ผี พราหมณ์ พุทธ : อะไรคือพระสูตร? : เกณฑ์ในการพิจารณาคำสอนจากทัศนะมหายาน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

อะไรคือพระสูตร ?

: เกณฑ์ในการพิจารณาคำสอนจากทัศนะมหายาน

 

ในคำอาราธนาธรรมของฝ่ายวัชรยาน (มหายาน) กล่าวว่า “ขอพระพุทธองค์โปรดหมุนกงล้อธรรม ทั้งยานใหญ่และยานเล็ก ตามแต่จริตจิตใจของสรรพสัตว์” คือเขาเชื่อว่า พระพุทธองค์ท่านเห็นว่าสรรพสัตว์มีจริตต่างกัน จึงมีธรรมะหลายแบบแก่ผู้มีจริตและอุดมการณ์ต่างๆ

ชาวพุทธจึงควรเลียนแบบพระศาสดา คือมีใจเปิดกว้าง

แม้ผมจะคิดว่าตัวเป็นมหายานิกแต่ก็ไม่ใช่โฆษกของฝ่ายมหายาน ผมเป็นเพียงมิตรผู้หวังดีต่อศาสนิกและอศาสนิกถ้วนทั่ว จึงไม่ได้มุ่งโจมตีใคร เว้นแต่จะโจมตี “ทัศนคติ” หรือความคิดที่คับแคบเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่ผมทำอยู่ก็เพียงแค่ต้องการจะแก้ไขอคติซึ่งเรามีอย่างยาวนานต่อฝ่ายมหายานหรือความเชื่ออื่นๆ เท่านั้นเองครับ

ส่วนใครอ่านแล้วระคายตา ฟังแล้วระคายหูก็ต้องขออภัย ด้วยเหตุว่าในสันดานผมนั้นมีความชอบล้อเลียนเสียดสี ถ้าจะมีอารมณ์ขันก็มักร้ายกาจ แต่อันนั้นเป็นเพียงน้ำจิ้ม ขอโปรดมองไปยังเนื้อหาเถิด จะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย

 

วันนี้ผมอยากจะชวนคุยเรื่องพระสูตรมหายานกันต่อครับ ด้วยคำถามเดิมๆ ว่าอะไรคือพระสูตร แล้วโยงไปถึงเกณฑ์ในการพิจารณาคำสอนจากทัศนะฝ่ายมหายาน

ในคลาสวิมลเกียรติฯ วิจักขณ์ พานิช ได้ยกข้อพิจารณาจากอาจารย์จูดิธ ซิมเมอร์-บราวน์ (Judith Simmer-Brown) อาจารย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยนาโรปะและชัมบาลาว่า เราจะนิยาม “อะไรคือพระสูตรได้อย่างไร” (How do we define “What is the Sutra?”) โดยผ่านข้อชี้แนะเจ็ดข้อ

ข้อชี้แนะดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้เราพิจารณาว่าอะไรคือพระสูตรเท่านั้น แต่ยังอาจจะใช้ในการพิจารณาว่าอะไรเป็นคำสอนที่เหมาะจะปฏิบัติตามหรือไม่อีกด้วย

 

ข้อแรก ให้พิจารณาจากประสบการณ์ตรงของเราเอง หากพระสูตรหรือคำสอนเหล่านั้น ซึ่งได้กล่าวไว้ดีแล้ว มีผลต่อศักยภาพของเราที่จะนำไปสู่ประสบการณ์ตรงส่วนบุคคลต่อปัญญาญาณสูงสุด (It is well-spoken effective with ability to evoke your own personal direct experience of ultimate wisdom) ข้อนี้เน้นความเชื่อมั่นในศักยภาพของเราเองที่พิจารณาว่าคำสอนใดมีผลต่อ “ประสบการณ์ตรง” ของเราในทางธรรมะ

ข้อที่สอง เรามักติดกับดักเรื่อง คำสอน “แท้” หรือไม่ “แท้” (Authentic teaching vs Inauthentic teaching) หากมีใครสักคนบอกเราว่านี่เป็นคำสอนที่แท้ เรามักตะครุบเอาโดยทันที แต่หากมีคำสอนใดที่เราคิดว่าไม่แท้ เช่น มีคนมาบอกว่าพระสูตรมหายานเขียนขึ้นทีหลังพุทธกาล เรามักจะไม่ชายตาไปมองเอาเลย ทั้งๆ ที่พระสูตรเหล่านั้นอาจนำเราไปสู่ประสบการณ์ตรงทางธรรมะได้ ดังนั้น พึงระวังเรื่องนี้

