คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : 111 ปีพุทธทาสภิกขุ : พระบ้านนอกผู้มีหัวใจเปิดกว้าง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สมัยผมเป็นเด็กและท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่นั้น พ่อแม่เคยพาไปเที่ยวสวนโมกขพลารามที่สุราษฎร์ธานี แต่ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ค่อยจะสนใจอะไร ไปหลายครั้งก็ไม่เคยเจอท่าน

ท่านอาพาธบ้าง ท่านไม่อยู่บ้าง ไปครั้งที่สามท่านก็มรณภาพแล้ว

จำได้แต่เพียงว่าหน้าสวนโมกข์มีไข่เค็มไชยามาขายหลายร้าน ตั้งติดๆ กันจนไม่รู้จะเลือกร้านไหน

เคยถามอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งเป็นคนสุราษฎร์ฯ โดยกำเนิดว่าทำไมไข่เค็มไชยาถึงดังนัก แต่ทำไมมีแต่ไข่ ไม่ยักกะเห็นเป็ด

อาจารย์ตอบว่า ที่ไข่เค็มไชยาดังเพราะแต่ก่อนชาวบ้านเลี้ยงเป็ดริมทะเลแบบปล่อยๆ เป็ดมันก็หาหอยหาปูกินเองตามริมทะเล ทำให้ได้รับสารอาหาร ไข่เป็ดไชยาจึงมันเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันโดยมากเขารับไข่เป็ดมาจากที่อื่น มันถึงมีแต่ไข่ไม่มีตัวเป็ด

ที่จริงเวลาพูดถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีผมไม่ได้นึกถึงแต่ไข่เค็มนะครับ สุราษฎร์ฯ นี่เป็นแผ่นดินดีทางศาสนาและวัฒนธรรมมากๆ พระวิษณุและเทวรูปงามๆ ก็พบที่สุราษฎร์ฯ วัฒนธรรมพราหมณ์ทางสุราษฎร์ฯ ก็ดี ผีก็เข้มแข็งอย่างตระกูลโนราและครูหมอต่างๆ พุทธศาสนาก็ตั้งมั่นสง่างาม

พระภิกษุที่คนระนองบ้านผมเคารพนับถือที่สุดอย่างหลวงพ่อบรรณ พุทธสโร (พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ เจ้าคณะจังหวัดรูปแรก) นั้น ท่านก็ธุดงค์มาจากไชยา คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า แต่เดิมในระนองเป็นจีนซะมาก ไม่รู้จักนับถือพุทธศาสนา คณะสงฆ์จึงให้หลวงพ่อบรรณมาเพื่อมาเผยแผ่พระธรรมคำสอนและช่วยเหลือชาวบ้าน

แสดงว่าไชยาเป็นแหล่งสำคัญของพุทธศาสนาในภาคใต้ตอนบนที่สืบเนื่องยาวนาน จนท่านพุทธทาสที่เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขไชยาทั้งทางกายและทางธรรมมาสร้างสวนโมกข์และทำให้ไชยาบันลือเภรีธรรมอีกครั้ง

 

ผมมาเริ่มอ่านงานท่านพุทธทาสบ้างก็ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ชอบใจงานประเภทหนึ่งของท่านคือพวกบทกลอน

ครั้นเรียนปริญญาโท ท่านอาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ ก็นำท่านพุทธทาสมาสู่วงเรียนทางปรัชญาของพวกเรา เราจึงได้ลองวิเคราะห์ วิพากษ์คำสอนท่านพุทธทาสจากหลากหลายแง่มุมยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ การเรียนปรัชญาทำให้เราคลายความเกร็งลง เพราะโดยธรรมชาติของวิชานี้เราย่อมมีสิทธิวิเคราะห์วิพากษ์งานของปราชญ์หรือพระเถระที่คนนับถือได้อย่างเต็มที่ โดยท่าทีให้เกียรติ

เมื่อจบการศึกษา ผมกลายเป็นคนหนึ่งที่ “ไม่อิน” กับงานของท่านพุทธทาส โดยเฉพาะเมื่อท่านพุทธทาสได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาแบบปัญญาชนและคนชั้นกลาง ซึ่งใช้คำสอนและวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนาประดับประดาตนเองราวกับสร้อยและกำไล

