เกษียร เตชะพีระ : ย้อนรอยประวัติบิดาเสรีนิยมอังกฤษ John Locke

เกษียร เตชะพีระ

ท่ามกลางข่าวคราวแปลกพิกลในบ้านเมืองช่วงที่ผ่านมา…

มันชวนให้หวนคิดถึงข้อสังเกตประการหนึ่งของอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศผู้เพิ่งครบรอบวันเกิด 76 ปีแห่งความเป็น “ปัญญาสามัญชน-ครูของคนประชาธิปไตย” ตามคำเรียกขานของลูกศิษย์ลูกหาไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมศกนี้

ท่านเคยรำพึงให้ได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งในระยะหลายปีหลังในทำนองว่า :

“อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว”

นึกถึงบรรดาข่าวแปลกแต่จริงที่เพิ่งเกิดขึ้นแล้ว มันก็จริงอย่างว่าด้วยครับอาจารย์!

เผอิญไม่กี่วันก่อนระหว่างเตรียมสอน ผมมีโอกาสรื้อเอาประวัติของ จอห์น ล็อก (John Locke, ค.ศ.1632-1704) นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเสรีนิยมมาอ่านค้นใหม่ และสังเกตเห็นข้อมูลร่องรอยต่างๆ ในอดีตซึ่งน่าทึ่งน่าคิดจนรู้สึกว่าอะไรต่อมิอะไรที่กำลังพบเจอเอาเข้าจริงก็ใช่ว่ามันจะ “แปลก” ไปหมดเสียทีเดียว

ผมขอถือโอกาสเล่าสู่กันฟังนะครับ

ก่อนอื่นในฐานะลูกศิษย์ประวัติศาสตร์ของอาจารย์ชาญวิทย์ ก็ต้องจัดวางอีตาล็อกลงไปในบริบททางประวัติศาสตร์ของอังกฤษตอนนั้นเสียก่อน

จอห์น ล็อก เกิดและเติบใหญ่ท่ามกลางสงครามและการปฏิวัติของอังกฤษสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17-อันอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติกระฎุมพีครั้งที่สองในประวัติศาสตร์โลกถัดจากการกบฏของชาวดัตช์ (the Dutch Revolt) ต่ออำนาจกษัตริย์คาทอลิกสเปนระหว่าง ค.ศ.1566-1648

กระบวนการปฏิวัติอังกฤษมี 2 ช่วงเหตุการณ์ใหญ่ด้วยกัน กล่าวคือ การปฏิวัติอังกฤษ/การปฏิวัติพิวริแตน (the English Revolution/the Puritan Revolution, ค.ศ.1640-1660) และการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution, ค.ศ.1688) :

1) การปฏิวัติอังกฤษ ประกอบไปด้วย [สงครามกลางเมืองหลายระลอก + การปกครองในระบอบจักรภพ] หรือ [Civil Wars + the Commonwealth] ระหว่าง ค.ศ.1640-1660 แรกทีเดียวมันเป็นสงครามกลางเมืองอันดุเดือดนองเลือดวินาศสันตะโรระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์ภายใต้พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง (ที่เรียกว่าฝ่าย Royalists/Cavaliers) กับฝ่ายรัฐสภาของพวกขุนนางเจ้าที่ดิน (ฝ่าย Parliamentarians/Roundheads) ซึ่งลงเอยโดยฝ่ายหลังชนะและพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งถูกสำเร็จโทษบั่นพระเศียรในปี ค.ศ.1649

นำไปสู่การปกครองในระบบจักรภพ (หรือนัยหนึ่งสาธารณรัฐในทางปฏิบัติ) นานราวสิบปีที่ผู้นำทหารคนสำคัญของฝ่ายรัฐสภาคือ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ขึ้นกุมอำนาจเผด็จการโดยไม่ยอมปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่แต่อย่างใด

หลังครอมเวลล์สิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1658 ระบบจักรภพก็สลายตัวลงตามในปีถัดมา และนำไปสู่การฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยขึ้นใหม่ภายใต้พระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง (โอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง) ในปี ค.ศ.1660

ในช่วงการปฏิวัติอังกฤษ บิดาของล็อกซึ่งเป็นผู้ดีระดับล่าง พอมีที่ดินและบ้านบางหลังให้เช่า เป็นทนายรับว่าความและทำงานบริหารในองค์การปกครองท้องถิ่นของซอเมอร์เซ็ต ได้เลือกเข้าข้างฝ่ายรัฐสภาและร่วมรบเป็นนายร้อยสังกัดกรมทหารม้าในสงครามกลางเมือง

เมื่อสงครามสิ้นสุด เขาก็อาศัยเส้นสายกับอดีตผู้บังคับบัญชาวิ่งเต้นผลักดันจนส่งลูกคือ จอห์น ล็อก ให้ได้ทุนการศึกษาเข้าเรียนที่โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ซึ่งถือว่าดีที่สุดในอังกฤษสมัยนั้น

ส่งผลให้เมื่อเรียนจบ จอห์น ล็อก ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยไครสต์ เชิร์ชแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดในฐานะนักเรียนทุนตลอดชีพ (studentship) ในเวลาต่อมา

ทว่า การปกครองเผด็จการในระบบจักรภพภายใต้ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ กลับไม่เป็นที่ปลาบปลื้มประทับใจของล็อก

เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองเสด็จกลับอังกฤษและคืนสู่บัลลังก์ ล็อกได้เขียนความเรียงต้อนรับสนับสนุนการฟื้นระบอบราชาธิปไตยและก่อตั้งการปกครองแบบอำนาจนิยมเชิงอนุรักษนิยม (conservative authoritarianism) ทั้งในทางอาณาจักรและศาสนจักร

