เสฐียรพงษ์ วรรณปก : จิตวิญญาณของความเป็นครู แม้มีเหตุการณ์เช่นองคุลีมาล

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (8) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ 7

คุณสมบัติด้านกรุณานี้ ครูควรดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง

พระองค์ทรงทำหน้าที่ครูของชาวโลกได้สมบูรณ์

เพราะพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวโลกอย่างใหญ่หลวง

พระองค์ทรงมี “วิญญาณครู” อย่างแท้จริง

คิดดูง่ายๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน ไม่ว่าจะไกลแสนไกล เดินทางลำบากขนาดไหน ถ้าทรงเห็นว่าบุคคลที่ทรงมุ่งไปสอนนั้นจะรู้เรื่องที่ทรงสอน หรือได้บรรลุมรรคผล หรือจะ “รู้สำนึก” กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี พระองค์ก็ไม่ทรงย่อท้อ เสด็จไปสอนจนได้

แม้กระทั่งทรงพระประชวรหนัก ก็ไม่เว้นทำหน้าที่ครู ดังกรณีองคุลีมาล และกรณีสุภัททปริพาชก เป็นต้น

เอ่ยแล้วก็ต้องเล่า แม้ว่าท่านผู้อ่านจะรู้แล้วก็ตาม

คงมีบางคนสิน่าที่ยังไม่เคยฟังเรื่องนี้

องคุลีมาลนั้น เดิมทีชื่อ อหิงสกะ เป็นบุตรของปุโรหิตในพระราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี มิใช่ลูกมหาโจรอะไรที่ไหน

แต่ชะตาชีวิตหักเหกลายเป็นมหาโจรลือชื่อ ขนาดพระเจ้าแผ่นดินต้องสั่งยกกองทัพย่อยๆ ไปปราบ

จะว่าไปแล้วก็เพราะวิชาโหราศาสตร์หรือพยากรณ์ศาสตร์ของผู้เป็นพ่อด้วยนั่นแหละเป็นสาเหตุ

ทันทีที่ลูกเกิด พ่อซึ่งขณะนั้นอยู่ในพระราชสำนัก ทำนายว่าเด็กที่เกิดตามเวลานี้จะเป็นมหาโจร เพราะดาวโจรลอยเด่นกลางท้องฟ้า

พอกลับจากที่เฝ้า เดินทางกลับมาถึงบ้าน ได้รับข่าวว่าภรรยาสุดที่รักคลอดลูกชายพอดี จึงหวนกลับไปกราบทูลในหลวงว่า เด็กที่ว่านั้นคือบุตรชายข้าพระพุทธเจ้าเอง จะให้ฆ่าทิ้งไหม

พระราชาตรัสถามว่า มหาโจรที่ว่านี้เป็นโจรธรรมดา หรือโจรแย่งชิงราชสมบัติ

เขากราบทูลว่าโจรธรรมดา ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อราชสมบัติ

พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ช่างเถอะ เด็กน้อยก็รอดตัวไป

พ่อตั้งชื่อให้ว่า อหิงสกะ แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน อหิงสกะโตมาก็เป็นเด็กฉลาด เรียนหนังสือเก่ง เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย

พ่อส่งไปเรียนที่ตักศิลา ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยสมัยโน้น ถึงคราวเคราะห์ของอหิงสกะหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ไปได้อาจารย์ที่ไม่เป็น “กัลยาณมิตร” ชักชวนให้ไปฆ่าคน เอานิ้วมาแลกกับเคล็ดลับวิชาที่ไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร

(ที่อาจารย์หลอกศิษย์ให้ทำบาปถึงขั้นนี้ เพราะหลงเชื่อคำยุยงของศิษย์อื่นๆ ว่า อหิงสกะจะคิดล้างครู พวกที่ยุยงนั้นอิจฉาอหิงสกะเรียนเก่ง และเป็นคนโปรดของอาจารย์ กอปรกับอาจารย์ก็หูเบา ขนมผสมน้ำยา โบราณว่าอย่างนั้น)

ด้วยความอยากได้วิชา อหิงสกะเลยต้องออกไปฆ่าคนเอานิ้วมือ ใหม่ๆ คงลำบากน่าดู

แต่เมื่อฆ่าได้สองสามคนแล้วคงชินไปเอง

ไม่ช้าไม่นานก็มีข่าวลือให้แซดว่าเกิดมีมหาโจรพิสดารฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมือด้วย สร้างความหวาดหวั่นแก่ประชาชนทั่วไป

จนพระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องรับสั่งให้ยกกองทัพย่อยๆ ออกไปปราบ

แม่อหิงสกะรู้ว่าลูกชายกำลังตกอยู่ในอันตราย จึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังที่ลูกชายอยู่เพื่อแจ้งข่าว

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ถึงองคุลีมาลพบแม่ก็คงจำแม่ไม่ได้ เพราะจิตฟั่นเฟือนเสียแล้ว เกรงว่าองคุลีมาลจะถลำถึงขั้นทำ “มาตุฆาต” (ฆ่ามารดา) อันเป็นบาปหนัก จึงเสด็จไปดักหน้า สิ้นระยะทางไกลแสนไกล เพื่อโปรดองคุลีมาล

และในที่สุดก็โปรดเธอสำเร็จ เธอกลับเนื้อกลับตัวบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ และบรรลุพระอรหัตผลในที่สุด

นี้คือพระมหากรุณาธิคุณที่เด่นชัดเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่สองขณะทรงพระประชวรหนัก จวนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละทั้งคู่ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา

ปริพาชก (นักบวชนอกศาสนาพุทธ) คนหนึ่ง รีบร้อนเข้ามาเพื่อเฝ้า และทูลถามปัญหาข้อข้องใจของตน

พระอานนท์พุทธอุปฐาก เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงพระประชวรหนัก จึงไม่อนุญาตให้เขาเข้าเฝ้า

เสียงโต้ตอบกันได้ยินไปถึงพระพุทธองค์ผ่านม่านซึ่งกั้นอยู่

พระองค์รับสั่งให้เขาเข้าเฝ้า เขาได้กราบทูลถามข้อข้องใจของตน และได้รับวิสัชนาจนหายสงสัย จึงทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์

ธรรมเนียมมีอยู่ว่าคนที่เป็นเดียรถีย์ (หมายถึงคนนับถือศาสนาอื่น) มาขอบวชจะต้องให้อยู่ “ปริวาส” (อยู่ประพฤติปฏิบัติตนเพื่อทดสอบศรัทธา) ก่อนเป็นเวลา 4 เดือน จึงจะอนุญาตให้บวชได้

แต่กรณีของสุภัททะนี้ไม่มีเวลาเช่นนั้น เพราะพระพุทธองค์กำลังจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน จึงทรงประทานอนุญาตพิเศษให้เธอบวชในทันที

ด้วยเหตุนี้แหละสุภัททะจึงได้เป็นพระสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า

สาวกองค์สุดท้ายในที่นี้หมายถึง องค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เองนะครับ

ไม่ได้หมายถึงความว่าถัดจากสุภัททะแล้วไม่มีสาวกองค์อื่นอีกเลย อะไรอย่างนั้นหามิได้

พูดอย่างภาษาสามัญก็ว่า จะตายแล้วยังสอน มีครูที่ไหนทำได้อย่างนี้เล่าครับ

พระองค์ทรงมี “วิญญาณครู” ปานฉะนี้ จึงทรงเป็นพระบรมครูแท้จริง

พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า ยิ่งชัดเจนในใจชาวพุทธ เมื่อมองไปที่พระจริยาของพระองค์อันเรียกว่า พุทธจริยา 3 ประการคือ

1. โลกัตถจริยา พระจริยาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก

2. ญาตัตถจริยา พระจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระประยูรญาติ

3. พุทธัตถจริยา พระจริยาที่ทรงประพฤติในฐานะทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาข้างต้น และที่เขียนถึงคราวที่แล้วนั้น เป็นพระจริยาที่ทรงประพฤติเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำอีก จะขอยกตัวอย่างเฉพาะสองจริยาสุดท้าย

แม้ว่าพระพุทธองค์ทรงเป็น “บุคคลของโลก” แล้ว พระองค์ก็ยังไม่ทรงลืมที่จะอนุเคราะห์พระประยูรญาติของพระองค์ตามสมควร และตามความเหมาะสม

ดังเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์หลังประกาศพระศาสนาเป็นปึกแผ่นแล้วเพื่อไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ทรงชักนำศากยกุมารและโกลิยกุมารออกบวช เช่น พระอานนท์ พระอนุรุท พระเทวทัต

เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดอดีตพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นการทดแทนบุญคุณพระมารดาบังเกิดเกล้าสถานหนึ่งด้วย

(จนเกิดประเพณีเทศน์อภิธรรมโปรดมารดาสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ดังพระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิพระร่วง” หนังสืออธิบายพระอภิธรรม ทรงบอกกจุดประสงค์ไว้ข้อหนึ่งว่าเพื่อโปรดพระมารดา)

การสงเคราะห์พระประยูรญาติที่สำคัญสองครั้งที่ไม่ควรลืมก็คือ เมื่อทรงช่วยปราบกษัตริย์วิฑูฑภะมิให้ยกทัพไปฆ่าพวกศากยะถึงสามครั้งสามครา

แต่ครั้งที่สี่ทรงเห็นว่าพวกศากยะเคยทำกรรมหมู่มาแล้วในอดีตชาติ กรรมตามทันจะทัดทานอย่างไรก็คงไม่ได้ จึงไม่ได้เสด็จไปปราบวิฑูฑภะ

รายละเอียดเรื่องนี้อยู่ในอรรถกถาธรรมบทภาค 3 ถ้าจำไม่ผิด

(ถ้าผิดก็ขออภัยมณีศรีสุวรรณแล้วกัน)

ที่จะขอเล่าก็คือการที่ทรงห้ามพระญาติทั้งสองฝ่าย ที่ยกกองทัพออกมาท้าตีท้าต่อยกัน ณ สองฝั่งแม่น้ำโรหิณี เพื่อแย่งน้ำไปทำเกษตรกรรม

