ว่าด้วยเทพเจ้าจีน (3) : พระฮู้อ๋องเอี๋ย เทพกลุ่มพิเศษ เทพตรวจการณ์ เทพโรคระบาด? | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพ ง่อฮู้อ๋องเอี๋ย จาก dharmajatiblog

กระผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่านที่หายหน้าหายตาไปหนึ่งสัปดาห์ ด้วยเหตุว่าต้องไปเข้าร่วมการภาวนาประจำปีของสังฆวัชรปัญญาซึ่งผมเป็นสมาชิกอยู่ พูดแล้วก็เขินครับเวลาบอกคนอื่นว่าไปเรียนเรื่องภาวนา เพราะโดยมากผมมักได้เรียนเรื่องการสัปหงกกับการปวดเมื่อยมากกว่า

นอกจากการจะได้ฝึกฝนภาวนาแล้ว ปีนี้เรายังได้เรียนเกี่ยวกับความตายจากมุมมองพุทธศาสนาสายวัชรยานโดยคุณวิกตอเรีย สุพีระนะ (Victoria Subirana) ครูชาวสเปน ซึ่งคงจะได้มาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

คราวนี้จะขอพูดถึงเทพเจ้าจีนกลุ่มพิเศษกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “พระฮู้อ๋องเอี๋ย” ครับ

 

อย่างที่ผมเคยกล่าวไปแล้วว่า คนจีนโดยเฉพาะจีนใต้แต่ละท้องถิ่น ต่างมีเทพเจ้าประจำถิ่นของตน เมื่ออพยพไปที่ใหม่ก็นำเอาเทพเจ้าไปด้วย กระนั้นในบรรดาจีนใต้กลุ่มภาษาต่างๆ ผมคิดว่าเทพเจ้าของคนจีนฮกเกี้ยนมีความสลับซับซ้อนที่สุด อันนี้มิได้เป็นการยกตนข่มท่านนะครับ เพราะมันมีหลักฐานและสาเหตุหลายๆ ประการอยู่

ง่ายๆ เลย ลองพิจารณาศาลเทพเจ้าในกลุ่มคนจีนภาษาอื่นๆ นอกจากคนฮกเกี้ยนดูครับ เทพเจ้าประธานศาลหรือเทพในศาลก็มักซ้ำอยู่ไม่กี่องค์ และโดยมากก็เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น ปุงเถ่ากง กวนอู เจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม ฯลฯ หลายกรณีเป็นการรับเอาเทพเจ้าท้องถิ่นของไทยเข้าไปด้วย เช่น เทพเจ้าที่เจ้าทาง

แต่หากไปเยือนศาลเจ้าของคนฮกเกี้ยน เช่น บรรดาศาลเจ้าในจังหวัดภาคใต้ของบ้านเรา เทพประธานศาลต่างๆ มักไม่ค่อยซ้ำกัน

แถมในศาลเดียวอาจมีเทพเจ้ามากมายหลายสิบองค์และหลายองค์เราก็อาจไม่เคยพบเห็นหรือได้ยินชื่อมาก่อน

เช่น ทิฮู้หง่วนโส่ย ผ่ออ๊ามจ้อซู ลื่อซานจ้อซู ฮวดจู้ก้ง ฯลฯ โดยเฉพาะเทพกลุ่มที่เรียกว่า “พระฮู้อ๋องเอี๋ย”

เอาเข้าจริงแล้ว คนฮกเกี้ยนนิยมเอาเทพเจ้าของแต่ละเมืองหรือแต่ละอำเภอที่ตนอยู่มายังบ้านเมืองใหม่ อันนี้ไม่ต่างกับจีนภาษาอื่น

แต่เพราะแต่ละอำเภอหรือเมืองของมณฑลฮกเกี้ยนมีเทพท้องถิ่นเยอะ จึงพลอยมีเทพอพยพมาเยอะตามไปด้วย

หลักๆ คือ “จตุรมหาเทพ” ของคนฮกเกี้ยนสี่องค์ กล่าวกันว่าที่ใดมีเทพสี่องค์นี้ ที่นั่นมีคนหมิ่นหนาน (คนฮกเกี้ยนใต้) เสมอ ไว้ผมจะมาเล่าวันหลังว่าสี่องค์นี้มีเทพองค์ไหนอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ เราจึงพอทราบได้จากเทพในศาลของชุมชนชาวจีนอพยพว่า คนจีนในละแวกที่ก่อตั้งศาลเจ้ามาจากที่ใดในเมืองจีน เช่น บ้านเกิดของผมที่ระนองมีศาลพระโปเส้งไต่เต่อายุไม่น้อยกว่าร้อยสี่สิบปี แสดงว่าคนจีนที่นั่นส่วนมากอพยพมาจากจ่วนจิ๊วและเอ้หมึงของมณฑลฮกเกี้ยน เพราะศาลเดิมหรือศาลแรก (จ้อเบี่ยว) ของเทพองค์นี้อยู่ที่เมืองนั้น

