เกษียร เตชะพีระ : เสมือนจากลานโพธิ์ถึงภูพาน

เกษียร เตชะพีระ

อ่านไปให้หายแปลก (จบ) : เสมือนจากลานโพธิ์ถึงภูพาน

โครงสร้างความรู้สึกหรือประสบการณ์ (structures of feeling/experience) ของ จอห์น ล็อก บิดาแห่งลัทธิเสรีนิยมระหว่างหลบหนีลี้ราชภัยจากอังกฤษไปอยู่ฮอลแลนด์นาน 6 ปีกระทั่งการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ปรากฏเป็นจริงขึ้นในอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1688 คงประมาณใกล้เคียงกับบทกลอน/เนื้อเพลงของ คุณวัฒน์ วรรลยางกูร ที่คน 6 ตุลาฯ 2519 รุ่นผมรู้จักดีและร้องเป็นกันทุกคนว่า :

…ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่

วันกองทัพประชาชนประกาศชัย จะกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์

ค่าที่ประสบการณ์การเมืองของอังกฤษสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้นโดยเฉพาะเขตอีสต์เอ็นของกรุงลอนดอนได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญและแหล่งพำนักตั้งหลักแหล่งใหม่ของบรรดาผู้อพยพลี้ภัยทางศาสนาที่เรียกว่าพวกฮิวเกอโนตส์ (Huguenots) ซึ่งเป็นชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่ผ่านการปฏิรูปศาสนาและลี้ภัยการไล่ล่าเล่นงานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คาทอลิกของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่มาจากฝรั่งเศส

จนกระทั่งศัพท์ภาษาอังกฤษที่คุ้นหูเราทุกวันนี้ว่า “refugee” หรือ “ผู้ลี้ภัย” ก็ถือกำเนิดขึ้นในสมัยนั้นจากศัพท์ฝรั่งเศสว่า “r?fugi?” นี่เอง

ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมืองย้อนศรจากอังกฤษ จอห์น ล็อก หนีไปอาศัยอยู่ที่ฮอลแลนด์/เนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ.1683-1689 ซึ่งในยุคนั้นฮอลแลนด์ปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์

เขาติดต่อสัมพันธ์เคลื่อนไหวกับพวกลี้ภัยการเมืองชาวอังกฤษด้วยกันหลายคน โดยเฉพาะ โธมัส แดร์ ผู้เป็นนายทุนหนุนหลังกบฏมอนเมาต์ที่ยกกำลังไปบุกอังกฤษในปี ค.ศ.1685

การเคลื่อนไหวของล็อกทำให้เขาติดบัญชีรายชื่อผู้ลี้ภัยการเมืองที่ทางการเนเธอร์แลนด์เตรียมกวาดจับด้วย

ล็อกจึงหลบลงใต้ดินในเนเธอร์แลนด์ ใช้ชื่อปลอมที่ดูออกได้ไม่ยากนักหลายชื่อ แอบพำนักอยู่ในที่ต่างๆ หลายแห่งจนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1685 ล็อกใช้เวลาหลังจากนั้นอาศัยอยู่ตามบ้านพ่อค้าอังกฤษที่เมืองรอตเตอร์ดัมบ้าง เมืองอัมสเตอร์ดัมบ้าง อ่านค้นเขียนงานเชิงปรัชญา

กว่าเขาจะได้กลับอังกฤษก็ภายหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ปี ค.ศ.1688 แล้ว

ระหว่างล็อกไม่อยู่ในอังกฤษ ในฐานะฝ่ายค้านราชบัลลังก์ผู้ลี้ภัยไปต่างประเทศ เขาจึงตกเป็นเป้าการเล่นงานเอาผิดแม้เจ้าตัวจะไม่อยู่แล้วก็ตาม กล่าวคือ ในปี ค.ศ.1683 ฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดอันเป็นสถานศึกษาที่เขาเรียนจบปริญญาโทและได้ทำงานอยู่ที่นั่นต่อมา ก็ได้สั่งเผาข้อเขียนของล็อกให้สิ้นซากจากหอสมุดของมหาวิทยาลัย

และในปีถัดมา ค.ศ.1684 พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองก็มีพระบรมราชโองการขับไล่ล็อกออกจากสถานภาพนักศึกษาตลอดชีพ (studentship) ที่วิทยาลัยไครสต์ เชิร์ช มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดด้วย

เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองสวรรคตในปี ค.ศ.1685 ดยุคแห่งยอร์กพระอนุชาผู้ถือนิกายคาทอลิกก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อเป็นพระเจ้าเจมส์ที่สองแห่งอังกฤษดังที่พรรควิกฝ่ายเสรีนิยมคาดการณ์ด้วยความหวั่นเกรงไว้ ขบวนการต่อต้านแนวโน้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์คาทอลิกในรัชกาลใหม่ทั้งในและนอกอังกฤษจึงเริ่มเข้มข้นจริงจังขึ้น

ปีเดียวกันนั้นเอง ลอร์ดมอนเมาต์ (โอรสนอกสมรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง) ได้ก่อกบฏโดยยกกำลังจากเนเธอร์แลนด์บุกเข้าอังกฤษ ขณะเดียวกัน อาร์กายล์ก็ก่อกบฏขึ้นในสกอตแลนด์ด้วย อย่างไรก็ตาม กองกำลังกบฏทั้งสองล้วนถูกรัฐบาลอังกฤษของพระเจ้าเจมส์ที่สองปราบปรามลง

ในช่วงสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงล่อแหลมนั้นเอง รัฐสภาอังกฤษได้ลอบยื่นข้อเสนอที่จะถวายราชบัลลังก์อังกฤษแด่เจ้าชายวิลเลียมแห่งโอเรนจ์ผู้ปกครองฮอลแลนด์และทรงมีศักดิ์เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าเจมส์ที่สองด้วยอีกโสดหนึ่ง โดยเจ้าชายวิลเลียมได้อภิเษกสมรสกับพระนางแมรี ราชธิดาที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ของพระเจ้าเจมส์ที่สอง

ปรากฏว่าทั้งสองพระองค์ทรงรับข้อเสนอนั้น

ปลายปี ค.ศ.1688 เจ้าชายวิลเลียมแห่งโอเรนจ์จึงทรงยกกำลังทางเรือจากเนเธอร์แลนด์บุกเข้าอังกฤษ ก่อการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์เป็นผลสำเร็จ พระเจ้าเจมส์ที่สองพระสสุระ (พ่อตา) เสด็จหนีไปฝรั่งเศส รัฐสภาอังกฤษจึงประกาศว่าราชบัลลังก์ว่างลงและขออัญเชิญเจ้าชายวิลเลียมและพระนางแมรีขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่สามและพระราชินีแห่งอังกฤษ, สกอตแลนด์และไอร์แลนด์สืบไป

โดยผ่านการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์โดยไม่ต้องหลั่งเลือดนี้ รัฐสภาอังกฤษจึงยุติการปกครองโดยหลักเทวสิทธิ์ (divine right) ลงและยืนยันว่ารัฐสภามีอำนาจเหนือกษัตริย์ (parliamentary supremacy or sovereignty) หลังจากนั้น รัฐสภาก็ได้ผ่านกฎหมายหลักสองฉบับเพื่อสืบสานสถาปนาการปกครองในระบบรัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยมดังนี้ :

– บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐาน (Bill of Rights) ซึ่งกำหนดว่า

1. กษัตริย์จักไม่ทรงระงับกฎหมาย เก็บภาษีหรือธำรงรักษากองทัพไว้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

2. กษัตริย์จักไม่ทรงแทรกแซงการเลือกตั้งและการอภิปรายของรัฐสภา

3. รัฐสภาต้องได้ประชุมกันบ่อยครั้ง

4. กษัตริย์จักทรงนับถือนิกายแองกลิคัน

5. อาณาราษฎรได้หลักประกันเรื่องเสรีภาพพลเมืองพื้นฐาน, สิทธิยื่นฎีกาต่อรัฐบาล, สิทธิได้รับการไต่สวนพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว และได้การคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากการเรียกเก็บค่าประกันตัวและค่าปรับสูงเกินเหตุ รวมทั้งจากการลงโทษที่โหดร้ายและผิดปกติวิสัยทั้งหลาย

– พระราชบัญญัติว่าด้วยความอดกลั้น (Toleration Act) ซึ่งค้ำประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนาให้แก่นิกายโปรเตสแตนต์ต่างๆ ที่ไม่ใช่แองกลิคัน

ท้ายที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1689 จอห์น ล็อก ก็ตามเสด็จพระราชินีแมรีจากฮอลแลนด์กลับอังกฤษโดยปลอดภัย เขาถูกทาบทามให้เป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงแบรนเดนบูร์ก ในเยอรมนีแทบจะทันที แต่เขาปฏิเสธเพราะสุขภาพไม่ดีและการเป็นทูตต้องดื่มเหล้าหนักซึ่งเขาเลิกเหล้าแล้ว อย่างไรก็ตาม เขายอมรับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการอุทธรณ์ซึ่งหน้าที่ไม่มากมายนักและได้รับเบี้ยหวัด 200 ปอนด์/ปี

ปีถัดมา ค.ศ.1690 ล็อกก็ตีพิมพ์งานปรัชญาการเมืองเสรีนิยมชิ้นเอกของเขาเรื่อง “ศาสตร์นิพนธ์แห่งการปกครองสองบรรพ” (Two Treatises of Government) โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แต่ง

งานที่สอดคล้องรองรับการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์อย่างทันกาลเล่มนี้ได้พิมพ์ซ้ำอีก 2 ครั้งในปี ค.ศ.1694 และ 1698 ถึงแม้จะไม่ยอมรับว่าตนเขียน แต่ในปี ค.ศ.1703 ล็อกก็ได้เขียนจดหมายแนะนำหลานว่า “ศาสตร์นิพนธ์แห่งการปกครองสองบรรพ” นี้เป็นงานดีที่สุดในเรื่องทรัพย์สิน (property)

ค.ศ.1691 ล็อกเข้าอยู่อาศัยถาวร ณ ที่พำนักในกรุงลอนดอนชื่อ “โอ๊ต” ของเซอร์ฟรานซิสและเลดี้มาแชมเพื่อนหญิงเยาว์วัยผู้ปลาบปลื้มตัวเขาทางภูมิปัญญา เขาหันมาสนใจงานด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินตามสถานการณ์บ้านเมืองและตำแหน่งหน้าที่ราชการสำคัญต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายด้วยความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าวิลเลียมที่สาม

เดือนมกราคม ค.ศ.1698 ระหว่างอากาศหนาวจัดเป็นพิเศษ พระเจ้าวิลเลียมที่สามมีพระบรมราชโองการเรียกตัวล็อกไปเข้าเฝ้าที่พระราชวังเคนซิงตัน หลังการเข้าเฝ้า ล็อกบ่นว่าการเดินทางฝ่าความหนาวเที่ยวนั้นแทบจะทำเอาเขาสิ้นชีวิต เลดี้มาแชมเล่าต่อมาว่าสุขภาพของล็อกไม่เคยฟื้นฟูได้สมบูรณ์เต็มที่อีกเลยนับแต่นั้นมา

ล็อกอยู่อย่างค่อนข้างเงียบสงบในสี่ปีสุดท้ายบั้นปลายชีวิต สุขภาพของเขาไม่ดี ป่วยเป็นโรคหอบหืดเนื่องจากควันสกปรกในกรุงลอนดอนและอากาศหนาว อาการของเขาทรุดลงตามลำดับจนต้องเลิกขี่ม้าออกกำลัง เลิกขึ้นรถม้า สุดท้ายก็ต้องให้คนอุ้มออกไปนั่งตากแดดในสวนหน้าใบไม้ร่วง

ล็อกทำพินัยกรรมไว้โดยยอมรับเป็นทางการครั้งแรกว่าตัวเองเป็นผู้เขียน “ศาสตร์นิพนธ์แห่งการปกครองสองบรรพ” ปรากฏว่าขาของเขาบวม ลุกเดินไม่ไหว ต้องให้คนช่วยแต่งตัวใส่เสื้อผ้าแล้วอุ้มไปนั่งในห้องหนังสือ

ระหว่างเขานิ่งฟังเลดี้มาแชมอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลให้ฟังตอนบ่าย 3 โมงของวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1704 นั่นเอง

ล็อกก็ยกมือทั้งสองข้างขึ้นวางบนใบหน้า หลับตาและสิ้นลมลงในที่สุด

ย้อนอ่านไปให้หายแปลก 1   2   3