ต้องทำความเข้าใจกันตรงนี้สักเล็กน้อย

แคว้นโกลิยะกับศากยะตั้งอยู่ ณ สองฝั่งแม่น้ำชื่อ โรหิณี

ชาวเมืองทั้งสองเป็นญาติพี่น้องกัน อาชีพส่วนใหญ่ทำนาครับ จึงจำเป็นต้องอาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีไปทำการเพาะปลูกข้าวกล้าและพืชผลอื่นๆ

บางปีน้ำก็ไม่พอ จึงเกิดการแก่งแย่งกัน เกิดการกระทบกระทั่งกัน

ศึกแย่งน้ำมีอยู่เป็นครั้งคราว แต่ไม่ถึงกับรุนแรง

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รุนแรงมากถึงกับต้องยกทัพออกมาต่อสู้กัน เรียกว่าฟาดฟันให้ตกตายกันไปข้างหนึ่งว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ขืนปล่อยให้พระญาติทั้งสองฝ่ายรบราฆ่าฟันกัน ความพินาศย่อยยับจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงแก่พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่าย จึงเสด็จไปห้าม

ในพระธรรมบท ท่านพรรณนาไว้ว่า พระองค์เสด็จไปถึงขณะกองทัพที่นำโดยแม่ทัพทั้งสองฝ่ายกำลังประจัญกันอยู่

จึงตรัสถามว่า มหาบพิตรทั้งหลายทำอะไรกัน (ทรงรู้อยู่แล้วว่ากำลังทำอะไร แต่เพื่อเตือนสติจึงตรัสถาม)

เมื่อทรงเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างก้มหน้าไม่ยอมตอบ (เพราะรู้อยู่แล้วกำลังทำอะไร) จึงตรัสถามว่า มหาบพิตรทั้งหลายเป็นญาติกัน พี่น้องกัน การถืออาวุธมาประหัตประหารกันอย่างนี้มันคุ้มแล้วหรือ อะไรคือสาเหตุให้ต้องทำอย่างนี้

ทั้งสองฝ่ายต่างก็รีบรายงานว่า น้ำคือสาเหตุใหญ่ ต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบแย่งเอาน้ำไปมากกว่าที่ควรจะเอา เมื่อตกลงกันไม่ได้ เรื่องมันจึงเลยเถิดมาดังที่เห็นนี้แหละ

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ระหว่างน้ำกับโลหิตของญาติทั้งสองฝ่ายจะต้องหลั่งไหลนองดิน อะไรมีค่ามากกว่ากัน ลองตอบที

เมื่อพระญาติทั้งสองฝ่ายกราบทูลว่า โลหิตมีค่ามากกว่า จึงตรัสสอนว่า ถ้าเช่นนั้น ไฉนต้องมาฆ่าฟันกันให้เลือดต้องหลั่งชโลมดินเพียงเพราะน้ำอันมีค่าเล็กน้อยนี้เล่า คิดดูให้ดี มันคุ้มหรือ

เมื่อต่างก็เห็นว่าไม่คุ้ม จึงเชื่อฟังพระพุทธองค์ พระองค์ประสานสามัคคีในหมู่พระประยูรญาติ ให้ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แบ่งน้ำกันใช้เสมอภาคกัน ทรงระงับสงครามเลือดไว้ได้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบรมครูแท้จริง

เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ ชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ส่วนที่พระมหากรุณาธิคุณในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพุทธัตถจริยานั้น จะเห็นได้จากพระจริยาที่ทรงทำอยู่ 4 ประการคือ

1. ช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามห้วงทุกข์ คือทรงช่วยสัตว์โลกทั้งปวงให้บรรลุมรรคผล นิพพาน เพื่อข้ามพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

2. ปูพื้นฐานแห่งกุศลธรรม ในกรณีที่บางคนไม่สามารถบรรลุมรรคผล ก็ทรงไม่ทอดทิ้ง ทรงปูทางให้เขาก้าวไปข้างหน้าในโอกาสต่อไป ดังกรณีพระเทวทัตทรงทราบก่อนแล้วว่าบวชมาแล้วจะทำสังฆเภทและมุ่งร้ายพระพุทธองค์ แต่การที่เอามาบวชย่อมมีโอกาสได้ประพฤติพรหมจรรย์อันจักเป็นอุปนิสัยปัจจัยภายหน้าได้

3. ปิดทางอบาย ในบางกรณีถ้าปล่อยไปตามยถากรรม บางคนอาจถลำลงลึกถึงกับตกนรกหมกไหม้ ก็ทรงช่วยปิดทางอบายให้เขาเสีย ดังกรณีองคุลิมาล เป็นต้น

4. สถาปนาพระพุทธศาสนา ทรงก่อตั้งคณะสงฆ์อันเป็นชุมชนตัวอย่างขึ้นในสังคม รวมทั้งตั้งสถาบันพระพุทธศาสนาขึ้นคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทรงเตรียมบุคลากรของแต่ละสถาบัน เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

ทั้งหมดนี้ทรงทำเพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อชาวโลกนั้นเอง