ผี พราหมณ์ พุทธ : รู้จัก ‘ปัญจายตนเทวตา’ เทพหลักห้าพระองค์ของชาวฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

รู้จัก ‘ปัญจายตนเทวตา’

เทพหลักห้าพระองค์ของชาวฮินดู

 

มักมีผู้ถามว่า ชาวฮินดูมีเทพเจ้าทั้งหมดกี่พระองค์

ผมก็ตอบเขาไม่ได้เพราะเทพเจ้ามีมากมายมหาศาล

บางท่านก็ว่าในคัมภีร์พระเวทมีเทพเจ้ามากถึงสามสิบสามล้านพระองค์

แต่บางท่านก็ว่านี่เป็นการเข้าใจผิดจากสำนวนที่มักใช้ว่า “สามสิบสามโกฏิ” ในคัมภีร์ต่างๆ สำนวนนี้คงเป็นทำนองว่ามากมายมหาศาลนั่นแหละ

ในยุคพระเวทมีเทพเจ้าสำคัญเป็นหลักอยู่สามสิบสามองค์ คือ กลุ่มวสุเทพ 8 องค์ ซึ่งได้แก่เทพประจำธาตุและธรรมชาติต่างๆ เช่น วายุ – ลม, อัคนิ – ไฟ, เทฺยาสฺ – ท้องฟ้า, พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น

กลุ่มที่สอง คือ อาทิตยเทพ 12 พระองค์ เช่น วิษณุ วรุณ ภคะ ปูษัน สวิตฤ เป็นต้น

กลุ่มที่สาม คือ รุทระเทพ มีทั้งสิ้น 11 องค์ เช่น อีศาน ตัตปุรุษะ ฯลฯ

บวกกับอัศวิน ซึ่งเป็นเทพแฝดอีกสององค์รวมเป็น สามสิบสามองค์

นอกนั้นยังมีเทพเจ้าอื่นๆ อีกมาก ซึ่งทยอยพัฒนาขึ้นมาอีกเรื่อยๆ และแม้แต่เทพกลุ่มสามสิบสามองค์เหล่านี้ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เช่น ในเวลาต่อมารุทระจะหมายถึงพระศิวะ ส่วนพระวิษณุก็มิได้หมายถึงอาทิตยเทพเท่านั้น

พัฒนาการของเทพเจ้าฮินดูรุ่งเรืองมากในยุคปุราณะ คือมีคัมภีร์ประเภทเทวตำนานทำให้เทพเจ้าในยุคก่อนหน้า กลายมาเป็นเทพเจ้าแบบที่เรารู้จัก มีความหมายใหม่ มีระบบครอบครัว มีตำนานการปราบอสูร เป็นต้น

ศาสนาฮินดูยังรับเอาเทพเจ้านอกพระเวทที่เป็นเทพเจ้าของชาวบ้านเข้ามาร่วมไว้อีกมาก เช่น พระคเณศ ขันทกุมาร เทวีต่างๆ และพวกเจ้าที่เจ้าทางหรือผีพื้นเมืองของอินเดีย

 

แม้ว่าเทพเจ้าจะมีเยอะ แต่ความคิดของฮินดูเกี่ยวกับเทพเจ้ามีความซับซ้อนหลากหลายมาก ผมจึงไม่สามารถจัดเข้าแนวคิดเทวนิยม (Theism) ตามอย่างตะวันตกได้

เพราะแม้ในทางปรากฏการณ์ชาวบ้านจะนับถือเทพเจ้าหลากหลายคล้ายเป็น พหุเทวนิยม (polytheism)

แต่ในนิกายต่างๆ มีคำสอนเรื่องมีพระเจ้าสูงสุดเพียงหนึ่ง (monotheism) โดยเฉพาะหลังยุคมหาเทพคือหลังพุทธกาลมา ได้มีการยกย่องเทพองค์ใดองค์หนึ่งว่าเป็นพระเจ้าสูงสุด โดยที่องค์อื่นๆ เป็นเพียงบริวารหรือภาคหนึ่งของพระองค์เท่านั้น

การก่อเกิดแนวคิด “ตรีมูรติ” ก็ต่างกับแนวคิดตรีเอกานุภาพ (Trinity) อย่างตะวันตกอยู่บ้าง เพราะตรีมูรติ หรือพระเจ้าสามองค์ (พรหมา วิษณุ มเหศวร) ที่ทำหน้าที่สร้าง รักษา และทำลายจักรวาลนั้น เอาจริงๆ แล้วเทพทั้งสามดังกล่าวหากถูกกล่าวถึงในนิกายต่างๆ ก็ย่อมมีองค์ใดองค์หนึ่งเหนือกว่าอีกสององค์

