ปลัด มท. เปิดฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น รุ่นที่ 14 เน้นย้ำ เราต้องกล้าที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็น “ครูจิตอาสา-ทหารเสือพระราชา ผู้กล้าแกร่ง”

ปลัด มท. เปิดฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น รุ่นที่ 14 เน้นย้ำ เราต้องกล้าที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็น “ครูจิตอาสา-ทหารเสือพระราชา ผู้กล้าแกร่ง” หนุนเสริมองค์ความรู้แก่เด็ก เยาวชน ลูกหลาน เริ่มที่ “ประวัติศาสตร์ครอบครัว” เพื่อสนองพระราชปณิธาน ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน

วันนี้ (8 เม.ย. 67) เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมศรีสองแคว ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 14 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายทรงพล วิชัยขัทคะ นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก นายอธิปไตย ไกรราช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้เข้ารับการอบรมจาก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และจังหวัดอุทัยธานี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 200 คน ร่วมพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 14 จาก 19 รุ่น ซึ่งเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมที่จะทำให้ทุกท่านผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่นเป็น “ครูจิตอาสา” เป็น “ทหารเสือพระราชา” ผู้บอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้ทำหน้าที่ดังความมุ่งมั่นตั้งใจให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง คือ 1) ผู้บริหารระดับสูงนับเนื่องตั้งแต่ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นความสำคัญ และตระหนักถึงความสำคัญว่าประเทศชาติจะอยู่ได้ คนต้องไม่ลืมกำพืด ไม่ลืมรากเหง้า ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เขาไม่ลืมรากเหง้า คือ ต้องให้เขาได้รู้ โดยการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายในพื้นที่สมัครเข้ารับการฝึกอบรม โดยสำหรับรุ่นนี้ ทราบว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านการประพันธ์บทร้อยกรอง อันจะส่งเสริมให้เกิดกลวิธีบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่หลากหลายขึ้น 2) ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ความสำคัญ 3) ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้เชิญผู้ผ่านการฝึกอบรมไปพูดคุย ไปหารือ และหาแนวทางการขับเคลื่อนการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งการใช้หอกระจายข่าว วิทยุกระจายเสียง ตลอดจนถึงการประชุมหมู่บ้าน การประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน การประชุมกรมการอำเภอ การประชุมกรมการจังหวัด หน้าเสาธงโรงเรียน รวมถึงงานบวช งานแต่งงาน ประเพณีต่าง ๆ ในชุมชน และในบางจังหวัดมีการพัฒนาเป็นหลักสูตรบรรยายให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ 4) กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดจัดฝึกอบรมครูบอกเล่าประวัติศาสตร์จิตอาสา (ครู ข.) ให้มีครบทุกอำเภอ ทุกตำบล หลักสูตร 3 วัน 2 คืน และ 5) เราตระหนักว่า พวกเราทุกคนเกิดมาบนแผ่นดินไทยพวกเรามีบรรพบุรุษมีปู่ย่าตายาย ในวันสงกรานต์ วันรวมญาติ เวลาทำบุญลูกหลานก็จะเอ่ยนามบรรพบุรุษไม่ได้ ไม่ครบ เพราะไม่รู้จัก เพราะรุ่นปู่ย่าตายายพ่อแม่ไม่ได้บอกเล่าถึงรากเหง้าของครอบครัว ทำให้ขาดโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในทางจิตใจว่า “เราเป็นพี่น้องกัน” ในยามเดือดร้อน ตกทุกข์ได้ยาก ก็จะไม่เกิดการช่วยเหลือกัน อันสะท้อนให้เห็นว่า แค่ชีวิตในครอบครัวเรายังไม่รู้จักรากเหง้า ยังไม่รู้จักญาติพี่น้อง ยิ่งระดับประเทศชาติ สังคม ชุมชน จังหวัด ท้องถิ่น ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จะทำให้ลูกหลานเราไม่รู้จักรากเหง้าและสุดท้ายก็จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติของเรา

“พวกเราในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องแบ่งเบาพระราชภาระและสนองพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ด้วยเพราะเราอยากเห็นผู้คนในสังคมมีความกตัญญูกตเวทีต่อมาตุภูมิ ต่อแผ่นดินบ้านเกิดเมือง มีความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย หาโอกาสตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ด้วยการทำความดีเพื่อประเทศชาติ ผ่านกระบวนการพูดคุยเรียนรู้เรื่องของบรรพบุรุษ ด้วยการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสิ่งที่สำคัญที่ยืนยันได้ว่า “ประเทศชาติจำเป็นต้องมีพลเมืองที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย” เพื่อสร้างความรักความผูกพันให้กับคนในชาติ อันเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยทุกคน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 สะท้อนผ่านพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานต่อมหาสมาคม ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” ซึ่งพระราชดำรัสองค์นี้ สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะมีผลต่อความมั่นคงของชาติและความปกติสุขของผู้คนในสังคม ที่พวกเราต้องน้อมนำมาศึกษา ทำความเข้าใจ และยึดเป็นหลักชัยในการหนุนนำให้พวกเรามีกำลังใจไปกระตุ้นให้พื้นที่ของเราไม่ลืมเลือนที่จะพูดคุย เรียนรู้ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับลูกหลาน นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนัก ทรงให้ความสำคัญ ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 62 ความว่า “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยทรงเพียรพยายามในการทำให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เป็นจริง ซึ่งต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสต่อข้าราชบริพารในการขยายและแสดงพระราชปณิธานแน่วแน่ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 63 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่อยากให้คนในชาติตระหนักด้วยการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” และ “สืบสานพระราชปณิธาน” อันจะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา เพราะแต่ก่อนนั้นคนไทยเรามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจไมตรียิ้มแย้มแจ่มใส เวลามีการมีงาน ก็จะมีการลงแขกเอามื้อสามัคคี บ้านใดมีงานก็ทำข้าวแกง กล้วยบวชชี เลี้ยงให้กับพี่น้องชาวบ้านในชุมชนที่มาช่วยเหลืองานกัน ซึ่งสิ่งดี ๆ เหล่านี้ มันลดน้อยลงไป พระองค์จึงพระราชทานโครงการ “จิตอาสาพระราชทาน” เพื่อแก้ไขในสิ่งผิด นำสิ่งที่ดีเหล่านี้กลับคืนมา ตลอดจนโครงการพระราชดำริต่าง ๆ มากมาย และพระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัสที่สะท้อนถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่ใช่เรื่องไกลตัว และทรงขยายความถึงคำว่า “ประวัติศาสตร์” ที่ได้พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศชาติก็คือบ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ ก็ลงมาอยู่ที่พื้นฐานก็คือครอบครัวและลงมาอยู่ที่ตนเอง บ้านเมืองของเรา ประเทศของเรา หรือบ้านหรือครอบครัวของเราเนี่ย จะมีความสุขปลอดภัย น่าอยู่ สบาย มันก็ขึ้นกับคนรุ่นเราในอนาคต…แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้…เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะเราคืออนาคต ประวัติศาสตร์มาปัจจุบัน ปัจจุบันก็คืออนาคต ปัจจุบันถือไมโครโฟน พอวางลงก็เป็นอดีต เมื่อเราจับไมโครโฟนมาใหม่ก็เป็นปัจจุบัน…ถ้าเราอยากเรียนลัด ก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้มาก ว่าสมัยก่อนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรให้เรามีความรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่จะรักษาประเทศชาติบ้านเมือง อย่างน้อยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นกำลังใจให้…”” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราต้องเรียนรู้และกล้าที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งในเชิงระบบ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กำหนดให้มีวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาศีลธรรม ในช่วง “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหารือการให้สถานศึกษาได้ใช้เวลาช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ส่งเสริมองค์ความรู้สิ่งเหล่านี้ให้เด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ได้เรียนรู้อย่างน้อยรวมสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง ทำให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลง “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เด็กนักเรียนได้รับสิ่งที่ดี ได้รู้และประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามต่อไป

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกท่านต้องภาคภูมิใจว่า ทุกคนคือผลผลิตที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน) ได้มีมติให้การฝึกอบรมฯ นี้ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จึงขอขอบคุณผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกท่าน ตลอดจนคณะวิทยากร 3 ป. ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ และพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เสียสละให้ทหารเสือพระราชาได้มาใช้ชีวิตร่วมกันในที่แห่งนี้ ขอให้ทุกท่านมีจิตใจกล้าแข็งในการบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ในฐานะครูจิตอาสา กระทรวงมหาดไทย ผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่ทหารเสือของพระราชาโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำเป็นต้นแบบให้คนในสังคมที่แสดงให้เห็นว่า “จิตอาสามีอยู่จริง” ช่วยกันทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ร่วมกันทำสิ่งที่ดีเพื่อประเทศชาติของเราสืบไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย