ปลัด มท. นำคณะผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย ลงพื้นที่เมืองดอกคูน coaching ผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรม 20 จังหวัดภาคอีสาน

ปลัด มท. นำคณะผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย ลงพื้นที่เมืองดอกคูน coaching ผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรม 20 จังหวัดภาคอีสาน เน้นย้ำ มุ่งมั่นน้อมนำพระดำริเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ Change for Good ทำให้ผ้าไทยเป็นที่ถูกอกถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส สร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืน

วันนี้ (25 พ.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางกรรณิกา กองฉลาด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพันธ์เทพ เสาโกศล นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ คุณศิริชัย ทหรานนท์ อ.ดร.กรกลด คำสุข ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมส่งเสริมผ้าไทยจังหวัดขอนแก่น และผู้เข้าร่วมอบรมจาก 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนองพระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมผ้าไทย งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย นับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ที่พระองค์ทรงตรากตรำบำเพ็ญพระกรณียกิจในทุกเวลานาทีเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม และสมาชิกศิลปาชีพได้มีสิ่งที่ดีของชีวิต ปรากฏเป็นที่ประจักษ์อย่างมิรู้ลืม ในการที่พระองค์ทรงเป็นผู้นำกระตุ้นให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน นับเนื่องตั้งแต่อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัด พัฒนากร ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตในการเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดในทุกโอกาสที่พระองค์ประทับพระเก้าอี้ทรงงาน เพราะพระองค์ทรงให้ความสำคัญในการทรงงานร่วมกับข้าราชการ เพื่อพระราชทานคำแนะนำองค์ความรู้ทางวิชาการมากมายให้พวกเราได้น้อมนำไปพัฒนาพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่

“ผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรมทุกคนเปรียบประดุจ “ทหารเสือของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ในการช่วยกันนำเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย มาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสมาชิกในกลุ่ม ลูก ๆ หลาน ๆ คนในครอบครัว และส่งผ่านต่อไปยังเยาวชนคนในท้องถิ่นบ้านเกิดที่มีความสนใจ ให้ได้มีองค์ความรู้และความสามารถในการที่จะเป็นทายาท ทำให้เกิดความมั่นคงด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ภายใต้การผลักดันอย่างเข้มงวดของพระองค์ท่าน ทำให้ภารกิจของข้าราชการทุกคนในฐานะผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่พระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มียอดจำหน่ายรวม 62,572,518,545 บาท ถึงกระนั้น ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทุกวันนี้หาซื้อผ้าไทยได้ยาก” อันสะท้อนว่า Demand ความต้องการของผู้บริโภคมีมาก มากจน Supply ชิ้นงานที่มีอยู่ไม่พอจำหน่าย อันเป็นพระกรุณาคุณที่พวกเราได้รับจากพระองค์ เพราะทรงเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าวงจรของการที่จะทำให้งานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมไทย มีพัฒนาการที่ดี ถูกโฉลก ถูกใจลูกค้าผู้บริโภค จำเป็นต้องมีลำดับขั้นตอนในการพวกเราที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Change for Good ทั้งในแง่ของผลงานและรายได้ ที่ล้วนแต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ต้องดีขึ้นกว่าเก่า ด้วยการน้อมนำองค์ความรู้ทาง Fashion มา “ต่อยอด” พัฒนางาน โดยนำลวดลายดั้งเดิมของบรรพบุรุษผสมผสานกับลวดลายใหม่ ให้มีความแปลก มีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่า ทั้งคำนึงถึงความต้องการของผู้คนในโลกนี้ว่าการใส่เสื้อผ้าด้วยความสุขต้องเป็นมิตรกับโลกใบเดียวนี้ของเรา ด้วยการหันมาใช้วัสดุ ใช้สีธรรมชาติ การใช้เศษผ้า เส้นไหม ฝ้าย มาผลิตชิ้นงานประเภทต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า ตามหลักการพึ่งพาตนเอง ซึ่งนับว่าเราทุกคนโชคดีที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงหวังดีกับพวกเรา ทำให้เราได้มีโอกาสทำงานเพื่อพัฒนาตนเองภายใต้ร่มเงาของพระองค์ท่าน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า พระองค์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “ต่อยอด” การออกแบบลวดลาย ออกแบบชิ้นงาน หลากหลายเทคนิคการผลิตงานผ้า งานหัตถกรรม และพระราชทานแบบผ้า ตั้งแต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เป็นที่นิยมชมชอบจนกระทั่งโรงงาน ร้านเสื้อยืดนำไปพิมพ์ลาย และได้พระราชทานลายผ้าอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุด ด้วยพระกตเวทิตาคุณและความจงรักภักดีที่ทรงมีพระประสงค์ในการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จึงพระราชทานผ้า “ลายสิริวชิราภรณ์” เพื่อให้พวกเราทุกคนได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตในการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านทั่วทั้งประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเป็นผู้นำเพื่อยุยงให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางาน ด้วยการผลิตชิ้นงานให้มีคุณภาพ Change for Good ให้มีวิวัฒนาการ ให้เกิดการพัฒนาตลอดเวลา พร้อมทั้งทรงมีพระกุศโลบายให้พวกเราได้นำผลจากการพัฒนามาร่วมกันประกวดประขัน และถ้าผ่านรอบระดับจังหวัดสู่รอบระดับประเทศ เราจะได้มีโอกาสในการเข้ารับพระราชทานพระวินิจฉัยเกี่ยวกับชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวดอีกด้วย

“ขอให้พวกเราย้ำเตือนกับตัวเองเสมอว่า “ความรู้ไม่มีวันสิ้นสุด” โดยเฉพาะความรู้งาน Fashion งาน Craft ที่ต้องต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตงานที่หลากหลายเป็นจำนวนมาก เรื่องที่สำคัญ คือ “เราต้องไปพัฒนา” เพื่อผ่าทางตันของผ้าไทย ทำให้วัยรุ่นคนหนุ่มสาวได้หันมาสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกที่ ทุกโอกาส ทั้งเดินเที่ยวห้าง เที่ยวทะเล ชุดนอน เราสามารถสวมใส่ผ้าไทยได้ตลอดเวลา พระองค์จึงพระราชทานแนวทางให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือการ coaching โดยทรงเชื้อเชิญคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ลงพื้นที่มาให้ปรึกษาแนะนำกับผู้มีความรู้ด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบลวดลาย การทอผ้า การตัดเย็บ การใช้สีธรรมชาติ สะท้อนว่า พระองค์ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เราเป็นบัวพ้นน้ำ ทำให้งานผ้าส่งเสริมให้ชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ Thai Textiles Trend Book เพื่อกระตุ้นให้พวกเราฉุกคิดที่จะได้เอาแฟชั่นนิยมตามฤดูกาลและความสนใจของผู้คนมาเป็นหลักคิดในการพัฒนาผลงาน และพระราชทานหลักการตลาด ทั้งการบอกเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ (Story Telling) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการสร้างแบรนด์ (Branding) รวมถึงการทำงานแบบภาคีเครือข่าย (Partnership) มีหุ้นส่วนการพัฒนา ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 17 และสืบสานทายาทส่งต่อคนรุ่นต่อไป โดย “ทายาท” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลาน แต่เป็นใครก็ได้ อาจเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันหรืออำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกันก็ได้ ให้เขามารับเอาสิ่งที่ดี ปลูกฝังให้เขารับเอาวิชาที่เขาสามารถทำได้ ดังเช่น ผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 บ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ ประธานกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ราชสีห์ผู้ภักดี ผู้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรี นารีรัตนราชกัญญา “หมู่บ้านยั่งยืน” ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการย้อมสีธรรมชาติ งานทอมือ100% เป็นเทคนิคมัดหมี่แบบโบราณ ย้อมคราม ทอมือ 4 ตะกอ จึงมีรูปแบบการผสมผสานของลวดลายดั้งเดิม ถักทอร่วมกับลวดลายสมัยใหม่และสีจากดอกบัวแดงธรรมชาติ ทำให้จากเดิมชาวบ้านมีรายได้เพียงเดือนละ 3,000 บาท กลายเป็นเดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท และ “น้องอ๋อย สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ” ซึ่งแม้ว่าตนจะมีงานประจำที่ต้องทำ แต่ก็มีความขวนขวายที่จะไปนำเอาผ้าไทยมาประดิษฐ์ประดอยเป็นผลิตภัณฑ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ตามกำลังนำไปนั่งขายตามสถานที่ต่าง ๆ จนกระทั่งด้วยความเมตตาของสมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร ทำให้ได้มีองค์ความรู้ กลับไปยังบ้านเกิด พัฒนาตนเอง และชักชวนสมาชิกในชุมชนจนกระทั่งเกิดเป็น “วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา)” สืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยของจังหวัดหนองบัวลำภู” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ความมั่นคงของประเทศด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้ พวกเราต้องช่วยกันถ่ายทอด ชักชวนลูกหลานที่ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ ให้มาเรียนรู้ มาฝึก มารับวิชา เพื่อให้มีความสามารถนำไปสู่การมีรายได้จากผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทย ครบทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ทั้งการผลิตวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นผืนผ้าที่มีสีสันสอดคล้องกับความนิยมของคนทั่วโลก มีลวดลายถูกอกถูกใจคนที่เสพงานศิลป์ในแฟชั่นสู่การตลาด การออกแบบตัดเย็บที่ต้อง “ทำทันที” และขอให้ใช้เวลาในการพูดคุย ซักถาม จดบันทึก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนของแต่ละพื้นที่คอยจดบันทึกและช่วยสนับสนุนการพัฒนางานของผู้ประกอบการเพื่อติดตามพร้อมทั้งขยายผลสิ่งที่ดีไปยังทุกกลุ่มในพื้นที่ และใช้หลักการทำงานแบบ RER คือ Routine Job ทำงานในอำนาจหน้าที่ให้สมบูรณ์ ควบคู่กับ Extra Job ด้วยการช่วยกันทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ตาม 8 ตัวชี้วัดการขับเคลื่อน เพื่อหนุนเสริมให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะจุดแตกหักของการพัฒนาอยู่ที่หมู่บ้าน และต้อง Report ด้วยการทำให้ทุกคนได้ร่วมประชาสัมพันธ์ผ้าไทยประจำจังหวัด ผ้าไทยในภาคและประเทศไทย จับมือไปด้วยกันทำให้เกิดความยั่งยืนของวงการผ้า ดังพระปณิธาน Sustainable Fashion ทำให้ผลงานผ้าและงานหัตถกรรม ทุกชิ้นของประเทศไทยได้มีเครื่องหมาย Sustainable Fashion เพื่อ guarantee ว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเสียขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการใช้สีธรรมชาติ ใช้วัสดุธรรมชาติ และยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย มีการแลกเปลี่ยนวัสดุซึ่งกันและกันในประเทศ โดยขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รับรอง Carbon Footprint จากกระบวนการผลิตผ้าไทย ซึ่งมี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองแล้ว คือ 1. ใยกัญชง Piyasila จ.เพชรบูรณ์ 2. ฝ้ายย้อมคราม ดอนกอยโมเดล จ.สกลนคร 3. เส้นใยไหม นาหว้าโมเดล จ.นครพนม 4. ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จ.ลำพูน และอยู่ระหว่างการรับรองผ้าซาติน ผ้าบาติก จ.ปัตตานี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าเราทำตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พวกเราทุกคนจะมีความสุขอย่างยั่งยืน