และยิ่งเมื่อมีการอ้างถึง “ธรรมิกสังคมนิยม” “เผด็จการโดยธรรม” ฯลฯ ของท่านพุทธทาสไปใช้เพื่อตอบสนองแนวเคลื่อนไหวทางการเมืองของตัวเอง ยิ่งทำให้ผมรู้สึกอินกับท่านพุทธทาสน้อยลงไปอีก

ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของท่านพุทธทาสเลย (ฮา)

 

27 พฤษภาคม ปี 2560 นี้ เป็นโอกาสชาตกาลครบ 111 ปีของท่านพุทธทาส หลายหน่วยงานได้จัดกิจกรรมรำลึกขึ้น ผมจึงนึกอยากจะมีส่วนร่วมรำลึกเล็กๆ ในบทความนี้

สำหรับคนอื่นๆ มรดกของท่านพุทธทาสคือคำสอน แต่สำหรับผมกลับเห็นว่า มรดกของพุทธทาสที่สำคัญคือ “ท่าที” ซึ่งเรามักจะหลงลืมสิ่งนี้ของท่านไป

ภิกษุจากบ้านนอกที่อกหักจากการมาสอบเปรียญธรรมในกรุงเทพฯ เดินทางกลับบ้านนอกพร้อมความมุ่งมั่นที่จะทดลองใช้ชีวิตอย่างที่พระควรจะเป็น

และความพยายามไม่หยุดยั้งที่จะ “ขุดเพชร” จากพระไตรปิฎก ในภาวการณ์ที่พระศาสนาขาดคนพูดถึงโลกุตรธรรม

“พระบ้า” ในสายตาชาวบ้านเวลานั้นไม่เพียงหยุดยั้งอยู่ที่พุทธศาสนาเถรวาท แต่กว้างไกลไปถึงฝ่ายมหายาน เซน และศาสนธรรมของศาสนาอื่นๆ

ทั้งยังไม่ลืมภูมิธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นตัวเอง โดยตีความให้สมสมัยเพื่อที่จะสื่อสารกับคนอื่นๆ ในสังคม

 

นี่คือความเปิดกว้างที่น่าสนใจยิ่ง ความเปิดกว้างอย่างที่ว่านี้ มิใช่เพียงการเข้าไปศึกษาคนอื่นโดยถือว่าคำสอนของตนดีที่สุดอย่างที่มักจะเป็นกัน (แม้ท่านจะมีท่าทีตัดสินอยู่บ้างตามข้อมูลที่มีในยุคสมัยนั้น) แต่ท่านเข้าไปด้วยความอยากเรียนรู้ดุจเด็กๆ ด้วยท่าทีเคารพยกย่องผู้อื่นอย่างจริงใจและพร้อมจะยอมรับ

โรงมหรสพทางจิตวิญญาณ และการแปลงานพุทธธรรมฝ่ายเซนของท่านคือตัวอย่างของความเปิดกว้างเช่นนี้อย่างเป็นรูปธรรม

เท่าที่ผมจำได้ ท่านน่าจะเป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาทในไทยที่มีนักบวชในนิกายอื่นๆ และต่างศาสนาอยากพบปะพูดคุยด้วยมากที่สุด

“สุญญตา” คือยอดของเพชรของพุทธศาสนาจากบรรดาเพชรทั้งมวลที่ท่านขุดเจอ โดย “ภาษาคน-ภาษาธรรม” เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังของท่าน

สุญญตาที่ท่านขุดเจอและนำมาแสดงต่อผู้คนนั้น สำคัญถึงขนาดมีคนขนานนามท่านว่า ท่านคือพระอาจารย์นาคารชุนของฝ่ายเถรวาท

และองค์ทะไลลามะผู้เคยเสด็จมาพบท่านพุทธทาสถึงสวนโมกข์ ยังตรัสในภายหลังว่า ท่านเป็นพระสำคัญจริงๆ

 

การหมกมุ่นศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ทำให้ท่านกล้าบอกว่าอะไรเป็นสาระหรือไม่เป็นสาระในพระไตรปิฎก ซึ่งนั่นทำให้ท่านขัดแย้งกับสำนักมหาธาตุและครูอาจารย์ที่เน้นอภิธรรม เพราะท่านบอกว่าเอาทิ้งไปได้ ถึงกับบอกว่าตัดพระไตรปิฎกได้ถึง 30-60% เราก็ยังเข้าถึงโลกุตรธรรมได้

