนุญาตให้ผู้ศรัทธามาจุดธูปบูชาพระที่วัด แต่ทางวัดจะจุดธูปที่ให้เวลายาวนานไว้เองหนึ่งดอก ใครจะมาขอพรรับพลังจากควันธูปก็มาตรงนี้ (เครื่องรางต่างๆ ก็นิยมรับพลังจากควันธูปก่อนจะนำไปบูชา) บางวัดบางศาลเจ้าก็ลดจำนวนธูปและตำแหน่งที่ปักลง แต่ไม่มีที่ไหนยอมยกเลิกการจุดธูปอย่างเด็ดขาด

ดังนั้น ไต้หวันจึงมีการพัฒนาเรื่องคุณภาพของธูป เช่น มีบริษัทที่ผลิตธูปควันน้อย ธูปไร้ควัน ธูปจากวัสดุธรรมชาติ ธูปที่วิจัยว่าไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ฯลฯ เพื่อรองรับวัฒนธรรมการจุดธูปที่เลิกได้ยากนี้

แต่ในเมืองไทยเพิ่งเริ่มตระหนักว่าธูปส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร และธูปส่วนมากในเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วยสารเคมีที่อันตรายและไม่ค่อยได้มาตรฐาน

และเพราะความเชื่อนี้เอง ผมถึงเข้าใจว่าเหตุใดจึงมีผู้นิยมชมชอบการซื้อเทวรูปมือสองที่มีเขม่าควันธูปดำเขรอะๆ เพราะเหมือนได้ของที่คนเขากราบไหว้มาเยอะๆแล้ว อาจขลังกว่าเทวรูปใหม่ๆ

แต่ก็ลืมไปว่าคราบเขม่าเหล่านั้นมันปลอมกันได้

 

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “คนทำให้เทพศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเทพศักดิ์สิทธิ์ก็มีอิทธิฤทธิ์ช่วยเหลือคนได้” หมายความว่า เพราะคนทำให้มีพิธีกรรม มีการปลุกเสก มีการปฏิบัติบูชากราบไหว้ จากท่อนไม้ก็กลายเป็น “ร่างทอง” พร้อมให้เทวานุภาพมาสถิตแล้วมีอำนาจดลบันดาลช่วยเหลือผู้คน หากขาดพิธีกรรมและความสัมพันธ์กับมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเพียงท่อนไม้แกะสลักไร้ชีวิตเท่านั้น

ไม่ได้แปลว่ามนุษย์มีอำนาจเสกสรรค์ปั้นแต่งเทพหรือเทพเจ้าด้อยกว่ามนุษย์นะครับ แต่ความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นจาก “ความสัมพันธ์” ไม่ใช่เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเดียว มนุษย์เองก็มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวไม่ใช่มีเฉพาะเทพ เพราะพลังของเทพก็คือพลังอำนาจอย่างเดียวกับที่มีในตัวเรา คือปราณ คือพลังชีวิต เมื่อเราทำพิธีกรรมเราจึงได้เชื่อมต่อ “พลังภายใน” และภายนอกเข้าด้วยกัน

มีธรรมเนียมอีกว่าหากจะไปอัญเชิญความศักดิ์สิทธิ์มาจากสถานที่ใด ก็ต้องไปอัญเชิญควันธูปมา ถ้าเป็นจากเมืองจีนก็จุดธูปต่อๆ กันไม่ให้ดับเลยจนกว่าจะถึงที่หมาย

ไม่ก็เอาขี้เถ้าธูปจากสถานที่นั้นมาแทน นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน

 

ศาลเจ้าไต่เต่เอี๋ยที่ระนอง มีประวัติว่าได้อัญเชิญควันธูป (หรืออาจเป็นขี้เถ้า) มาจากเมืองจีน ด้วยเหตุนี้ผมจึงไปเสี่ยงทายขอขี้เถ้าธูปจากศาลนั้นมาใส่ในกระถางธูปที่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคลและจะได้มีความเชื่อมโยงต่อกัน

