ม. ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเกมรุกขยายผลการเป็นศูนย์กฎหมายการแพทย์และสาธารณสุข

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเกมรุก ขยายผลการเป็นศูนย์กฎหมายการแพทย์และสาธารณสุข ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หวังขยายผลในเชิงป้องกันคดีความจากการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์  

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตนในฐานะผู้แทนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ในการที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข การบริการวิชาการ การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการแพทย์และสาธารณสุขให้กับบุคลากรของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้จะช่วยสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ อาทิ หมอ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย มาศึกษากฎหมายในหลักสูตรนิติศาสตรภาคบัณฑิตซึ่งมีระยะเวลาเรียนไม่เกิน 2 ปี เรียนเฉพาะเสาร์และอาทิตย์ และในกรณีที่มีปริญญาตรีทางกฎหมายแล้ว ก็จะส่งเสริมให้มาศึกษาต่อในระดับปริญญาโททางกฎหมายสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวที่มีปริญญาโทสาขากฎหมายการแพทย์และสาธารณสุข

จากการที่คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ความสำคัญกับศาสตร์ทางด้านกฎหมายการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี knowhow ที่มีความเชี่ยวชาญในกฎหมายแขนงนี้อยู่แล้ว การทำความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอน และการศึกษาค้นคว้าในด้านกฎหมายการแพทย์และสาธารณสุขยิ่งขึ้น โดยจะช่วยเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ในเชิงเทคนิคด้านการแพทย์และสาธารณสุขในส่วนของการแพทย์ในภาคเอกชน

ซึ่งหากได้บูรณาการร่วมกับ knowhow ที่จะได้จากการแพทย์ในมุมมองของภาครัฐที่ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไปก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้สามารถทำความเข้าใจศาสตร์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ทุกมิติและครบวงจร ซึ่งในอนาคตน่าจะได้มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษากฎหมายการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งหากสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจในสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบแล้ว ก็จะช่วยลดข้อพิพาทที่จะเกิดกับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กล่าวในตอนท้าย