ที่ท่านกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพราะท่านไม่เคารพพระสัทธรรมนะครับ แต่เคารพอย่างยิ่งจึงกล้าวิเคราะห์ เลือกเฟ้นตีความ ท่านจะผิดจะถูกก็เป็นเรื่องที่เราต้องถกเถียง ซึ่งตัวท่านพุทธทาสเองก็ยินดีให้ถกเถียงมาโดยตลอดประวัติชีวิตของท่าน

ความไม่ยึดมั่นต่ออำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ จิตวิญญาณของการเป็นนักทดลองและหัวใจที่เปิดรับผู้อื่นเช่นนี้ เป็นมรดกของท่านพุทธทาสยิ่งกว่าอะไรอื่น

เป็นมรดกที่แทบจะหายไปแล้วในจิตวิญญาณพุทธศาสนาในบ้านเรา และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในห้วงนี้

 

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยคุยกับพวกเราว่า ที่อาจารย์ชอบอ่านงานของท่านพุทธทาส เพราะท่านเขียนจาก “ใจ” คือใช้ใจเขียนงานคำสอนออกมา

อันนี้ผมว่าสำคัญ เพราะในปัจจุบันน้อยนักที่จะมีพระภิกษุแสดงธรรมจากใจหรือประสบการณ์ตรงต่อการปฏิบัติของตน ซึ่งจะตรงไปสู่ใจของผู้ฟังหรืออ่าน แต่มักเน้นเล่นสำนวนโวหารเน้นลีลา ธรรมที่เป็นเรื่องใจจึงกลายเป็นเพียงการเล่นกลของสมอง

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านี้คือ เราต้องไม่ทำให้ท่านพุทธทาสศักดิ์สิทธิ์เกินไป ซึ่งไม่ตรงกับมุมมองที่ท่านมีต่อตัวเองแน่ๆ

ท่านพุทธทาสมีทั้งแง่มุมที่สำเร็จและล้มเหลว เราจึงต้องไม่ลืมเรียนรู้ความล้มเหลวนั้นด้วย ไม่ใช่สรรเสริญแต่ถ่ายเดียว

หลังจากยุคสมัยของท่านแล้ว สวนโมกข์โรยราและแทบไม่เหลืออะไรนอกจากที่เที่ยวเก่าๆ กล้องวงจรปิดและตู้บริจาค ซึ่งไม่มีในสมัยของท่านพุทธทาส

ทั้งยังกลายเป็นฐานที่ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยไม่ได้ตระหนักว่าที่จริงแล้วท่านพุทธทาสวัยหนุ่มเลือกกลับมาอยู่บ้านนอก ก็เพราะต้องการมีระยะห่างระหว่างการเมืองสงฆ์กับตัวท่านเองแท้ๆ

ท่านพยายามสร้างดินแดนเล็กๆ ปลอดอำนาจการเมืองสงฆ์ เป็นสถานที่แห่งอิสรภาพที่พระภิกษุจะได้ทดลองชีวิตของตนเพื่อจะไปสู่ความตื่นรู้ เฉกเช่นสมัยพุทธกาล

ท่านพุทธทาสย่อมมีทั้งสิ่งที่ผิดและถูก และผมมั่นใจมากๆ หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านย่อมอนุโมทนาที่เราจะเรียนรู้ทั้งถูกผิดจากท่าน ไม่ใช่การนอบน้อมสรรเสริญ

อย่าให้สวนโมกข์ต้องเหลือเพียงไข่เค็มไชยาซึ่งมีมาแต่สมัยของท่าน

ถ้าเราอยากให้มรดกของท่านพุทธทาสดำรงอยู่อย่างมีความหมาย เราก็ต้องทำให้ท่านพุทธทาสมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ เราควรสนทนาผ่านงานของท่าน โต้เถียงท่าน วิเคราะห์วิจารณ์ท่าน สวมเอาท่าทีแบบท่านที่เราเห็นว่าใช้การได้

เพื่อที่ “พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย”