ผี พราหมณ์ พุทธ l สมณสารูป : ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา? (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

สมณสารูป

: ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา? (จบ)

 

ในประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ค้นพบและรวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2473 มีเนื้อหาจำนวนมากเล่าถึงบทบาทการเป็น “นักเทศน์” ที่มีชื่อเสียงของสมเด็จโต

แม้บันทึกดังกล่าวจะบันทึกขึ้นในสมัยรัชกาลที่เจ็ด หลังสมเด็จโตมรณภาพไปแล้วหลายสิบปี (สมเด็จโตถึงแก่มรณภาพในสมัยรัชกาลที่ห้า) และมีผู้วิจารณ์ว่า หลายเรื่องในนั้นเป็นการแต่งเติมเข้าไปแบบนิยายโดยผู้บันทึกเอง กระนั้นก็ช่วยให้ภาพชีวิตความเป็นอยู่และลักษณะสำคัญบางประการของสมเด็จโตได้

อีกทั้งในประกาศสถาปนาสมเด็จพุฒาจารย์โต ในปี 2407 ยังมีการกล่าวว่า “แลฉลาดในโวหารนิพนธ์เทศนาปริวัติวิธีแลทำกิจในสุตนั้นด้วยดีไม่ย่อหย่อน” คือท่านเทศน์เก่งนั่นเอง

แสดงว่านี่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของท่าน

 

ที่กล่าวมานี้ เพราะในบันทึกดังกล่าว มีหลายตอนที่บอกว่าสมเด็จโตนั้น ท่านเทศน์ “ตลก” นะครับ

เช่น ไปเทศน์ที่บ้านท่านสมเด็จเจ้าพระยา ท่านเทศน์แหล่ชูชกจนคนหัวเราะกันทั้งเรือน หรือไปเทศน์ในทำนองยียวนคู่เทศน์ด้วยกันเอง หรือยียวนคนฟังอยู่หลายครั้งหลายครา กระนั้นก็ยังได้รับการยกย่องในเรื่องนี้

ที่จริงการเทศนาในสมัยก่อน ผมเข้าใจว่า มีนัยยะ “เชิงพิธีกรรม” มากกว่ามุ่งเน้นการสอนสั่งทางศีลธรรมหรือข้อปฏิบัติล้วนๆ เช่น การจัดบุญพิธีต่างๆ เช่น เทศน์มหาชาติ ตั้งธรรมหลวง บุญผะเหวด โดยมีเนื้อหาหลักคือเล่าเรื่อง “ชาดก” ต่างๆ เพราะเชื่อว่า ชาดกเหล่านี้ให้อานิสงส์มากทั้งยังเป็นมงคลต่อชุมชน

เทศน์อย่างโบราณจึงเป็นการเล่านิทาน (story telling) มากกว่าจะเป็นการสั่งสอน (teaching) ข้อธรรมตรงๆ เพราะต้องไม่ลืมนะครับว่า ในวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมอุษาคเนย์ เป็นเรื่องปกติที่จะมีการเล่าเรื่องตำนานต่างๆ ที่ทั้งศักดิ์สิทธิ์และบันเทิงไปพร้อมๆ กันแก่ชุมชนด้วย ซึ่งกระทำโดยหมอผีหัวหน้าเผ่า หมอลำ นักขับ ฯลฯ และต่อมาบทบาทนี้จะกลายเป็นของพระ

พลังของเรื่องเล่า ก่อร่างความศักดิ์สิทธิ์บางประการทางศาสนา มันมีมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกซึ่งง่ายต่อการซึมซับ ก่อให้เกิดอุดมคติและการกล่อมเกลาในปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันก็สร้างอุดมการณ์บางอย่างในสังคมไปด้วย

ดังนั้น การเล่าเรื่องเหล่านี้จึงมักต้องเป็นทำนอง (เพราะเป็นธรรมเนียมศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมแต่ก็ทำให้บันเทิงไปพร้อมกัน) มีเอื้อน มีลีลายักย้าย ยามเศร้าก็ต้องสร้างความโศกาอาดูร ยามสุขก็ตลกสนุกสนาน

จะสอดแทรก “คำสอน” หรือ “ท่าที” ทางศาสนาก็แนบเนียน ไม่ต้องมาสั่งซึ่งโดยมากคนจะเบื่อหน่ายและไม่ทำตาม

 