เชื่อมโยงทั้งศาลต้นกำเนิดที่เมืองจีน ศาลในบ้านเกิดมาสู่แท่นบูชาของผมในปัจจุบัน ในทางกลับกันคือเชื่อมโยงตัวเราจากปัจจุบันไปสู่อดีต

ในขั้นตอนพิธี เมื่อได้กระถางธูปที่เหมาะสมแล้ว จะต้องมีการปลุกเสกและบรรจุกระถางธูปเสียก่อน โดยจะมีการเขียนยันต์ลงไปที่ก้นกระถาง ผมแอบเห็นอาจารย์ผู้ทำพิธีเขียนยันต์แปดเหลี่ยม (ปัดกั้ว) เผาฮู้หรือกระดาษยันต์ของเทพประธานและยันต์อื่นๆ ตามลงไป บรรจุของมงคลคือเหรียญรูจีนโบราณ (มีผู้ผลิตขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการประกอบพิธีโดยเฉพาะ) หรือเหรียญเงินในสกุลเดียวกันก็ได้ ใส่ธัญพืชห้าชนิด แล้วจึงใส่ขี้เถ้าสะอาด บางที่ก็ใส่เป็นถ่านแกลบ ไม่นิยมใส่ทรายหรือของอื่น

การประดิษฐานกระถางธูปจะอยู่ติดชิดกับเทวรูปและอยู่ในชั้นเดียวกัน ถือเป็นเครื่องบูชาที่พิเศษกว่าสิ่งอื่น มีความเชื่ออยู่อีกว่า เทวรูปของเราอาจขยับทำความสะอาดได้บ้าง แต่กระถางธูปห้ามขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ถ้าจะทำความสะอาดก็ทำได้เพียงใช้แปรงปัดขี้ธูปเบาๆ โดยไม่ให้กระถางเคลื่อนที่หรือขยับ

จะเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อถึงวัน “ส่างสีน” หรือวันส่งเจ้าก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนไปแล้วเท่านั้น พอเจ้ากลับมาก็ต้องยึดหลักนี้ตามเดิม

ส่วนกระถางสำหรับเผาไม้หอมที่ใช้ในพิธีกรรมจะแยกออกมาอีกอัน ไม่เกี่ยวกับกระถางธูปประจำองค์เทพหรือกระถางธูปรวมเทพ (จ้งสีนเบ๋ง) ที่ตั้งอยู่บนแท่น

 

ยังมีเรื่องโชคลางอะไรอีกมากเกี่ยวกับกระถางธูป

เช่น เชื่อกันว่าหากมีหนูมาคุ้ยกินธัญพืชในกระถาง เจ้าบ้านจะประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง

หรือหากมีไฟลุกไหม้ขึ้นก็อาจเป็นการสำแดงนิมิตบางอย่างจากเทพเจ้า

บางครั้งก็มีการจุดธูปเสี่ยงทายโดยมีตำราว่าถึงลักษณะของธูป และเชื่อกันว่าขี้ธูปที่กองสูงขึ้นไปแสดงถึงบารมีของเทพเจ้า เพราะมีการกราบไหว้ต่อเนื่องยาวนาน

บางบ้านก็มีธรรมเนียมการแปะหรือผูกผ้าแดงที่กระถางพร้อมกับปักดอกไม้ทองหรือกิมฮวย (กระดาษหรือวัสดุอื่นทำเป็นรูปหยดน้ำสีทองประดับหางนกยูง ส่วนของทางฮกเกี้ยนนิยมใช้ชุนฮวยซึ่งมีลักษณะอีกแบบ)

ของสองสิ่งนี้มีไว้สำหรับการสมโภชและแสดงถึงยศศักดิ์ เช่น ใช้ผูกที่ป้ายศาลเจ้า ป้ายกิจการในวันเปิด ผูกที่ป้ายวิญญาณบรรพชนรวม ฯลฯ เพราะว่ากันว่าเดิมเป็นดอกไม้พระราชทานประดับหมวกจอหงวน