เช่น แนวคิดตรีมูรติในไวษณพนิกายย่อมอธิบายว่า พระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุดในสามองค์นั้น หรืออีกสององค์เป็นเพียงภาคสำแดง (วยูหะ) ของพระวิษณุเท่านั้นเอง

การโต้แย้งกันของนิกายต่างๆ มีมาตลอดประวัติศาสตร์ของศาสนาฮินดู ดังจะเห็นได้จากตัวคัมภีร์ปุราณะเอง ได้มีการยกย่องเทพของนิกายตนไว้อย่างสูง และกดข่มเทพเจ้าของนิกายอื่นๆ ไว้ด้วย

 

ล่วงมาถึงสมัยของท่านอาทิศังกราจารย์ นักปรัชญาฮินดูผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ห้าถึงเจ็ด บรรยากาศทางสังคมในเวลานั้น ต่างสำนักคิดไม่ว่าจะพุทธศาสนา ไชนะ และฮินดูต่างโต้แย้งกันอย่างเผ็ดร้อน แม้แต่ในศาสนาฮินดูเองก็โต้แย้งกันในนิกายต่างๆ

แนวคิดสำคัญของท่านศังกราจารย์คือ “พฺรหมสตฺยํ ชคนฺมิถฺยา ชีโวพฺรหฺไมว นาประ” พรหมันเท่านั้นคือสิ่งจริงแท้ โลกคือมายา ชีวาตมันมิได้แยกจากพรหมัน หลักการนี้ยืนยันว่า มีเพียงตัวสัจจะเท่านั้นที่จริงและดำรงอยู่เพียงหนึ่งเดียว (The One) นอกนั้นเป็นเพียงความลวง

ดังนั้น ความแตกต่างทั้งหลาย รวมทั้งเทพเจ้าทั้งหลายด้วย ที่จริงแล้วเป็นเพียงการ “สำแดง” ของพระเจ้าหนึ่งเดียวที่เรียกว่า อีศวร (แปลว่า พระเจ้า) ซึ่งก็ปรากฏจาก “ปรพรหมัน” หรือ “นิรคุณพรหมัน” หมายถึงตัวสัจจะอันไม่ปรากฏหรือไม่อาจบ่งคุณสมบัติได้

ด้วยเหตุนี้ ท่านศังกราจารย์จึงได้มีการสร้างแนวคิดการบูชาเทพเจ้าทั้งห้าขึ้นเรียกว่า “ปัญจายตนเทวตา” เพราะถือว่า เทพเจ้าทั้งห้านี้เป็นสิริรวมของเทพเจ้าทั้งหลายแล้ว และเบื้องหลังของเทพเจ้าเหล่านี้ก็คือตัวสัจธรรมเดียวกัน

 

เทพเจ้าทั้งห้าได้แก่ สูริยะเทพ เทวี (เทพสตรีโดยรวม) วิษณุ คเณศ ศิวะ (บางครั้งอาจเป็นพระพรหมาก็ได้) และบางโอกาสก็มีการเพิ่มพระขันทกุมารเข้าไปด้วย (สันสกฤตท่านว่า อาทิตฺยํ อํพิกามฺ วิษฺณุมฺ คณนาถํ มเหศฺวรมฺ)

ปกติแล้วหากยึดถือตามหลักของนิกายต่างๆ พระเป็นเจ้าสูงสุดของนิกายนั้นย่อมได้รับการสักการะเป็นประธาน หรืออยู่ในตำแหน่งกลางของเทวสถาน แต่การบูชาแบบปัญจายตนะ ทั้งห้าองค์จะประดิษฐานเป็นมณฑลร่วมกัน

การประดิษฐานแบบปัญจายตนะ ศาสนิกจะเลือกเอาองค์ใดองค์หนึ่งเป็นประธานก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอนุสัยสันดาน ความชอบศรัทธาหรือ “วาสนา” ของคนคนนั้น เอาองค์ใดเป็นประธานก็เรียกตามชื่อนั้น เช่น ศิวปัญจายตนะ คเณศปัญจายตนะ ฯลฯ