จนกล่าวได้ว่าตอนนั้นเขากลายเป็น a political Hobbist หรือผู้นิยมแนวคิดทางการเมืองแบบของ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ.1588-1679) นักปรัชญาการเมืองอังกฤษรุ่นพ่อผู้สนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutism) ทีเดียว

เมื่อฟื้นฟูพระราชอำนาจอาญาสิทธิ์แล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองทรงมีพระบรมราชโองการให้ขุดศพของ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ขึ้นมาจากที่ฝังในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ทำการดองศพเสีย แล้วตัดกะโหลกศีรษะออกมาเสียบหอกเหล็กประจานกลางถนนไวต์ฮอลล์ ในฐานที่มีส่วนร่วมปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งผู้เป็นพระราชบิดา

ว่ากันว่าหัวกะโหลกของครอมเวลล์นั้นถูกลมแรงพัดหล่นกลิ้งลงกับพื้นแล้วทหารนายหนึ่งก็เข้าฟาดตีมันจนกระเด็นไปในสภาพที่หนอนรุมแทะกัดกิน

ท้ายที่สุด 300 ปีให้หลังใน ค.ศ.1960 หัวกะโหลกของ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ก็ได้รับการกลบฝังอย่างลับๆ ณ โรงสวดมนต์ของวิทยาลัยซิดนีย์ ซัสเส็ก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ซึ่งครอมเวลล์เคยศึกษาอยู่ช่วงสั้นๆ เมื่อครั้งมีชีวิต

นอกจากเคยมีท่าทีการเมืองแบบฮอบบิสต์ (อำนาจนิยมเชิงอนุรักษนิยม) ที่ไม่เห็นจะเสรีนิยมตรงไหนแล้ว หลัง จอห์น ล็อก เรียนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เขาก็ได้มีโอกาสเข้าฝากเนื้อฝากตัวอาศัยอยู่ภายใต้การชุบเลี้ยงอุปถัมภ์ของครอบครัวขุนนางใหญ่ตระกูลแอชลีย์ที่กรุงลอนดอนในฐานะแพทย์ส่วนตัวและผู้ช่วยทั่วไปของลอร์ดชาฟต์สเบอรี่ ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีคลังสมัยนั้นเมื่อ ค.ศ.1667-1668 โดยได้เบี้ยหวัดจากท่านลอร์ดเป็นค่าตอบแทนปีละ 80 ปอนด์

ปี ค.ศ.1669-1670 เขาถูกลอร์ดชาฟต์สเบอรี่ดึงตัวไปช่วยงานก่อตั้งอาณานิคมใหม่ของอังกฤษที่แคโรไลนาในอเมริกา โดยให้ล็อกช่วยร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญพื้นฐานแห่งแคโรไลนา (น่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก) ภายใต้การชี้นำของท่านลอร์ด

ปรากฏว่าล็อกได้เสนอไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้คงระบบศักดินา (feudalism) ไว้ในแคโรไลนา โดยมีลักษณะเป็นระบบไพร่แบบสืบสายเลือดด้วย (hereditary serfdom ในทำนองลูกไพร่)

ปีถัดมา (ค.ศ.1671) ล็อกร่วมกับท่านลอร์ดชาฟต์สเบอรี่และสมัครพรรคพวกพากันไปซื้อหุ้นในบริษัท Royal Africa Company ซึ่งจดหนังสือบริคณห์สนธิโดยราชสำนักเพื่อดำเนินการค้าทาสให้อังกฤษ

สี่ปีต่อมา ล็อกขายหุ้นดังกล่าวไปและได้กำไรมาตามสมควร

สรุปก็คือก่อนจะกลายร่างมาเป็น “บิดาแห่งเสรีนิยม” จอห์น ล็อก เคยสมาทานระบบอำนาจนิยมเชิงอนุรักษนิยม, ระบบศักดินา, ระบบไพร่-ลูกไพร่, กระทั่งเป็นนักลงทุนค้าทาสด้วย!

แน่นอนส่วนหนึ่งย่อมเป็นด้วยบริบทการเมืองและเศรษฐกิจสังคมอังกฤษสมัยนั้น แต่อีกส่วนหนึ่งมันก็เป็นข้อเตือนใจว่าเหมือนกับปัญญาชนทั่วไปและเหมือนกันทุกยุคทุกสมัย ไม่มีใครเป็นนักเสรีนิยม/ประชาธิปไตยแต่แรกเกิดหรือคงเส้นคงวาตลอดชีวิต

ความคิดอ่านทางการเมืองของคนเราเป็นผลสะท้อนจากบริบทที่แวดล้อมและประสบการณ์ที่พบเจอ เมื่อบริบทพลิกเปลี่ยน ประสบการณ์ผันแปร ความคิดก็ย่อมปรับแปลงตามไปด้วยเป็นธรรมดา

อังกฤษสามร้อยห้าสิบกว่าปีก่อนฉันใด สยามในปัจจุบันก็ฉันนั้น… ปรากฏการณ์ทฤษฎีมะม่วงหล่นเน่าคาโคนต้นโดนหนอนชอนไชจึงใช่ว่าจะแปลกใหม่ไปเสียทีเดียว

กว่า จอห์น ล็อก จะกลายมาเป็นบิดาแห่งเสรีนิยม เจ้าของงานเขียน “ศาสตร์นิพนธ์สองบรรพว่าด้วยการปกครอง” (Two Treatises of Government, ค.ศ.1690) อันเป็นคัมภีร์คลาสสิคของรัฐเสรีนิยมอันลือลั่น ก็ในคราวการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution) ของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1688 นั่นเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)