นอกจากนี้ เหตุที่มีเทพเจ้ามากกว่าจีนกลุ่มอื่นๆ ผมคิดว่าเป็นเพราะในดินแดนฮกเกี้ยน อิทธิของศาสนาเต๋าที่ผสมผสานกับความเชื่อพื้นบ้านมีมาก กล่าวคือ อิทธิพลของลัทธิ “ลื่อซาน” ซึ่งถือเป็นเต๋าแขนงหนึ่ง อันเต็มไปด้วยการใช้เวทมนตร์และการกำราบภูตผีปีศาจที่แพร่หลายมาก รวมทั้งการมีกลุ่มก้อนของผู้ต่อต้านราชวงศ์เช็ง (ชิง) ซึ่งมักมีศาสนาบังหน้าอยู่อีกหลายกลุ่มในบริเวณนั้น ก่อให้เกิดการเคารพ “บูรพาจารย์” หรือวีรชนในฐานะเทพเจ้า

 

กลับมาสู่กลุ่มพระฮู้อ๋องเอี๋ยซึ่งมีจำนวนมากมายเช่นกัน แต่จะมีเท่าใดกันแน่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ บ้างก็ว่ามีถึงสามร้อยหกสิบองค์ แต่ละองค์จะเรียกโดยมี “แซ่” หรือสกุลนำหน้า เช่น ตี่ฮู้อ๋องเอี๋ย แสดงว่าท่านแซ่ตี่ จูฮู้อ๋องเอี๋ยคือแซ่จู หงอฮู้อ๋องเอี๋ยคือแซ๋หงอ เป็นต้น มีตำแหน่งเป็น “อ๋อง” (เจ้าประเทศราช) หรือบางครั้งก็เรียกว่า เชียนโส่ยเอี๋ย ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิดเป็นตำแหน่งระดับนายทัพ ซึ่งเป็นตำแหน่งฝ่ายบู๊

เทพเหล่านี้มักมีการบูชาเป็นกลุ่มเรียกตามจำนวน เช่น ถ้ามีสามองค์ก็เรียก “ส่ามฮู้อ๋องเอี๋ย” แปลว่าพระอ๋องเอี๋ยสามองค์ หรือห้าองค์ก็เรียกง่อฮู้อ๋องเอี๋ย คือพระอ๋องเอี๋ยห้าองค์ เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องพระฮู้อ๋องเอี๋ยเป็นความเชื่อในกลุ่มคนฮกเกี้ยนโดยเฉพาะ แพร่หลายมากในช่วงราชวงศ์หมิงเรื่อยมาจนถึงสมัยชิง และยังแผ่ออกไปสู่จีนกลุ่มอื่นๆ ด้วย แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าคนฮกเกี้ยนเอง

พระฮู้อ๋องเอี๋ยที่มีจำนวนมากมายนั้น บางองค์ก็มีประวัติชัดเจน เคยเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริงๆ เช่น พระตี่ฮู้อ๋องเอี๋ย ซึ่งเดิมมีนามว่าตี่หมั่งเปียวมีชีวิตอยู่ในสมัยถัง เป็นนายทัพที่เก่งกล้าสามารถในการรบ และยังมีตำนานเพิ่มเติมเล่าสืบมาว่า ได้ยอมกลืนพิษของเทพแห่งโรคระบาดที่ถูกส่งมาลงโทษมนุษย์ จนตัวท่านถึงแก่ความตายจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเทพ

อีกองค์ที่เราอาจรู้จักกันดีคือ “พระเปาฮู้เชี่ยนโส่ย” หรือท่านเปาบุ้นจิ้นนั่นเอง ความเชื่อในฝ่ายนี้ถือว่า ด้วยคุณงามความดีที่ประกอบมาในชีวิต ยามตายไปดวงวิญญาณของท่านเปาจึงได้รับการแต่งตั้งจากฟ้าให้เป็นพระฮู้อ๋องเอี๋ยองค์หนึ่งด้วย

 

พระฮู้อ๋องเอี๋ยบางองค์ไม่มีประวัติหรือเป็นที่รู้จักเลย มีเพียงนามคือแซ่และรูปลักษณ์เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการก่อเกิดความเชื่อเรื่องพระฮู้อ๋องเอี๋ยอาจเป็นการรวบรวมเอาบุคคลที่มีความโดดเด่นในประวัติศาสตร์ แต่อาจยังไม่ได้รับการเคารพเป็นเทพมารวมกันเป็นกลุ่มเดียว แล้วถือเป็นเทพกลุ่มพิเศษ

พระฮู้อ๋องเอี๋ยจึงมีจำนวนมากและมาจากต่างยุคต่างภูมิหลังกัน หรือบางครั้งก็สถาปนาเทพให้กับแซ่ต่างๆ ที่ยังไม่ได้มีเทพประจำแซ่ไปด้วย บางองค์จึงอาจไม่ได้มีที่มาที่ไปชัดเจนนัก

ในแง่บทบาท พระฮู้อ๋องเอี๋ยอาจถือเป็นพระประจำแซ่ก็ได้เพราะมีเกือบครบทุกแซ่ แต่ในทางความเชื่อ เทพเจ้ากลุ่มนี้ มีบทบาทพิเศษผิดกับเทพอื่นๆ อีก