ส่วนการจัดวางมีแบบแผนกำหนดไว้ เช่น เมื่อองค์ใดเป็นประธาน อีกสี่องค์จะอยู่ในตำแหน่งใด

การบูชาแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของนิกาย “สมารตะ” ซึ่งสืบทอดมาจากท่านศังกราจารย์ ในเมืองไทยเรา เทวสถานของชาวอินเดียภาคเหนือไม่ว่าจะเทพมณเฑียรหรือวัดวิษณุ ก็เป็นสมารตะทั้งสิ้น ท่านอยากเห็นการประดิษฐานแบบนี้ก็ไปเยี่ยมชมได้ครับ

 

นอกจากจะสักการบูชาโดยใช้เทวรูปแล้ว ยังมีการใช้หินชนิดต่างๆ แทนเทพเจ้าทั้งห้า (ต้องขอบพระคุณศรีเวทชนนีทาสที่กรุณาค้นมาให้ด้วยนะครับ) ดังนี้

พระคเณศแทนด้วย หินแจสเปอร์แดงจากแม่น้ำโสนภัทรในแคว้นพิหาร เรียกว่า โสนภัทรศิลา ซึ่งนิยมให้เป็นสี่เหลี่ยม

พระเทวีแทนด้วย หินแร่ไพไรต์จากแม่น้ำสวรณมุขีในแคว้นอานธรประเทศ เรียกว่า สวรณมุขีศิลาหรือเรขศิลา

พระวิษณุแทนด้วย ศาลครามศิลาจากแม่น้ำคัณฑกีในเนปาล (ย้อนกลับไปอ่านบทความเรื่องศาลครามของผมได้)

พระสุริยเทพแทนด้วย หินควอตซ์ใสจากแม่น้ำวัลลัมในแคว้นทมิฬนาฑุ

พระศิวะแทนด้วย พณลิงคัม หรือศิวลึงค์หินธรรมชาติจากแม่น้ำนรมทา ในแคว้นมัธยประเทศ

เหตุที่มีการแทนเทวรูปด้วยหินต่างๆ ผมเข้าใจว่า เพื่อแสดงให้เห็นสภาวะอรูป หรือ ภาวะไร้รูปของเทพ (นิรคุณ) และที่จริงการบูชาปัญจายตนเทวตานั้น ผมเข้าใจว่ามีเหตุผลในทางปรัชญาและในทางศาสนาอยู่

 

เหตุผลในทางปรัชญา เทพทั้งห้า คือสภาวะแห่งธรรมชาติหรือก็คือตัวแทนของธาตุทั้งห้าในจักรวาล พระคเณศแทนธาตุน้ำ พระเทวีแทนธาตุไฟ สุริยเทพแทนธาตุลม พระศิวะแทนธาตุดิน และพระวิษณุแทนอวกาศ (อีเธอร์) (สันสกฤตท่านว่า อากาศสฺยธิโป วิษฺณุะ, อคฺเนศฺไจว มเหศวรี, วาโยะ สูรฺยะ, กฺษิเตรีศานะ, ชีวนสฺย คณาธิปะ)

ส่วนทำไมเทพองค์ใดแทนธาตุอะไรนั้น ผมว่าน่าสนใจและน่าตีความ ซึ่งคงมีโอกาสไว้เล่าในคราวต่อไป

ดังนั้น การบูชาเทพทั้งห้าคือการบูชาธาตุทั้งห้าหรือสภาวะพื้นฐานของจักรวาลนั่นเอง

ส่วนเหตุผลในทางศาสนา เทพเจ้าทั้งห้าล้วนเป็นเทพหลักของนิกายสำคัญในศาสนาฮินดูทั้งสิ้น ซึ่งในช่วงที่อาทิศังกราจารย์มีชีวิตอยู่ นิกายเหล่านี้แตกกันมาก การที่ท่านจับเอาเทพของทุกนิกายมารวมและบูชาไปพร้อมๆ กัน นัยยะหนึ่งคือการสร้างความสามัคคีให้กับชาวฮินดูนั่นเอง

กล่าวคือ เป็นกุศโลบายทางศาสนาในเวลานั้น ที่ยังคงสืบต่อมาอีกยาวนาน

ดังนั้น หากกลับมาถามว่า ฮินดูมีเทพเจ้ามากมายไหม จากแนวคิดเรื่องปัญจายตนเทวตา คงได้ตอบใหม่ว่า

มีมากในน้อย มีน้อยในมาก