ไม่ว่าจะภูมิภาคไหน ก็มีเทศน์ในลักษณะเช่นนี้ อย่างเทศน์ “ตุ๊จก” หรือกัณฑ์ชูชกอันโด่งดังของตุ๊ลุงทอง (พระครูโสภณบุญญาภรณ์ (บุญทอง สุวณฺโณ)) ที่ไม่ว่าไปเทศน์ที่ไหนคนก็ฟังกันล้นหลาม เพราะสนุกและตลก ผมผู้เป็นคนต่างถิ่นไปเรียนเชียงใหม่ ยังได้รู้จักกิตติศัพท์ของท่าน คิดดูล่ะครับว่าท่านโด่งดังเพียงใด

ทั้งนี้ การเทศนาธรรมที่ไม่ได้เป็นการเล่านิทานก็มีอยู่ คือการเทศนาธรรมโดยการ “อ่าน” หรือดูหนังสือเทศน์ ที่เป็นตัวพระธรรมคำสอน อันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นธรรมเนียมชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ที่คงมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การเทศน์แหล่สนุกสนานคงเป็นที่นิยมของชาวบ้านจริงๆ ดังนั้น ในสมัยรัชกาลที่หนึ่งจึงมีการออกกฎหมายคณะสงฆ์ มิให้พระเทศตลกคะนอง ผมขอคัดมาดังนี้

“แลทุกวันนี้อาณาประชาราษฎรทั้งปวง ลางบ้างให้มีพระมหาเวศสันดรชาฎกนี้ มิได้มีความสังเวศเลื่อมไสยเปนธรรมคาวระ ฟังเอาแต่ถ้อยคำตลกคะนองอันหาผลประโยชนมิได้ พระสงฆ์ผู้สำแดงนั้น ลางจำพวกมิได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก ได้แต่เนื้อความแปลร้อยเปนกาพกลอน แล้วก็มาสำแดงถ้อยคำตลกคนองอยาบช้า” และ

“ห้ามอย่าให้เทศนาแลฟังเทศนาเปนกาพย์กลอนแลกล่าวถ้อยคำตลกคะนองเปนการเล่นหัวเราะชื่นชมด้วยกัน ประมาทให้ผิดจากพระวินัยเปนอันขาดทีเดียว แลให้พระภิกษุสงฆ์เถรเณรฝ่ายคันธธุระวิปัศนาธุระ แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงประพฤดิ์ตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้” (สะกดตามแบบเดิม)

ผมคิดว่าแม้จะทรงออกเป็นกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ยังมีเทศน์ตลกอยู่ เพราะพระและชาวบ้านคงได้รักษาจารีตตามเดิมต่อไป คงเว้นกันอยู่แต่ในพระนครที่ใกล้พระเนตรพระกรรณ

 

ครั้นล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่สี่ ก็เริ่มมีการเทศน์ในลักษณะบรรยายโดยใช้ปฏิภาณโวหารขึ้น โดยรัชกาลที่สี่เองก็ทรงเทศนาแบบนี้และทรงสั่งสอนศิษย์ให้ทำตามด้วย

ผมเข้าใจเอาเองโดยยังไม่ได้ค้นคว้าว่า อาจทรงได้แบบอย่างจากการเทศน์ของคริสต์ศาสนา เราต้องไม่ลืมว่า ทรงสนิทสนมกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์ และในพิธีมิสซาของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก จะมีช่วงหนึ่งที่ให้บาทหลวงทำการเทศนาสั่งสอนได้ นอกเหนือจากการอ่านพระคัมภีร์

กระนั้น ก็ยังคงมีการหัดเทศนาแบบเก่าอยู่ในพระบรมมหาราชวังเช่นกัน โดยรัชกาลที่ห้าทรงเล่าไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า เมื่อเจ้านายทรงผนวชสามเณร ก็จะฝึกให้เทศน์เวสสันดรชาดกเผื่อจะสามารถเทศน์หน้าพระที่นั่งได้ เป็นธรรมเนียมที่มีมาจนถึงรัชกาลของพระองค์

สุดท้ายมีการปรับปรุงกิจการคณะสงฆ์ที่ใช้การปกครองแบบรวมศูนย์ ทำให้พระเมืองอื่นๆ ต้องรับเอาการเทศนาแบบกรุงเทพฯ คือการเทศน์ธรรมที่ไม่มีแหล่ไม่มีตลก เพราะคนชั้นสูงนิยมแบบนี้ว่าเป็นเรื่องสมควรแก่สมณสารูปและพระวินัย แต่ก็คงปนๆ กันกับธรรมเนียมพื้นเมืองตามความนิยมของคนในชุมชนอยู่ดี

 

