ศิริราช เร่งศึกษาวัคซีนสลับเข็ม เตือนฉีดเข็มแรกแล้วอย่ารอแต่ ไฟเซอร์-โมเดอร์นา

ศิริราช เผยกำลังเร่งศึกษาผลการฉีดวัคซีนสลับชนิด ชงฝ่ายนโยบายพิจารณาคู่วัคซีนที่ดีกับวัคซีนที่มีในมือ เตือนคนฉีดซิโนแวคเข็มแรก แต่จะรอเข็มสองเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ทำเสี่ยงภูมิคุ้มกันไม่พอและลดลงได้ ขณะที่เดลตาแพร่ง่ายกระจายวงกว้าง ส่วนการบูสเตอร์โดสด้วยแอสตร้าฯ ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาผลไม่แตกต่างกัน

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ว่า ขณะนี้ต้องมองในอนาคต โดยพิจารณาวัคซีนรุ่น 2 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี จึงต้องมีการเจรจาเตรียมไว้ด้วย ส่วนการฉีดวัคซีนสลับชนิดหรือฉีดไขว้ ในต่างประเทศมีการศึกษา และประเทศไทยมีการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ 4-5 แห่ง รวมถึงศิริราช คาดว่าผลจะออกมาในเร็วๆ นี้ ว่าการฉีดจับคู่ตัวไหนที่ดีที่สุด เมื่อผลการศึกษาออกมาแล้ว ทางฝ่ายนโยบายก็ต้องมาพิจารณา ทั้งการจับคู่วัคซีนที่ดีกับคู่วัคซีนที่มีอยู่ในมือ ว่าต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรจึงจะเหมาะสม

เมื่อถามกรณีการฉีดวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์ บางรายพบการติดเชื้อและเสียชีวิต ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูตัวเลขคนฉีดวัคซีนทั้งหมดด้วย อย่างอินโดนีเซียเดือนที่ผ่านมามีคนกว่า 300 กว่าคนติดเชื้อแม้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนข้อมูลถึงสัปดาห์ที่ 3 ของมิ.ย. มีแพทย์เสียชีวิต 401 คน พบว่า 14 คนฉีดวัคซีนครบ หรืออีกกว่า 300 คนฉีดไม่ครบหรือไม่ได้ฉีด แสดงว่าวัคซีนลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้ แม้ตัวเลขการใช้จริงอาจจะน้อยกว่าการศึกษาในระยะที่ 3 แต่ก็ยังสูงกว่า 90% ส่วนประเทศไทยบุคลากรประมาณ 7 แสนกว่าคน ต้องเอาตัวเลขมาดูว่า คนที่รุนแรงกี่เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ และเทียบกับคนทั่วไป ต้องเอาข้อมูลมาพิจารณาทั้งหมด ไม่ควรดูแค่จุดใดจุดหนึ่ง และไม่ควรเอาข้อมูลย้อนหลังมาดู เพราะคนละสายพันธุ์ ซึ่งตอนนี้เป็นเดลตาก็ต้องติดตามดู

“นโยบายของประเทศตอนนี้ไม่อยากให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสี่ยง เพราะหากติดเชื้อจนเกินศักยภาพระบบสาธารณสุข จะมีคนเสียชีวิตมาก ซึ่งบุคลากรทางการแทพย์เป็นหนึ่งในทรัพยากรสุขภาพ หากติดเชื้อต้องรักษาหรือกักตัวทำให้คนน้อยลง กระทบระบบเช่นกัน เป็นปัจจัยสำคัญต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงเพิ่มขึ้น และแนวคิดนี้จะขยายวงต่อเมื่อมีวัคซีนมากพอ ซึ่งระยะเวลาอันใกล้นี้เดลตาจะเพิ่มเป็น 80-90% เหมือนประเทศอื่นๆ ซึ่งบางประเทศเริ่มพูดว่า น่าจะเพิ่มความรุนแรงด้วย จึงต้องเร่งบริหารวัคซีนหาเข้ามาให้มากและฉีดให้เร็ว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การฉีดเข็มสามนั้น ในสหรัฐอเมริกา บริษัทไฟเซอร์ออกมารณรงค์กับรัฐบาลว่า อยากให้คนอเมริกันฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3 แต่รัฐบาลดูข้อมูลหมดได้ยับยั้งไม่ให้ฉีดเข็ม 3 เพราะคนอีก 40 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว หลักการเดียวกันในประเทศไทย ความเห็นตนต้องบริหารสองอย่างคู่ขนานกันไป ทั้งเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องฉีดเข้มสาม และคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องได้รับการฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังบริหารจัดการ ส่วนจะใช้วัคซีนใดต้องดูข้อมูลวิชาการ และในสต็อกมีในการบริหารจัดการแค่ไหน ขณะเดียวกันมาตรการสังคม มาตรการด้านสาธารณสุขก็ต้องทำเช่นกัน ทั้งนี้ ตนเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับการมีวัคซีนทางเลือกตั้งแต่ต้น เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีวัคซีนมาเติมได้ทันกับเวลา

เมื่อถามกรณีบุคลากรทางการแพทย์ อยากบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนทางเลือก ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา จำเป็นหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลทางวิชาการพิจารณา หากพูดถึงเข็ม 3 ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนนี้กลุ่มวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์กระตุ้นได้ดีมาก mRNA ก็กระตุ้นดีเช่นกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียง ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ขณะนี้เรากำลังจะมีไฟเซอร์ และภาคเอกชนจะมีโมเดอร์นา และเรามีแอสตร้าเซนเนก้า จริงๆไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้อยู่ในกลุ่มพวกนี้ในการฉีดกระตุ้นของเข็มที่ 3

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการศึกษาวัคซีนไขว้แบบชนิดเชื้อตาย กับ mRNA หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ ก็มี แต่ละประเทศก็จะจับสองจุดว่า เมื่อไขว้แล้วประสิทธิภาพดีหรือไม่ และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มออกมาแนวเดียวกัน คือ มีแนวโน้มระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นและปลอดภัย ข้อมูลตอนนี้มีเท่านี้ โดยการศึกษาเป็นหลัก 100 คน บางงานไม่ถึงด้วยซ้ำ โดยรวมจึงเป็นเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศรับรองให้ไขว้ อยู่ที่ประเทศพิจารณาความจำเป็นและข้อมูลที่มีอยู่

เมื่อถามถึงกรณีคนที่รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และรอเข็มสองที่เป็นทางเลือกหรือโมเดอร์นา ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เวลาฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยเดลตา ก็อาจไม่ทัน