สาม คำสอนควรจะแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์แห่งการตื่นรู้หรือภาวะตื่นรู้ (Expression of enlightenment – Enlightmented state of being) ภาวะนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษาธรรมะ ดังนั้นหากคำสอนช่วยหรือแสดงให้เราเห็นสภาวะเช่นนี้ ก็นับว่าใช้การได้

สี่ “ถ้อยคำไม่อาจพูดสัจธรรม” (Words never can speak the truth) ข้อนี้แสดงให้เราเห็นข้อจำกัดของภาษาว่าที่จริงมันเป็นเพียง “เครื่องมือ” เท่านั้น มันคือนิ้วที่ชี้ไปสู่ดวงจันทร์แต่ไม่ใช่ดวงจันทร์เอง เป็นเหมือนแพ หากเราถึงฝั่งแล้วก็ควรต้องปล่อยแพไว้ แต่บางคนกลับกอดแพและพยายามลากขึ้นฝั่งไปด้วย เราพึงมีท่าทีต่อคำสอนใดก็ตามเช่นนี้

ห้า พึงพิจารณาให้เห็นว่า “เหนือกว่าตัวถ้อยคำคือการรู้สึกได้ถึงความหมาย” (Beyond the words, these is sense of meaning) นั่นหมายความว่า เราไม่ควรหลงติดกับความถูกต้องของโครงสร้าง ความไพเราะทางภาษา ภาพลักษณ์เชิงกวีหรือเชิงวรรณกรรมเท่านั้น และไม่ควรเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งใดคือพระสูตรหรือคำสอนที่ดี แต่พึงพิจารณาถึงความหมายของมันอย่างถ่องแท้ด้วย

หก ประสบการณ์ตรงต่อคำสอน (Direct experience of teaching) คำสอนใดใช้การได้หรือไม่ได้ ข้อพิจารณาที่สำคัญอย่างยิ่งคือประสบการณ์ตรงที่มีต่อคำสอนนั้นๆ แม้ว่าเราจะมีครูอาจารย์หรือนักปราชญ์ แต่ท่านก็ไม่ใช่เรา คำสอนใดจะมีความหมายต่อเราก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ตรงจากคำสอนนั้น ไม่ใช่การที่ใครมาชี้นิ้วบอกเราว่าอะไรดีหรือไม่ การไว้วางใจในประสบการณ์ทางธรรมของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับข้อนี้

สุดท้าย พึงพิจารณาถ้อยคำที่ชี้ไปยังความหมายเชิงประสบการณ์ มิใช่เพียงความหมายในทางภาษา (words that point to experiential meaning, not just literal meaning) เรามิเพียงต้องพิจารณาความหมายในทางภาษาของพระสูตรหรือคำสอนเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้อยคำในคำสอนเหล่านั้นต่างชี้ไปยังความหมายในเชิงประสบการณ์ด้วยหรือไม่

 

ข้อพิจารณาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการศึกษาตัวบท คัมภีร์ทางศาสนาหรือคำสอนใด ความ “เปิดกว้าง” เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง คุณค่าของคัมภีร์หรือคำสอนเป็นเสมือนแผนที่หรืออุปกรณ์ เราต้องใช้มันเพื่อไปยังที่หมาย แต่ตัวมันเองไม่ใช่สถานที่นั้น

แม้คำสอนเหล่านี้จะมาจากอาจารย์ชาวตะวันตก แต่ที่จริงแล้วพุทธศาสนาดั้งเดิมก็มีข้อพิจารณาเหล่านี้เช่นกัน

ในพระบาลี เราคงคุ้นเคยกับ “กาลามสูตร” หรือข้อพิจารณาก่อนจะเชื่อสิ่งใดซึ่งน่าสนใจมาก

แต่ผมเห็นว่าเรากลับใช้กาลามสูตรอย่างไม่ซื่อตรง คือเอาไว้ไปบอกว่าใครว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ (ในทางโลก) นะเว้ย แล้วก็อาศัยพระสูตรนี้ยกย่องว่า ดูสิ พุทธศาสนาช่างมีเหตุมีผลและใจกว้างแค่ไหน

แต่กลับไม่ค่อยเห็นใครใช้คำสอนเพื่อตั้งข้อสงสัยกับสำนักตัวเอง คำสอนของครูบาอาจารย์ตัวเอง หรือความเชื่อของตัวเอง จะเพราะเกรงกลัวอำนาจมากกว่าธรรมหรือใช้คำสอนอย่างฉ้อฉลจนชินก็ไม่ทราบ

ผมเห็นว่ากาลามสูตรมิใช่ข้อพิจารณาว่าเราควรเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรในทางเหตุผลเท่านั้น ผมคิดว่าเราไปขับเน้นด้านนี้มากเกินไป แต่ที่จริงยังเป็นการตั้งคำถามต่อ “อำนาจชี้นำ” ในทางความเชื่อด้วย

ดูข้อนี้สิครับ “มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเคารพนับถือว่าคนพูดเป็นสมณะ เป็นครูของเรา เป็นศาสดาของเรา” ดังนั้น แม้อ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธะเราก็ตั้งคำถามได้ ไม่ผิด ไม่บาป

แม้แต่คัมภีร์ก็ต้องตั้งคำถามนะครับ

“มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือมีในคัมภีร์” แต่มิตินี้กลับไม่ค่อยเอามาพูดกัน หรือเพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมพุทธบ้านเราทำให้กาลามสูตรไม่ค่อยสำคัญและถูกเก็บเอาไว้โจมตี “ความงมงาย” นอกพุทธศาสนา มากกว่าจะใช้ตรวจทานคำสอนภายในกันเอง

ถ้าอะไรที่ดีจริงต้องไม่กลัวการทดสอบ ตั้งคำถามหรือตีความนะครับ อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเลย แต่เรามักกลัวกันมากไป ในขณะเดียวกันเราก็ถูกสอนให้พึ่งพิงคนอื่นตลอด โดยเฉพาะคนที่เราคิดว่าสูงส่งกว่า ครู-อาจารย์ ศาสดา ปราชญ์ นักวิชาการ พระ ทั้งๆ ที่เราทุกคนมีสติปัญญาและมีศักยภาพที่จะเข้าใจและมีประสบการณ์ตรงต่อธรรมะ

ดังนั้น อะไรจะเป็นพระสูตร คำสอนใดใช้การได้ เราสามารถพิจารณาโดยใช้สติปัญญาของเราเองครับ แล้วก็สามารถถกเถียงพูดคุยทำความเข้าใจกันเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีใครสักคนหรือสักองค์กรมีอำนาจมาชี้นิ้วบอกว่าสิ่งไหนถูกหรือไม่ถูก อันนั้นมันพ้นสมัยไปแล้ว

 

ผมขอจบด้วยพระสูตรหนึ่งในฝ่ายมหายานชื่อ “จัตวาริปรติศรณะสูตร” หรือพระสูตรว่าด้วย “สิ่งที่พึงเชื่อถืออย่างยิ่งสี่ประการ” (Four Reliances Sutra) ซึ่งเป็นเหมือนข้อสรุปเนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้

สิ่งที่พึงเชื่อถืออย่างยิ่งสี่ประการ กล่าวคือ (จตฺวาริ ปฺรติศรณานิ, ตทฺยถา)

“ความหมาย” เป็นสิ่งพึงเชื่อถือ มิใช่ “ตัวอักษร” (อรฺถปฺรติศรณตา น วฺยญฺชนปฺรติศรณตา)

“ปัญญาญาณ” เป็นสิ่งพึงเชื่อถือ มิใช่ “ความฉลาดรู้คิด” (ชฺญาณปฺรติศรณตา น วิชฺญาปฺรติศรณตา)

“ความหมายที่ชัดแจ้ง” เป็นสิ่งพึงเชื่อถือ มิใช่ “ความหมายชั่วคราว” หรือ “คลุมเครือ” (นีตารฺถปฺรติศรณตา น เนยารฺถปฺรติศรณตา)

“ธรรม” หรือ “คำสอน” เป็นสิ่งพึงเชื่อถือ มิใช่ “ตัวบุคคล” (ธรฺมปฺรติศรณตา น ปุทฺคลปฺรติศรณตา)

ดังนี้แล