หากจำเนื้อหาบทความในคราวที่แล้วได้ เทพเจ้าจีนมีลำดับชั้นยศและสายการบังคับบัญชาตามระบบราชการจีน ทว่าเทพกลุ่มฮู้อ๋องเอี๋ยไม่ขึ้นกับระบบนั้น เพราะถือกันว่า พระฮู้อ๋องเอี๋ยขึ้นต่อ “ฟ้า” หรือหยกอ๋องสย่งเต้ (เง็กเซียนฮ่องเต้) โดยตรง

หากเทียบกับมนุษยโลกก็คงเป็นหน่วยราชการพิเศษหรือหน่วยราชการลับที่ขึ้นตรงต่อเจ้านายเท่านั้น

 

ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าพระฮู้อ๋องเอี๋ยเป็น “เทพตรวจการณ์ฟ้า” (ไต่เทียนสุ่นสิ่ว) มีหน้าที่ตรวจตราเหตุการณ์ต่างๆ ตามแต่ฟ้าจะทรงบัญชา บางท่านจึงถือว่า พระฮู้อ๋องเอี๋ยเป็นพระที่ “แรง” เพราะมีอิทธิพลมาก จึงมีคนนิยมกราบไหว้เพราะเชื่อในอำนาจความศักดิ์สิทธิ์

นอกจากจะเป็นเทพตรวจการณ์ฟ้าแล้ว ยังมีความเชื่อว่าเทพกลุ่มนี้มีอำนาจในทางปกครองเกี่ยวกับกองทัพเทพโดยเฉพาะ เช่น ปกครองสามสิบหกกองทัพสวรรค์ (ซาจับหลักเทียนกั่ง)

กองทัพเทพตามความเชื่อนี้ อาจให้คุณหรือให้โทษก็ได้ เพราะบรรดาพลทหาร (เทพ) เหล่านั้นคล้าย “ผี” มากกว่า คือย่อมมีทั้งดีร้ายปะปนกันไปเหมือนพลทหารจำนวนมากๆ ในกองทัพ ผู้ใช้เวทมนตร์แบบลื่อซานหรือฮวดกั้วจะต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ เช่น เมื่อเรียกกองทัพสวรรค์มาอารักขางานพิธีก็ต้องเลี้ยงดูให้อิ่มหนำและต้องเรียกกลับให้หมดเมื่อเสร็จงาน ไม่งั้นอาจเกิดเภทภัยได้

ดังนั้น จึงต้องมีเทพที่อิทธิฤทธิ์มากๆ หรือมีอำนาจมากๆ มาดูแลอีกทีหนึ่ง ความเชื่อนี้เลยเชื่อมโยงไปยังพระกลุ่มฮู้อ๋องเอี๋ย ซึ่งส่วนมากเป็นพระบู๊และดุ

 

นอกจากนี้ บทบาทที่สำคัญที่สุดของพระฮู้อ๋องเอี๋ย คือเป็น “เทพเจ้าแห่งโรคระบาด” เพราะมีหน้าที่ปกครองเหล่าเทพแห่งโรคระบาด (อุ่นสิน) โดยตรง เทพเหล่านี้อาจรับบัญชามาปล่อยโรคระบาดในพื้นที่ได้ จึงมีประเพณีการลอยเรือส่งพระฮู้อ๋องเอี๋ยไปในทะเลหรือเผาเรือ ทำนองการส่งเคราะห์หรือส่งโรคระบาดทุกๆ สามปี ห้าปีหรือสิบสองปี เชื่อว่าถ้าไม่ส่งเรือพระฮู้อ๋องเอี๋ย โรคระบาดในพื้นที่นั้นก็จะไม่หายไป

ผมเพิ่งทราบว่า ในปีนี้บางศาลเจ้าในจังหวัดภูเก็ตได้จัดพิธีลอยเรือส่งพระฮู้อ๋องเอี๋ยด้วย ก็คงเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่กับเราอย่างยาวนานต่อเนื่อง

ในสถานการณ์แบบนี้ ฝากความหวังกับเทพเจ้าอาจดีกว่าฝากกับอะไรอื่นนะครับ ใครอยากไปไหว้พระฮู้อ๋องเอี๋ยก็ลองไปเที่ยวจังหวัดทางใต้ดูครับ ระนอง ตรัง ภูเก็ต บางศาลก็มีพระฮู้อ๋องเอี๋ยเป็นเทพประธานเลยทีเดียว

ถ้ายังไม่เบื่อเรื่องจีนๆ เสียก่อน หรือหากผมมีอะไรที่ยังพอไปสืบเสาะมาได้อีก คงได้เล่าสู่กันฟังครับ

หากท่านผู้รู้มีข้อมูลอันใดที่อยากเพิ่มเติมหรือยากให้แก้ไข โปรดบอกมาเถิด

ผู้น้อยขอน้อมรับไว้ด้วยคาวระจิต