จรัญ มะลูลีม : เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (2)

จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม (2009) ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน : มาเลเซีย โครงการ ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสำรวจทัศนคติ การรับรู้ และความเข้าใจของเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีต่อความขัดแย้งในภาคใต้ตอนล่างของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ถล่มมัสญิดกรือเซะและการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบในปี 2004 เป็นด้านหลัก

แต่ก็มิได้ละทิ้งบริบทรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นจากประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซียหรือประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างสิงคโปร์หรือฟิลิปปินส์

หรือจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) หรือ OIC เพื่อให้เห็นการเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

พีรยุทธ์ โอรพันธ์, (2007) การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของไทยและมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย (วิทยานิพนธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ในการศึกษาด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์พบว่าพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยและพื้นที่ชายแดนตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ถือเป็นสนามวิจัยทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความเหลื่อมล้ำทับซ้อนกันระหว่างความเป็นชาติและความเป็นชาติพันธุ์

การกำหนดพรมแดนแห่งรัฐระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียในปี 1909 ทำให้กลุ่มชนเชื้อสายมลายูจำนวนมากกลายเป็นพลเมืองของประเทศไทย

ขณะเดียวกันกลุ่มชนเชื้อสายไทยส่วนหนึ่งได้กลายเป็นพลเมืองของมาเลเซีย

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนทั้งสองกลุ่ม มีความแตกต่างจากชนส่วนใหญ่ของประเทศตน และคล้ายคลึงกับชนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน

 

ชปา จิตต์ประทุม (2009) ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย ปี 2004-2006 โครงการ ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีเนื้อหาสำคัญว่า

ไทยและมาเลเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1957 ความสัมพันธ์ฉันประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนประชิดกันของไทยและมาเลเซียนั้น สามารถนับย้อนไปนานกว่านั้นมาก

ไทยและมาเลเซียมีความพึงพอใจในมิตรภาพที่ใกล้ชิด ตลอดจนผลลัพธ์จากความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคี

เช่น คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Joint Commission : JC) พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Joint Development Strategy for borders Areas : JDS) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเอื้ออำนวยกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนไทยและมาเลเซียในบริเวณชายแดน

ดังเช่นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เชื่อมตำบลบูเก๊ะตา ที่จังหวัดนราธิวาสกับบูกิตบุหงา ในรัฐกลันตัน

ยิ่งไปกว่านั้นสมาคมไทย-มาเลเซีย (The-Malaysian Association : TMA) และสมาคมมาเลเซีย-ไทย (Malaysia-Thai Association : MTA) ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดและเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนและองค์กรต่างๆ ของทั้งสองประเทศ

การที่ทั้งสองประเทศผ่านช่วงเวลาที่ดีมาด้วยกันนี้ ไทยและมาเลเซียจึงเป็นมากกว่าเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนร่วมกัน หากแต่เป็นมิตรที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และความรับผิดชอบที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

อีกทั้งประชาชนทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำโก-ลก ก็มีความผูกพันกันเป็นเครือญาติ จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อมั่นของประเทศและของประชาชนทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี

 

Omar Farouk Bajunid (2006) The Malaysian Factor in the Prospect for Peace in Southern Thailand in Imtiyaz Yusuf and Lars Peter Schmidt (eds) Understanding Conflict and Approaching Peace in Southern Thailand (Bangkok : Konrad Adenauer Stiftung)

กล่าวถึงโครงสร้างความรุนแรงในภาคใต้ วิกฤตประชาธิปไตย สภาวะแวดล้อมภายนอกอันเนื่องมาจากการก่อการร้าย

การแก้ไขปัญหาความไม่สงบโดยใช้สันติวิธี

ความเข้าใจวัฒนธรรม ศาสนา แง่มุมของมาเลเซียต่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้

การร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

 

Voravit Baru, (1957-2002) Cooperation-Malay Studies between Thailand and Malaysia, Rajaphruek Bunga Raja, 50 years of everlasting friendship between Thailand and Malaysia. 1957-2007 (Bangkok : Ministry of Foreign Affairs, 2007) กล่าวถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันการศึกษาของมาเลเซียและประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีความใกล้ชิดทางด้านวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยมุสลิมกับชาวมุสลิมมาเลเซีย

ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้เปิดสอนภาษามาเลย์ (Bahasa Malaysia) และมาเลย์ศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการเรียน การสอนและงานวิจัยที่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการศึกษาและสถาบันการศึกษาต่างๆ ของมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย Sains Malaysia, The Islamic international University of Malaysia, The Universiti Putera Malaysia, The Universiti Utara Malaysia, and the Dewan Bahasa dan Pustaka.

บันทึกความเข้าใจเหล่านี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติในหลายๆ ด้านด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ ของไทยกับมาเลเซียในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและศาสตร์ทางด้านศาสนา

รวมทั้งการยอมรับหลักสูตรการศึกษาของกันและกัน

 

Imtiyaz Yusuf (2007) Many faces of Islam, Bangkok Post, August 10. กล่าวถึงความภาคภูมิใจของชาวไทยมุสลิมในทุกภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่วิถีชีวิต การดำเนินธุรกิจ ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย และผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนปอเนาะไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม การอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม เสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา สถาบันทางศาสนาที่มีอิทธิพลของความเป็นมาเลย์ (Malayness) และความเป็นไทย (Thainess)

มาลาราโจ เสถียร (2500-2550) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย : 50 ปี แห่งมิตรภาพและความเป็นพันธมิตร, ภาควิชาเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยมลายา, ราชพฤกษ์ บุหงารายา 50 ปี มิตรภาพระหว่างไทยและมาเลเซีย, หน้า 139 กล่าวว่าความรุนแรงในภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2004 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและไทยถูกจับตามากขึ้น

โดยเฉพาะสงครามน้ำลาย (War of Words) ระหว่างแกนนำรัฐบาลของทั้งสองประเทศในสมัยการปกครองของรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีทักษิณ และรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อะห์มัด บาดาวี

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียมีท่าทีที่เป็นทางการคือการไม่แทรกแซงโดยถือว่าเป็นปัญหาภายในของประเทศ แต่เหตุการณ์และคำพูดจากผู้นำทั้งสองฝ่ายหลายครั้งได้สร้างความตึงเครียดขึ้นมาใหม่

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ความเข้าใจถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน โดยทราบถึงสาเหตุในช่วงของความสัมพันธ์ที่เสื่อมคลาย และช่วงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของสองประเทศที่เป็นผู้ก่อตั้งประชาคม ASEAN

และเป็นสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยก้าวไปไกลถึงการปะทะด้านอาวุธ เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการเปลี่ยนผ่านในประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่

ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียจะนำเอาผลสัมฤทธิ์ระหว่างสองประเทศมาให้และจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำเอาสันติภาพและความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทยและมาเลเซีย รวมทั้งอาเซียนโดยรวม

ความสัมพันธ์ด้านสังคม เศรษฐกิจ เป็นพลังขับเคลื่อนที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งในความผูกพันทุกระดับ