ความเปลี่ยนแปลงในการเทศนาเกิดขึ้นอีกครั้งโดยท่านพุทธทาสภิกขุและท่านปัญญานันทะ ซึ่งเริ่มเทศโดยไม่ขึ้นนั่งธรรมาสน์ แต่ยืนเทศน์บนโพเดียม ท่านพุทธทาสบันทึกไว้ว่า

“ความคิดที่จะใช้ปาฐกถาแทนเทศน์ มันเกิดจากรู้สึกว่าของเดิมเต็มสมัยแล้ว คิดจะเอาอย่างสากลเสียบ้าง ยืนบรรยายแบบสากล แต่มันผิดวินัยตามตัวหนังสือห้ามพูดกับผู้ฟังที่นั่งอยู่ ไม่เป็นไข้ ยืนแสดงธรรมกับผู้นั่งเป็นอาบัติทุกกฎ แต่เราตีความวินัยว่าเป็นคนละยุค คนละสมัย คนละถิ่น คนละประเทศ”

สมัยนั้นท่านโดนต่อต้านไม่น้อย ทั้งจากการถือธรรมเนียมเดิมว่า พระต้องนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ (ที่จริงธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่อินเดีย มีเรื่องเล่าว่าพระในนาลันทาและวิกรมศีล ต่างพากันเอาเบาะนั่งของตนวางเรียงให้ผู้เทศนานั่งสูงกว่าคนอื่น นับว่าเป็นการเคารพพระธรรม) หรือจากฝ่ายที่ยึดพระวินัยที่ท่านพุทธทาสยกมาข้างต้น แต่สุดท้ายการเทศนาแบบนี้ก็เป็นที่ยอมรับ

ถึงตอนนี้การเทศนาแบบบรรยายกลายเป็นวิธีหลัก ยิ่งคนมีมุมมองต่อพระแบบบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือนิยมพระสายวัดป่า ก็ยิ่งทำให้การเทศน์แบบบรรยายและเน้นเนื้อหาโลกุตระสำคัญมากขึ้น

เทศน์แหล่หรือเทศน์ตลกจึงกลายเป็นของชาวบ้านหรือมีไว้ในบางประเพณีท้องถิ่นเท่านั้น แต่คนชั้นสูงและชั้นกลางรังเกียจ คนที่อยากให้พุทธศาสนาบริสุทธิ์จริงแท้ก็รังเกียจ

 

ที่จริงคนที่อ้างพระวินัยมาโจมตีพระนักเทศน์ตลกทั้งหลายก็มีความลักลั่นย้อนแย้งอยู่นะครับ คือบอกว่าทำเช่นนี้ผิดพระวินัย (ในข้อเล็กน้อย) ซึ่งก็จริงอยู่ แต่กลับไม่เคยพูดว่ามีการละเมิดพระวินัยอีกมากอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การให้พระรับเงิน รับเงินเดือน (นิตยภัต) มีสมณศักดิ์หรือมีตำแหน่งปกครองคือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ทีงี้ไม่บอกว่าผิดพระวินัยบ้างล่ะครับ ถ้าจะอ้าง “ราชานุวัตร” หรือ “โลกานุวัตร” หรือจะอ้างว่าชาวบ้านติเตียน (โลกวัชชะ) อ้าว เป็นแบบนี้ก็เท่ากับพระวินัยเล็กกว่าคตินิยมชาวโลกไปเสียฉิบ ขัดแย้งกันเองในตัวอีก

พูดง่ายๆ คือ ตีความพระวินัยเฉพาะที่เป็นประโยชน์แก่ตัว และเอาไว้จัดการพระที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตัวเท่านั้นเอง

ผมคิดว่า สุดท้ายการเทศนาเป็น “อุปายะวิธี” หรือเครื่องมือหนึ่งให้คนเข้าถึงธรรมในบรรดาเครื่องมือหลายอย่าง หากการเทศนานั้นรักษาท่าทีของพุทธศาสนา คือส่งเสริมความรักความเมตตาต่อกัน ให้เห็นแก่ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ จะตลกหรือไม่ตลกก็ดีทั้งนั้น แต่หลายครั้งคำสอนในเทศนาก็หลุดไปจาก “ธรรม” กลายเป็นเครื่องมือช่วยให้สบายใจคล้ายโค้ชชิ่งแล้วละเลยการเข้าถึงทุกข์หรือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือกลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงข้ามกับท่าทีของพุทธศาสนา

ที่เลวร้าย คือหลายครั้งพระก็เทศน์เพราะอยากได้หน้า ได้สมณศักดิ์ แถมรู้ด้วยนะครับว่าต้องเทศน์แบบไหน

อย่างนี้อย่าไปฟังเลยครับ

เหม็นขี้ฟัน