ผมได้ยินมาอีกว่า ทางฮกเกี้ยนรับเอาธรรมเนียมการปักชุนฮวยหรือกิมฮวยในกระถางธูปมาจากคนกวางตุ้ง แต่จะไม่ปักก็ไม่ได้ผิดอะไร ของสองสิ่งนี้ก็จะต้องเปลี่ยนทุกปีในช่วงส่างสีนเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันมีการผลิตกระถางธูปจากวัสดุที่หลากหลาย เช่น เซรามิก ศิลาดล ทองเหลือง แต่สมัยโบราณคนทางบ้านผมจะนิยมกระถางธูปที่ทำจากดีบุกซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน โดยเฉพาะกระถางธูปไหว้บรรพบุรุษทรงสี่เหลี่ยมที่มีเอกลักษณ์ เรียกกันว่า “ฮกเกี่ยนหลอ” ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าใช้กันเฉพาะในหมู่คนฮกเกี้ยนถึงเรียกแบบนั้น หรือเป็นของที่มีทั่วไปแต่จีนภาษาอื่นนอกจากฮกเกี้ยนไม่นิยมใช้

เมื่อมีกระถางธูปก็ควรต้องจุดธูปบูชาทุกวัน แต่จะไหว้พระในบ้านก็ต้องไหว้ทีก้องหรือไหว้ฟ้าเสียก่อน จะไหว้แล้วปักธูปในกระถางเฉพาะของทีก้อง หรือจะจุดธูปแล้วหันออกไปทางหน้าบ้านแล้วก้มไหว้คารวะเสียก่อนก็ได้ถ้าไม่มีที่ไหว้ทีก้องโดยเฉพาะ

 

คนทั่วไปเข้าใจว่าไหว้เทพจีนต้องใช้ธูปสามดอก แต่ที่จริงจะไหว้ด้วยธูปดอกเดียวก็ไม่เป็นการผิดแต่อย่างใด บางท่านว่าการไหว้สามดอกของจีนมีนัยถึงการเคารพไตรวิสุทธิเทวาจารย์ของเต๋า (ซำเช้งเต๋าจ้อ) แต่หากถือพุทธคงหมายถึงพระรัตนตรัย ส่วนดอกเดียวย่อมเป็นการถวายควันหอมต่อเทพเจ้าพระองค์นั้นโดยตรง

ในพิธีกรรมบางอย่างอาจมีไหว้ด้วยธูปจำนวนอื่นๆ เช่น การไหว้ด้วยธูปสิบสองดอกในพิธีบวงสรวงใหญ่ ส่วนการไหว้บรรพบุรุษตามประเพณีฮกเกี้ยนไหว้ด้วยธูปสองดอก เดิมผมเข้าใจว่าไหว้เฉพาะคนที่แต่งงานและคู่ของตนตายไปด้วยแล้วเท่านั้น ที่จริงการไหว้สองดอกหมายถึงการไหว้ย้อนไปยังบรรพชนทั้งฝ่ายแม่และฝ่ายพ่อ ในการเคารพศพถือเป็นการให้เกียรติต่อบรรพชนในสองฝ่ายของผู้นั้นด้วย

ไปๆ มาๆ วันนี้พูดได้แค่เรื่องกระถางธูป ส่วนสิ่งสำคัญอีกอย่างไว้ผมจะค่อยๆ เล่าต่อไป

ต้องขอย้ำว่า สิ่งที่ผมเขียนล้วนมาจากคำบอกเล่าและความทรงจำ ย่อมมีที่ผิดพลาดเป็นแน่ อีกทั้งผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนคดีศึกษา แผ่นดินจีนก็กว้างใหญ่ไพศาล ร้อยบ้านมีร้อยธรรมเนียม ผมจึงเล่าจากสิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังและพบเห็นมาเท่านั้น ซึ่งบางอันก็เลือนๆ อยู่

หากมิตรงกับที่ท่านปฏิบัติและยึดถือมานาน

ก็ขออภัย •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง